แบงก์ชาติมอง ‘ค่าเงินบาท’ เคลื่อนไหวผันผวน แต่ยังสอดคล้องกับสกุลอื่นในภูมิภาค หลังเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่า 4% ตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ในระยะต่อไปเตือนบาทยังเสี่ยงผันผวนสูง
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนสอดคล้องกับสกุลอื่นในภูมิภาค
“โดยตั้งแต่ความตึงเครียดของสถานการณ์การค้าโลกผ่อนคลายลงในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม นักลงทุนเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น 0.5% เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาคที่แข็งค่าขึ้นระหว่าง 0.4-1.1% โดยแข็งค่านำโดย อินโดนีเซีย 1.1% เกาหลี 1.1% มาเลเซีย 0.6%”
ชญาวดีกล่าวอีกว่า ในระยะต่อไป ค่าเงินภูมิภาค รวมถึงเงินบาทยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนสูง จากความไม่แน่นอนต่างๆ ทั้งนโยบายการค้า และแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก
“โดย ธปท. ยังคงติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด ขณะที่ภาคเอกชนควรพิจารณาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดการเงิน”
จากการรวบรวมโดย THE STANDARD WEALTH ณ วันที่ 22 พฤษภาคม พบว่า ตั้งแต่ต้นปี (YTD) เงินเยนของญี่ปุ่นแข็งค่ามากสุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างๆ ในภูมิภาค
🇯🇵 เยนญี่ปุ่น แข็งค่า 8.81%
🇹🇼 ดอลลาร์ไต้หวัน แข็งค่า 8.48%
🇰🇷 วอนเกาหลีใต้ แข็งค่า 6.84%
🇸🇬ดอลลาร์สิงคโปร์ แข็งค่า 5.61%
🇹🇭 บาทไทย แข็งค่า 4.44%
🇲🇾 ริงกิตมาเลเซีย แข็งค่า 4.43%
🇵🇭 เปโซฟิลิปปินส์ แข็งค่า 4.08%
🇻🇳 ดองเวียดนาม อ่อนค่า 1.93%
🇨🇳 หยวนจีน แข็งค่า 1.25%
🇮🇳 รูปีอินเดีย อ่อนค่า 0.46%
🇭🇰 ดอลลาร์ฮ่องกง อ่อนค่า 0.73%
🇮🇩 รูเปียห์อินโดนีเซีย อ่อนค่า 1.21%