×

ย้อนรอยวลีดัง “มันจบครับแล้วนาย” คัมแบ็กบ้านจันทร์ส่องหล้า นับหนึ่งสู่ดีลการเมืองครั้งใหม่กับคนเดิม

โดย THE STANDARD TEAM
10.10.2024
  • LOADING...

ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา การพบกันระหว่าง ทักษิณ ชินวัตร นายใหญ่พรรคเพื่อไทย และ เนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ครูใหญ่พรรคภูมิใจไทย ที่ บ้านจันทร์ส่องหล้า กลายเป็นวาระสำคัญที่สื่อมวลชนจับตามากที่สุด

 

หลายคนมีการวิเคราะห์การพบกันของ ‘2 บิ๊กเนม’ จากพรรคสีแดงและพรรคสีน้ำเงินในครั้งนี้ว่า อาจเป็นดีลใหญ่ครั้งใหม่ของการเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งสรรปันอำนาจ ‘นายกฯ คนละครึ่ง’ หรือแม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ ณ เวลานี้ พรรคสีน้ำเงินมีอำนาจเบ็ดเสร็จในสภาสูง

 

‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ คฤหาสน์หลังใหญ่ล้อมรอบด้วยกำแพงสีขาวมุก

ตั้งอยู่ภายในซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร 

 

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เปิดปากกับสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล หลังจากก่อนหน้าหนึ่งวัน นั่งรถวนรอบทำเนียบรัฐบาลหนีสื่อครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งยังทำไขสือบอก ‘ไร้สาระ’ แต่สุดท้ายก็ยอมรับว่าเป็นคนชวนเนวินเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้าเพื่อฉลองวันเกิดครบ 66 ปี โดยไม่ขอลงรายละเอียด เนื่องจากเห็นว่าการกินข้าวครั้งนี้เป็นเรื่องภายใน และเป็นเรื่องส่วนตัว พร้อมยืนยันความสัมพันธ์ระหว่าง ‘เนวิน’ และ ‘ทักษิณ’ ว่าทั้งคู่แฮปปี้ ไม่ได้มีการโกรธอะไรกัน

 

“คำว่ามันจบแล้วครับนาย ใครก็ไม่รู้เป็นคนพูด อยู่มาเป็น 10 กว่าปี​ยังไม่เคยได้ยินเลย กล้าพูดหรือถามจริง​ กับคนที่เป็นเจ้านาย แล้วเราไปพูดคำว่ามันจบแล้วครับนาย มันไม่มีหรอกครับ”

 

“คำว่ามันจบแล้วครับนาย ใครก็ไม่รู้เป็นคนพูด อยู่มาเป็น 10 กว่าปี​ยังไม่เคยได้ยินเลย กล้าพูดหรือถามจริง​ กับคนที่เป็นเจ้านาย” 

อนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวยอมรับว่าพาเนวินเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้าเพื่อพบทักษิณจริง

และยืนยันความสัมพันธ์ว่าทั้งคู่ไม่ได้มีการโกรธอะไรกัน

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล 

 

สืบเนื่องจากวลีดัง “มันจบแล้วครับนาย” นั้น THE STANDARD ชวนผู้อ่านร่วมฟื้นที่มาที่ไป ต้นตอและสาเหตุการสะบั้นของ ‘นายใหญ่’ พรรคเพื่อไทย และ ‘ครูใหญ่’ ของพรรคภูมิใจไทยเมื่อ 16 ปีที่แล้ว

 

‘เนวิน’ และ ‘ทักษิณ’ โคจรมาพบกันในช่วงหลังการเลือกตั้งปี 2544 เวลานั้นเนวินเป็น สส. พรรคชาติไทย ภายใต้การนำของ บรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคไทยรักไทย ในช่วงเริ่มต้น เนวินไม่ได้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ 1 โดยมีรายงานว่าทักษิณไม่ต้องการรัฐมนตรีมีภาพลักษณ์ที่ติดลบ

 

ในปี 2545 ชัย ชิดชอบ เอ่ยปากบอกทักษิณว่า ขอฝากลูกชายไปทำงานกับนายกฯ ด้วย ต่อมาจึงแต่งตั้งเนวินเป็นรัฐมนตรีครั้งแรกในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามมาด้วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และกลายเป็น ‘ขุนพลแก้ว’ ข้างกายที่ทำงานรู้ใจทักษิณ นายกฯ มากที่สุด

 

ในปี 2549 ในช่วงที่มีม็อบเสื้อเหลือง นำโดย สนธิ ลิ้มทองกุล และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จัดการชุมนุมขับไล่รัฐบาลอย่างต่อเนื่อง เนวินอาสาจัดตั้งกลุ่มมวลชนเสื้อแดงด้วยการจัดการชุมนุมของกลุ่มแท็กซี่ และคาราวานคนจนที่สวนจตุจักร เพื่อออกทัพสู้กับคนเสื้อเหลือง

 

บ้านจันทร์ส่องหล้า

เนวิน ชิดชอบ ระหว่างทำพิธีปะกำช้าง

ซึ่งเป็นพิธีที่ตระกูลชิดชอบมีการสืบทอดมายาวนาน

ในโอกาสวันเกิดครบ 66 ปี

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 ที่จังหวัดบุรีรัมย์ 

 

หลังเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2549 เนวินกลับไปปักหลักอยู่ที่บุรีรัมย์ เป็นผู้สนับสนุน จักรภพ เพ็ญแข ให้ก่อตั้งสถานีโทรทัศน์พีทีวี เป็นกระบอกเสียงสู้กับเอเอสทีวี ต่อมาถูก รัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ สั่งปิดสถานี นำมาสู่การชุมนุมขับไล่ คมช. ที่ท้องสนามหลวง ต่อมาได้ปรับเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ซึ่งมีแกนนำชุดแรก เช่น วีระกานต์ มุสิกพงศ์, จตุพร พรหมพันธุ์, จักรภพ เพ็ญแข, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ฯลฯ

 

ในปี 2550 เนวินเป็นหนึ่งในแกนนำคนสำคัญของพรรคพลังประชาชนที่กวาดเก้าอี้ สส. มาได้ 233 ที่นั่ง เกือบถึงครึ่งสภา และสนับสนุน สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ต่อเนื่องมาถึง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 26

 

ในปี 2551 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชนจากคดีทุจริตเลือกตั้งของ ยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรค โดยส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี

 

ขณะเดียวกัน สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วย โดยมี ชวรัตน์ ชาญวีรกูล (บิดาของอนุทิน ชาญวีรกูล) รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี ก่อนจะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่

 

หลังการยุบพรรคพลังประชาชน ก่อนที่ กกต. จะรับรองพรรคใหม่ภายใต้ชื่อ ‘เพื่อไทย’ เพื่อรองรับสมาชิกพรรคที่ไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองนั้น ปรากฏว่าเนวินนำ สส. จำนวน 23 คนไปร่วมกลุ่มมัชฌิมา และก่อตั้งพรรคภูมิใจไทย

 

สุเทพ เทือกสุบรรณ หลังออกจากศาลอาญา

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2557

ภาพ: Nicolas Asfouri / AFP

 

ขณะที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีเสียงอันดับ 2 มี สส. 165 เสียง ได้เจรจาขอ 23 เสียงกลุ่มเพื่อนเนวินมายกมือสนับสนุน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27

 

สุเทพทราบดีว่าเนวินสนิทสนมกับสมัคร และไม่พอใจพรรคพลังประชาชนที่ไม่เสนอชื่อสมัครกลับไปเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังหลุดตำแหน่ง จากกรณีเป็นพิธีกรในรายการ ‘ชิมไปบ่นไป’ แต่กลับเสนอชื่อสมชาย น้องเขยของทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

 

รายงานข่าวระบุ สุเทพบินไปประเทศอังกฤษเพื่อดักเจอเนวินขณะไปส่งลูกไปเรียนต่อ แล้วนัดเจอกันที่ร้านนาฬิกาแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน โดยทำทีเป็นเลือกนาฬิกาไปคุยกันไปจนโน้มน้าวได้สำเร็จ

 

ขณะที่ผู้จัดการออนไลน์รายงานข่าวเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2551 ว่า เมื่อทักษิณทราบว่ากลุ่มเพื่อนเนวินจะไม่กลับมาอยู่พรรคเพื่อไทย ได้โทรศัพท์สายตรงเพื่อเจรจาต่อรองด้วยตัวเอง พร้อมตำหนิเนวินว่าไม่สำนึกในบุญคุณ

 

ศุภชัย โพธิ์สุ สส. นครพนม หนึ่งในสมาชิกกลุ่มเพื่อนเนวิน เปิดเผยบทสนทนาระหว่างทักษิณและเนวินว่า ระหว่างที่เนวินสนทนากับทักษิณนั้น มีสีหน้าไม่สู้ดี และตอบกลับสั้นๆ ด้ายวลีดังในตำนานว่า “ทุกอย่างจบแล้วครับนาย”

 

ผู้จัดการออนไลน์รายงานข่าวอีกว่า อภิสิทธิ์พร้อมด้วยสุเทพและแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางเข้าพบเนวินและแกนนำกลุ่มเพื่อนเนวิน เช่น ทรงศักดิ์ ทองศรี, ศุภชัย โพธิ์สุ สส. นครพนม, ศุภชัย ใจสมุทร, เอกพร รักความสุข, บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ สส. นครราชสีมา, ประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ, โสภณ ซารัมย์ และ อนุทิน ชาญวีรกูล ที่โรงแรมสยามซิตี้ และแถลงจับมือจัดตั้งรัฐบาลด้วย 4 เงื่อนไข

 

  1. ให้ว่าที่นายกรัฐมนตรีรักษาสถาบันหลักของชาติเอาไว้ เรื่องการปกป้องสถาบันเป็นเรื่องที่รัฐบาลชุดใหม่จะต้องช่วยกัน 

 

  1. ขอให้รัฐบาลใหม่ช่วยสานต่อ รวมทั้งอยากให้รัฐบาลผลักดันภาคประชานิยมให้เป็นนโยบาย 

 

  1. อยากเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ 

 

  1. สร้างความปรองดองชาติได้ กล่าวคือ การบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม มีมาตรฐานการใช้กฎหมายเดียวกัน

 

เนวินกล่าวตอนหนึ่งกับสื่อมวลชนว่า อยากบอกให้พรรคประชาธิปัตย์สบายใจได้ว่า จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง จากวันนี้ไปจนถึงวันโหวตเลือกนายกฯ นี่คือสัญญาของลูกผู้ชาย และให้สบายใจได้ว่า แม้จะมีพรรคการเมืองอื่นไปร่วมรัฐบาล แล้วจะเหลือแค่พรรคประชาธิปัตย์ เราก็จะอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ และวันนี้เห็นว่าบ้านเมืองสำคัญกว่า และกล่าวกับอภิสิทธิ์ซึ่งเป็นว่าที่นายกฯ ในเวลานั้นว่า อย่าทำให้ความสูญเสียและความเจ็บปวดของพวกเรานั้นสูญเปล่า

 

“ยอมเสียเพื่อน เสียพรรค เสียนาย มาร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์”

 

วันที่ 15 ธันวาคม 2551 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ เป็นกรณีพิเศษ เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 สุดท้ายที่ประชุมมีมติโหวตให้อภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนสนับสนุน 235 เสียง ขณะที่ พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ผู้สนับสนุนของพรรคเพื่อไทยได้คะแนน 198 เสียง เมื่อตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้น กลุ่มเพื่อนเนวินและพรรคภูมิใจไทยได้เก้าอี้กระทรวงใหญ่ๆ ระดับเกรดเอถึง 4 ตำแหน่ง

 

หลังจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของอภิสิทธิ์ และมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ในช่วงต้นปี 2552 เริ่มมีการชุมนุมของคนเสื้อแดงเพื่อต่อต้านรัฐบาล เนื่องจากผู้ชุมนุมมีการตั้งข้อสงสัยว่า กองทัพอยู่เบื้องหลังการยุบพรรคพลังประชาชน เชื่อว่ามีการดีลใหญ่เพื่อจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร

 

กลุ่มเสื้อแดงรวมตัวรอต้อนรับ ทักษิณ ชินวัตร

กลับประเทศไทยในรอบ 17 ปี

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

ขณะที่เนวินก็ยังถูกทักษิณและกลุ่มคนเสื้อแดงโจมตีว่าเนรคุณหลายๆ ครั้ง กระทั่งวันที่ 7 เมษายน 2552 เนวินแถลงข่าวออกหน้า ‘ท้ารบ’ กับทักษิณ พร้อมส่งสัญญาณเตือนไปยังแกนนำคนเสื้อแดงที่เคยร่วมงานกันตั้งแต่รวมตัวต่อต้าน คมช. และประชาชนให้ระวังตกเป็นเครื่องมือ และเหยื่อของการชุมนุมที่มีการวางแผนว่าจะมีการใช้ความรุนแรง


เนวินยังตั้งคำถามไปถึงแกนนำผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงอีกด้วยว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดงไม่ได้มาเพื่อไล่รัฐบาลเท่านั้น แต่มีเป้าหมายเพื่อสร้าง ‘รัฐไทยใหม่’ และเรียกร้องให้ทักษิณสั่งคนของตัวเองหยุดก้าวล่วง และเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าจงรักภักดี ขอให้หยุดการสนับสนุน หยุดการเคลื่อนไหว และหยุดการทำให้บ้านเมืองแตกแยก


เนวินยังเล่าย้อนถึงความสัมพันธ์กับทักษิณด้วยว่า ตนและกลุ่มเพื่อนเนวินเคยทำงานแบบยอมตายถวายชีวิตให้ทักษิณ แต่จากกรณีเหตุการณ์ของ สมัคร สุนทรเวช เมื่อวันที่ 12 กันยายนนั้น เป็นสิ่งที่ตนเองยอมรับไม่ได้ ไม่มีน้ำใจต่อกัน ไม่ใช่ลูกผู้ชาย พวกเราเห็นชะตากรรมของสมัคร มองย้อนกลับไปที่ผู้ใหญ่หลายๆ คนก็คิดว่าวันหนึ่งต้องถึงคิวเรา เราทำงานร่วมกัน ต้องเคารพสิทธิ อุดมการณ์ เคยรักทักษิณเพราะทำงานทุ่มเท

 

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบนเส้นทางการเมือง โดยเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า คนเป็นพนักงาน เป็นลูกจ้าง ทำงานในบริษัทหรือทำงานในห้างร้าน หากอยู่ไม่ได้ รู้สึกอึดอัดใจกับเจ้าของกิจการ ก็เลิกจ้าง ไม่พอใจก็จบ เป็นสมาชิกพรรคการเมืองย้ายพรรคก็จบ แต่กรณีตนเองนั้นต่างออกไป เพราะทั้งถูกไล่ล่ารวมถึงทำลายล้าง

 

ท้ายที่สุดในวันที่ 4 ตุลาคม 2555 ซึ่งตรงกับวันเกิดครบรอบ 54 ปี เนวินเลือกที่จะจบเส้นทางการเมือง ประกาศยุติทุกบทบาททางการเมืองทั้งหมด หันหน้าไปทุ่มเทให้กับวงการกีฬา ทั้งการทำสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด การทำสนามแข่งรถ และเป็นครูใหญ่แห่งพรรคภูมิใจไทย เป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

 

กลับมาที่กาลเวลาปัจจุบัน 16 ปีที่นายใหญ่พรรคเพื่อไทย และครูใหญ่พรรคภูมิใจไทยแยกกันเดิน วันนี้หนทางกลับมาบรรจบกันอีกครั้งที่บ้านจันทร์ส่องหล้า พร้อมปิดตำนานวลีดัง “มันจบแล้วครับนาย”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X