รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเผย หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันกับแบงก์ชาติแล้ว กรณี เงินบาท อ่อนค่า โดยแบงก์ชาติรับปากจะเข้าไปดูแลสถานการณ์ในช่วงที่ค่าเงินบาทผันผวนหนัก พร้อมยืนยันมีมุมมองเป็นบวกต่อเงินบาทอ่อนค่า เหตุช่วยหนุนภาคส่งออกของประเทศ
จากกรณีเงินบาทวันนี้ (22 กันยายน) อ่อนค่าหนักสุดในรอบ 16 ปี อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ภาคธุรกิจส่งออกจะได้รับอานิสงส์จากการที่เงินบาทอ่อนค่า โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบ เช่น หมวดอาหาร และหมวดสินค้าส่งออกที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ จะได้รับประโยชน์เต็มๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กูรูชี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเขย่าห่วงโซ่การผลิตโลก เตือนไทยมัวแต่เหยียบเรือสองแคม สุดท้ายอาจตกขบวน
- ค่าเงินบาท อ่อนทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อย ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 16 ปี
- ต่างชาติแห่ปักหมุด ลงทุนเวียดนาม ยอด FDI พุ่งแซงไทยแบบไม่เห็นฝุ่น สัญญาณบ่งชี้ ไทยเริ่มไร้เสน่ห์?
ทั้งนี้ เนื่องจากภาคธุรกิจส่งออกสามารถนำรายได้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศมาแปลงกลับเป็นสกุลเงินบาทได้ในจำนวนมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน ผู้นำเข้าและประชาชนในประเทศที่ซื้อสินค้าและบริการต่างประเทศจะเสียประโยชน์ เนื่องจากต้องใช้เงินบาทมากขึ้นในการแลกเงินสกุลอื่นในจำนวนเท่าเดิม
ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ Bloomberg แสดงให้เห็นว่า วันนี้เงินบาทอ่อนค่าแตะ 37.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นดอกเบี้ยเป้าหมายอีก 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% พร้อมส่งสัญญาณขึ้นต่อลากยาวถึงปีหน้า ทำให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ กว้างขึ้น และทำให้ความดึงดูดของไทยลดลง
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวด้วยว่าได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันกับธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วในช่วงเช้าวันนี้ พร้อมยืนยันว่า ธปท. ได้ดูแลและติดตามการเคลื่อนไหวของเงินบาทอยู่ตลอดเวลา โดยในช่วงสถานการณ์ที่ค่าเงินบาทผันผวนเยอะๆ ธปท. ก็จะเข้าไปดูแล
อาคมกล่าวอีกว่า กรณี Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ไม่ใช่แค่ประเทศไทยต้องติดตามสถานการณ์ไป ส่วนจะปรับตามหรือไม่ปรับจะขึ้นอยู่กับเหตุผลของธนาคารกลางแต่ละประเทศ โดยมองว่าปัจจัยหลักๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาในการปรับขึ้นดอกเบี้ย ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการเคลื่อนไหวของเงินทุน
“เงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยด้านต้นทุนการผลิต ซึ่งก็มาจากราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบ ซึ่งแต่ละรัฐบาลก็มีมาตรการต่างๆ มาแก้ตรงนี้ เพราะฉะนั้น ต้องดูว่า ความจำเป็นในการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดผลกระทบจากเงินเฟ้อมีมากแค่ไหน เพราะในขณะที่เราต้องการเห็นเศรษฐกิจเติบโต ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ต้องการความมั่นใจเหมือนกันว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างปกติ ส่วนการเคลื่อนไหวของเงินทุน ธปท. ยืนยันว่าการไหลออกของเงินทุนไม่ได้มากมายนัก และอยู่ในลักษณะที่ไหลออกบ้าง แต่ไม่มากเท่าไร” อาคมกล่าว
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP