เมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. ไม่สบายใจที่เงินบาทแข็งค่า ที่ผ่านมาจึงออกมาตรการต่างๆ เพื่อชะลอความเร็วการแข็งค่าของเงินบาท เช่น มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทในกลุ่ม Non-Resident (NR) และการผ่อนคลายเกณฑ์เอื้อให้เงินทุนไหลออก เพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท เช่น ให้บุคคลธรรมดาลงทุนในต่างประเทศ ผู้ส่งออกสามารถฝากเงินรายได้จากการส่งออกไว้ในต่างประเทศได้โดยไม่จำกัดระยะเวลา ฯลฯ
“ช่วงที่เงินไหลเข้ามามากๆ ก็เข้าไปแทรกแซงตลาดในบางช่วง เพื่อไม่ให้มันแข็งค่าเร็วเกินไป ” เมธีกล่าว
ทั้งนี้ มุมมองของตลาดฯ และนักวิเคราะห์มองการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทและค่าเงินในภูมิภาคเปลี่ยนไป โดยค่าเงินบาทมีโอกาสเคลื่อนไหวทั้ง 2 ขา (ขาแข็งค่าและขาอ่อนค่า) และมีโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่ามากขึ้น โดยนักลงทุนโลกส่วนหนึ่งอาจมองว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเกินกว่าพื้นฐาน และไม่ได้มองเงินบาทเป็น Safe Haven แล้ว
นอกจากนี้เงินบาทที่ยังเคลื่อนไหวทรงตัว อาจเพราะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลง การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รวมถึงราคาทองคำที่ปรับลดลงในช่วงเดือนที่ผ่านมา ทำให้เงินส่วนนี้ลดลงด้วย อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยยังลดลงต่ำกว่าของสหรัฐฯ จึงช่วยลดแรงดึงดูดการเข้ามาเก็งกำไรในค่าเงินบาท
ดังนั้น เมื่อเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่ามากขึ้น ขาผู้นำเข้าควรทำป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน เพื่อลดความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้น และช่วงบ่ายวันนี้ (4 ธันวาคม) ทางคณะทำงานของ ธปท. ที่ดูแลเรื่องนี้ มีการพูดคุยกับผู้ส่งออก ผู้นำเข้า SMEs อย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาในหลายด้าน เช่น ปัจจุบันผู้ประกอบการบางส่วนไม่ทำป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน เพราะขาดความรู้ ไม่มีเครดิตไลน์ หรือต้องการรับความเสี่ยงเอง ฯลฯ เพื่อหาโซลูชันในการแก้ปัญหาในอนาคต
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล