ดีลหุ้นนอกตลาด (Private Equity Deals) ในเอเชียร่วง 44% ในปี 2022 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อและความตึงเครียดทางการเมือง ทำให้การยอมรับความเสี่ยง (Risk Appetite) ของนักลงทุนลดลง
Bain & Company บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก เปิดเผยรายงาน Asia-Pacific Private Equity Report 2023 โดยชี้ให้เห็นว่าตลาด Private Equity หรือหุ้นของบริษัทที่ยังไม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกหดตัวอย่างหนักในปี 2022 โดยมูลค่าข้อตกลงทั้งหมดลดลงถึง 44% เหลือเพียง 198,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับ 354,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2021
ทีมนักวิเคราะห์ยังกล่าวเสริมว่า เกือบ 70% ของผู้จัดการกองทุนที่บริษัทสำรวจประเมินว่าแนวโน้มเชิงลบจะดำเนินต่อไปจนถึงปี 2024
ในรายงาน Bain & Company กล่าวอีกว่า ปัจจัยฉุดดึงตลาด Private Equity ในภูมิภาคเมื่อปีก่อน มาจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจมหภาค ควบคู่ไปกับต้นทุนที่สูงขึ้น และผลประกอบการของบริษัทที่แย่ลง ซึ่งล้วนเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน
“นักลงทุนซึ่งรู้สึกถึงยุคแห่งการเติบโตที่ชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และความไม่แน่นอนที่มากขึ้น ได้ใช้เวลาในการปรับกลยุทธ์ของพวกเขาใหม่ โดยตระหนักว่าสิ่งที่เคยได้ผลดีในอดีตอาจไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมสำหรับปี 2023 และปีต่อๆ ไป” ทีมผู้เขียนรายงานระบุ
มูลค่าข้อตกลง (Deal) ในจีนแผ่นดินใหญ่ลดลง 53% เนื่องจากนักลงทุนต้องต่อสู้กับนโยบาย Zero-COVID ซึ่งนำไปสู่การลดลงทั่วทั้งภูมิภาคที่กว้างขึ้น โดยรายงานยังระบุว่าจีนและอินเดียมีมูลค่าข้อตกลงลดลงรวมกันกว่า 35,000 ล้านดอลลาร์สำหรับข้อตกลงขนาดใหญ่ในปี 2022
มูลค่าดีลบริษัทเทคโนโลยี-อินเทอร์เน็ตร่วง
แม้ว่าข้อตกลงในบริษัทอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยียังคงเป็นภาคการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิก แต่ในปี 2022 กลับลดลงจากปีก่อนหน้า และแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2017
โดยในบรรดาดีลในภาคเทคโนโลยีทั้งหมด Bain พบว่าส่วนใหญ่เป็นดีลบริการคลาวด์ ขณะที่ดีลในธุรกิจเทคโนโลยีเพื่อผู้บริโภค เช่น อีคอมเมิร์ซและบริการออนไลน์ มีมูลค่าลดลงประมาณ 70% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ดีลที่เกี่ยวข้องกับ ESG เพิ่มขึ้น
แม้ว่าสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาคจะบั่นทอนความเชื่อมั่นในการลงทุนในดีล Private Equity ทั่วภูมิภาค แต่ Bain กลับเห็นจำนวนดีลที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เพิ่มขึ้น
“ในภาคพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ การลงทุนด้านสาธารณูปโภคและพลังงานหมุนเวียนคิดเป็น 60% ของมูลค่าดีลทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงการพิจารณาปัจจัยด้าน ESG ที่เพิ่มขึ้น” Bain กล่าว
นอกจากนี้ผลการสำรวจของ Bain กับบริษัทพันธมิตรยังพบว่า ครึ่งหนึ่งวางแผนจะมุ่งเน้นการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ ESG ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า จากระดับ 30% เมื่อ 3 ปีที่แล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไขคำตอบ…ทำไม หุ้นเวียดนาม ดิ่งเกือบจะหนักสุดของโลก ล้างภาพดาวรุ่งแห่งเอเชีย
- จับตา! หุ้นฮ่องกง ดีดกลับจริงหรือแค่ชั่วคราว หลังผู้นำจีนส่งสัญญาณหนุนตลาดหุ้นอีกครั้ง
- ส่อง 9 ตลาดหุ้นเอเชีย ‘อินโดนีเซีย’ แชมป์เงินไหลเข้ามากสุด และเป็นตลาดหนึ่งเดียวที่ยืนบวก
อ้างอิง: