เลขาธิการ UN ประกาศกร้าวถึงอุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน ทำแคมเปญโฆษณาอย่างไร้ยางอาย พร้อมเรียกร้องให้ทุกประเทศสั่งแบนและออกกฎห้ามอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลโฆษณา ตัวการร้ายทำโลกร้อนระยะยาว
จากข้อมูลด้านสภาพอากาศของสหภาพยุโรประบุว่า การทำกิจกรรมต่างๆ ของคนในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ปล่อยก๊าซทำให้โลกร้อน ซึ่งทำให้สถิติอุณหภูมิโลกสูงขึ้นจนเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สอดคล้องกับนักวิทยาศาสตร์ รายงานถึงภาวะโลกร้อนที่เกิดจากฝีมือมนุษย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนสะท้อนได้ว่าโลกกำลังเข้าสู่ภาวะโลกร้อนในระยะยาว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เลขาฯ UN ชี้ โลกอยู่บน ‘ไฮเวย์สู่นรกภูมิอากาศ’ หลังร้อนทุบสถิติ 12 เดือน
- นาฬิกาโลกร้อนชี้ มนุษยชาติมีเวลาอีก ‘ไม่ถึง 6 ปี’ ก่อนเผชิญวิกฤตโลกรวนที่ไม่อาจย้อนกลับ
- อินโดนีเซียจ่อขึ้นแท่นฮับกักเก็บคาร์บอนอาเซียน หลังบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ ExxonMobil, BP และญี่ปุ่น หลั่งไหลทุ่มลงทุนโครงการขนาดใหญ
ทั้งหมดส่งสัญญาณให้ António Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ ออกมาเรียกร้องให้ทุกประเทศแบนโฆษณาจากธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิล และสั่งห้ามไม่ให้มีการโฆษณา ทำให้เหมือนกับกฎหมายสั่งห้ามการโฆษณายาสูบ เพราะเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพ ตอนนี้ก็ควรนำไปใช้กับเชื้อเพลิงฟอสซิลให้เร็วที่สุด เพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกให้ดีขึ้น
พร้อมกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน ได้ทำแคมเปญโฆษณาอย่างไร้ยางอาย ถึงขั้นเรียกอุตสาหกรรมผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลว่า ‘เจ้าพ่อที่สร้างความโกลาหลให้กับสภาพอากาศ’ ที่อยู่มานานหลายทศวรรษ
เรียกได้ว่าแสดงออกมาในมุมของการประณามหรือสาปแช่งอุตสาหกรรมที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ แม้ตอนนี้หลายๆ ประเทศพยายามรณรงค์ให้หยุดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปแล้ว
ก่อนหน้านี้สหภาพยุโรปเพิ่งจะประกาศกฎหมายใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ยังไม่มีการบังคับให้ทำตามคำเรียกร้องของเลขาธิการสหประชาชาติแต่อย่างใด แน่นอนว่าในมุมของนักรณรงค์สิ่งแวดล้อมอาจมองว่าพยายามส่งเสริมบริษัทถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ จนเกิดประเด็นถกเถียงตามมาหลายด้าน
เช่นเดียวกับงานเทศกาลหนังสือ Hay และ Edinburgh เพิ่งหยุดรับการสนับสนุนจากบริษัทการลงทุน Baillie Gifford หลังมีการโต้เถียงถึงความเกี่ยวข้องกันกับบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิล
รวมไปถึงการจับตาดูมหกรรมกีฬาที่เรียกว่าเป็นพื้นที่ที่อุตสาหกรรมผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลใช้โฆษณามากที่สุด จนมีความสัมพันธ์กับนักกีฬาอย่างแน่นแฟ้น
ด้าน Carlo Buontempo ผู้อำนวยการของ Copernicus กล่าวต่อว่า โลกร้อนได้ทำลายสถิติไปแล้ว นั่นหมายความว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.63 องศาเซลเซียส สูงกว่าในช่วงปลายปี 1800 แน่นอนว่าเรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน และปัจจุบันใน 200 ประเทศทั่วโลกเร่งทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุด
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศประเมินว่า ตั้งแต่ต้นปี 2024 โลกสามารถปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) ได้อีกประมาณ 2 แสนล้านตันเท่านั้น สำหรับโอกาสในการรักษาภาวะโลกร้อนให้ได้ 1.5 องศาเซลเซียส มีเพียง 50% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม Megan Bloomgren รองประธานอาวุโสฝ่ายสื่อสารของมูลนิธิปิโตรเลียมอเมริกัน ออกมาแก้ตัวว่า อุตสาหกรรมของเราเน้นผลิตพลังงานที่มีประสิทธิภาพและราคาไม่สูง แต่ยังเจอความท้าทายด้านสภาพอากาศ และข้อกล่าวหาต่างๆ ไม่เป็นความจริง
ภาพ: Tatiana Grozetskaya / Shutterstock
อ้างอิง: