เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวานนี้ (10 มีนาคม 2564) บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) ได้เปิดเผยแผนในระยะ 5 ปี ว่าบริษัทจะมีการปรับโครงสร้างธุรกิจสู่รูปแบบบริษัทโฮลดิ้งเพื่อให้มีความยืดหยุ่นและมีความคล่องตัวมากขึ้น เนื่องจากการทำธุรกรรมบางอย่างติดข้อกฎหมายของ พ.ร.บ. บริหารสินทรัพย์ (AMC) ในเบื้องต้นบริษัทอยู่ระหว่างศึกษา 4 กลุ่มธุรกิจประกอบด้วย
- บริษัทบริหารลูกหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน
- บริษัทประเมินราคาทรัพย์สิน
- บริษัทบริหารและติดตามหนี้
- บริษัทรับปรับปรุงที่อยู่อาศัย
นอกจากนี้ BAM จะร่วมมือกับพันธมิตรในการนำ NPL และ NPA ของบริษัทมาเพิ่มมูลค่า เพื่อทำให้การคืนทุนจากสินทรัพย์อยู่ในระดับเหมาะสมมากขึ้น หรือไม่เกิน 5 ปี จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 7 ปี
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2564 BAM ตั้งเป้ารายได้ปี 2564 ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของฐานลูกหนี้ปรับโครงสร้างอีก 3.5 พันราย ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้ประจำเพิ่มขึ้น 140 ล้านบาทต่อเดือน รวมถึงการคัดเลือก NPA และ NPL ที่มีคุณภาพออกมาจำหน่ายกว่า 3,000 รายการ พร้อมกับการเร่งรัดกระบวการขายทอดตลาดหลักประกันผ่านกรมบังคับคดี นอกจากนี้จะมีการจัดบูธกว่า 100 ครั้ง เพื่อกระตุ้นการขายสินทรัพย์ สำหรับวงเงินในการซื้อ NPL และ NPA ปี 2564 BAM ตั้งงบไม่ต่ำกว่า 9 พันล้านบาท และจะมีการลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีและดิจิทัลกว่า 300 ล้านบาท เพื่อรองรับการจัดเก็บข้อมูลสินทรัพย์ทั้งหมดและเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของกรมบังคับคดี โดยระบบนี้คาดว่าจะเสร็จสิ้นในช่วงกลางปี 2565
กระทบอย่างไร:
วันนี้ (11 มีนาคม 2564) ราคาหุ้น BAM ปรับตัวขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 22.30 บาท ก่อนที่สิ้นวันจะอ่อนตัวลงไปปิดที่ระดับ 21.90 บาท ปรับขึ้น 1.86%DoD เทียบกับตลาดหุ้นไทย (SET Index) ที่ปรับขึ้น 2.08 จุด หรือเพิ่มขึ้น 0.13%DoD สู่ระดับ 1,575.13 จุด
มุมมองระยะสั้น:
SCBS มองว่าแผนปรับโครงการธุรกิจสู่รูปแบบบริษัทโฮลดิ้งจะเป็นปัจจัยกระตุ้นเชิง Sentiment ในระยะสั้น เนื่องจากในอนาคต BAM จะสามารถปลดข้อจำกัดในบางธุรกรรม และต่อยอดไปยังธุรกิจอื่นๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ราคาหุ้น BAM ยังถือว่า Laggard มากเมื่อเทียบกับหุ้นอื่นใน SET50
สำหรับทิศทางผลประกอบการของ BAM จะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลังของปี 2564 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจขาลงในปัจจุบันจะเปิดโอกาสให้ BAM ได้เข้าซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในราคาที่ถูกลงควบคู่ไปกับต้นทุนของเงินที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะช่วยหนุนให้อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ (Cost to Income Ratio) ที่ปรับตัวดีขึ้น โดย SCBS คาดกำไรสุทธิปี 2564 ของ BAM จะฟื้นตัว 83%YoY สู่ระดับ 3.37 พันล้านบาท จากระดับ 1.84 พันล้านบาทในปี 2563
มุมมองระยะยาว:
SCBS คาดว่าแนวโน้มกำไรปี 2565 ของ BAM จะเพิ่มขึ้น 7%YoY สู่ระดับ 3.6 พันล้านบาท และเพิ่มขึ้น 6%YoY สู่ระดับ 3.8 พันล้านบาทในปี 2566 โดยได้รับการสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของผลเรียกเก็บเงินสดในระยะยาว จากการเข้าซื้อสะสม NPA และ NPL ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ต้องติดตามปัจจัยสำคัญต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายระยะยาวของ BAM เช่น ความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะส่งผลต่อระยะเวลาคืนทุนและผลตอบแทนจาก NPA และ NPL, ราคาอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันต่อราคาขายทรัพย์สินรอการขายในระยะสั้น, ต้นทุนเงินทุนของบริษัทที่มีโอกาสปรับตัวขึ้นเมื่อทิศทางดอกเบี้ยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว รวมถึงความคืบหน้าการปรับโครงสร้างธุรกิจสู่รูปแบบบริษัทโฮลดิ้ง