วันนี้ (5 มิ.ย.) เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง นัดชุมนุมกันที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนมติและกระบวนการพิจารณาเพื่อยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส โดยทางเครือข่ายเรียกร้องขอยื่นหนังสือโดยตรงต่อนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เท่านั้น
หลังเจรจาอยู่พักใหญ่ ในที่สุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เดินทางมารับหนังสือด้วยตนเอง ขณะที่เครือข่ายฯ ได้อ่านแถลงการณ์ระบุว่า ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีการประชุมครั้งที่ 30-1/2561 พิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 และมีมติไม่ยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด
โดยให้เหตุผลว่าข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังไม่เพียงพอ ซึ่งขัดแย้งกับผลการพิจารณาของคณะกรรมการหลายชุดก่อนหน้านี้ รวมทั้งความเห็นของประชาคมวิชาการและมติของสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในการนี้เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง
เครือข่ายภาคประชาชน 686 องค์กร ที่ได้ติดตามสถานการณ์เรื่องนี้และสนับสนุนมติของกระทรวงสาธารณสุข มีข้อสังเกตต่อกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายและการทำงานของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ดังนี้
1. ในขณะที่กรมวิชาการเกษตรขอปรึกษาคณะกรรมการวัตถุอันตรายในประเด็นผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อควบคุมสารทั้ง 3 ชนิด แต่การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตรายฯ กลับเลือกตัวแทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และอดีตข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ถึง 4 คน และอีก 4 คนเลือกจากผู้ที่แสดงจุดยืนสนับสนุนกระทรวงเกษตรฯ จากคณะกรรมการที่มีจำนวน 12 คน ซึ่งล้วนแต่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านผลกระทบต่อสุขภาพ
2. อนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ดังกล่าวใช้ข้อมูลเก่าล้าสมัย เพื่อโน้มน้าวให้มีการใช้สารพิษร้ายแรงดังกล่าวต่อไป โดยเพิกเฉยต่อข้อมูลเชิงประจักษ์และรายงานใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งเครือข่ายนักวิชาการจากหลายสถาบัน เช่น สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยนเรศวร ต้องจัดเวทีให้ข้อเท็จจริงทางวิชาการ
3. กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 มีกรรมการอย่างน้อย 3 คนมีส่วนได้เสียกับสมาคมค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่กลับไม่มีการแสดงการมีส่วนได้เสียและไม่มีการสละสิทธิ์ลงคะแนน ซึ่งอาจขัด พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 12 วรรค 2
ทั้งนี้ทางเครือข่ายฯ เรียกร้องขออำนาจนายกรัฐมนตรี พิจารณายกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส
ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า รัฐบาลคำนึงถึงสุขภาพของประชาชน ทางนายกรัฐมนตรีจึงมอบหมายให้ตนออกมารับหนังสือ แต่ทั้งนี้การอนุญาตให้ใช้พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เป็นอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ จะรับเป็นเจ้าภาพตั้งคณะกรรมการร่วมขึ้นมาเพื่อให้เครือข่ายฯ เสนอข้อมูลใหม่เพื่อนำไปยื่นต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาทบทวนใหม่ตามขั้นตอน
ส่วนข้อสังเกตจากทางเครือข่ายฯ ที่ว่ามีตัวแทนคณะกรรมการวัตถุอันตราย รวมถึงเจ้าหน้าที่ในกรมวิชาการเกษตร มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทเอกชนที่ใช้สารพาราควอตนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ยืนยันว่าขอให้แจ้งรายชื่อและหลักฐานมา หากเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงเกษตรตนจะจัดการให้ทันที