×

ฉุดไม่อยู่! ค่าเงินบาท ร่วงแตะระดับ 36.90 บาทต่อดอลลาร์ ครองแชมป์อ่อนค่ามากสุดในรอบ 1 เดือน

21.07.2022
  • LOADING...
เงินบาท

ค่าเงินบาท ยังคงอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า แต่ระดับการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงเวลานี้ดูจะเริ่มอ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน โดยล่าสุด ณ เวลา 15.45 น. ของวันนี้ (21 กรกฎาคม) เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 36.90 บาทต่อดอลลาร์

 

หากนับจากต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) เงินบาทอ่อนค่าลงมาแล้วประมาณ 9.45% โดยอ่อนค่าสุดเป็นอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ที่อ่อนค่าในระดับ 16.96% และ 9.54% ตามลำดับ

 

อย่างไรก็ตาม หากนับเฉพาะในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา เงินบาทนับเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่าลงมากสุดในภูมิภาค โดยอ่อนค่าลงราว 4.3% รองลงมาคือฟิลิปปินส์ อ่อนค่า 3.73% ถัดมาคืออินเดีย อ่อนลง 2.37% ญี่ปุ่น อ่อนลง 1.99% อินโดนีเซีย อ่อนลง 1.47% และมาเลเซีย อ่อนลง 1.38%

 

สงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า สถานการณ์ในขณะนี้ถือว่าไม่ยากเลยที่เงินบาทจะอ่อนค่าจนทะลุระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ เพราะมีหลายปัจจัยที่ยังคอยกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง

 

“ในวันที่ 26-27 กรกฎาคมนี้ ทาง Fed (ธนาคารกลางสหรัฐฯ) น่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% แม้จะน้อยกว่าการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่อาจถึง 1% แต่ก็นับเป็นปัจจัยที่กดดันค่าเงินบาท เพราะทำให้อัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐฯ และไทยถ่างมากขึ้น”

 

ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ระดับ 0.5% ในขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของ Fed อยู่ที่ 1.5-1.75% มีส่วนต่างจากดอกเบี้ยไทยสูงถึง 1-1.25% หากการประชุมในวันที่ 26-27 กรกฎาคมนี้ Fed ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ก็จะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 2.25-2.5% ทำให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับสหรัฐฯ ถ่างกันมากถึง 1.75-2%

 

สงวนกล่าวด้วยว่า แรงกดดันในฝั่งของเงินบาทที่อ่อนค่าจะมีต่อเนื่องไปอีก 2 เดือนข้างหน้า หรือจนกว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันที่ 28 กันยายน 2565

 

“ที่มองว่าแรงกดดันตรงนี้จะมีไปอีก 2 เดือน เพราะแม้การประชุม กนง. วันที่ 10 สิงหาคม 2565 กนง. อาจขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% หรือ 0.5% แต่ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยเดือนสิงหาคมน่าจะเป็นเดือนที่พีคที่สุด ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะประกาศตัวเลขนี้ในวันที่ 5 กันยายน ถ้าออกมาสูงกว่า 8% ขึ้นไป เงินบาทจะเผชิญแรงกดดันแบบเต็มๆ และแรงกดดันที่ว่านี้น่าจะมีไปจนถึงวันประชุม กนง. ครั้งถัดไปคือ 28 กันยายน 2565”

 

สงวนกล่าวว่า ประเด็นที่น่าห่วงสุดคือเราไม่รู้ว่า ธปท. มีเครื่องมืออื่นในการดูแลค่าเงินบาทนอกจากตัวเลขทุนสำรองระหว่างประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูงหรือไม่ เพราะแม้เงินทุนสำรองฯ เราจะสูง แต่หากเราใช้เงินทุนส่วนนี้ไปจำนวนมาก แต่เงินบาทยังคงอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ถึงตอนนั้นอาจจะทำให้นักลงทุนตั้งคำถามต่อความน่าเชื่อถือในการทำนโยบายการเงินของ ธปท. ได้เช่นกัน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นสถานการณ์จะยิ่งน่าเป็นห่วงมากกว่านี้

 

“เงินบาทที่อ่อนค่าในช่วงนี้ยังคงมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งแบงก์ชาติก็พยายามเข้าดูแลผ่านการใช้ทุนสำรองฯ แต่ถ้าเราใช้ทุนสำรองไปมากๆ ในขณะที่ค่าเงินยังอ่อนลงต่อเนื่อง ถึงแม้เราจะมีเงินทุนสำรองเหลืออยู่มาก แต่อาจถูกตั้งคำถามถึงความสามารถในการดูแลค่าเงินได้ ยิ่งถ้าเห็นการไหลออกของเงินทุนจากในส่วนของพอร์ตโฟลิโอด้วยแล้ว สถานการณ์ต่างๆ ในเวลานั้นอาจจะดูเลวร้ายลง”

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X