×

ลองทำข้อสอบ GAT เชื่อมโยง ต้นเหตุของ ‘การโกง’ ในละครฉลาดเกมส์โกง เกิดจากอะไร

12.09.2020
  • LOADING...

*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของละคร ฉลาดเกมส์โกง ตอนที่ 1-12*

 

“ต่อให้เราไม่โกง ชีวิตมันก็โกงเราอยู่ดี”

 

ดูเหมือนว่าบทสรุปของละคร ฉลาดเกมส์โกง ที่เพิ่งออกอากาศตอนสุดท้ายไปเมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา จะเป็นบทพิสูจน์ของข้อความข้างต้นที่ แบงค์ (เจ้านาย-จินเจษฎ์ วรรธนะสิน) กล่าวเอาไว้ จะเป็นความจริงอันแสนเจ็บปวด รวมทั้งเน้นย้ำให้เราเห็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ ลิน (จูเน่-เพลินพิชญา โกมลารชุน) และ แบงค์ เด็กหัวกะทิอนาคตไกลสองคนนี้ ถูกบีบบังคับให้ต้อง ‘โกง’ 

 

อะไรที่ทำให้เขาและเธอต้องโกง เรามาหาคำตอบของ GAT เชื่อมโยงข้อนี้กัน

 

 

ก. ลินและผู้อำนวยการที่แอบแฝงผลประโยชน์เอาไว้ภายใต้ความหวังดี

 

“ก่อนหน้านี้หนูไม่สละสิทธิ์ชิงทุน ผอ. เลยลงโทษตัดสิทธิ์ชิงทุนหนู เพราะจะเอาไปให้หลานตัวเอง แบบนี้หรือเปล่าคะที่เรียกว่าคุณสมบัติที่เหมาะสม”

 

ถึงแม้เราไม่อาจเปลี่ยนให้การตัดสินใจ ‘โกง’ ข้อสอบของลินเป็นเรื่องชอบธรรมขึ้นมา แต่นั่นก็ยิ่งยืนยันว่า เธอคือตัวละครสำคัญที่ทำหน้าที่พาผู้ชมไปสำรวจความเหลวแหลกของ ‘ระบบการศึกษา’ ผ่านการกระทำของผู้อำนวยการ ที่เอารัดเอาเปรียบลินมาตั้งแต่ต้น

 

เริ่มตั้งแต่การให้ลินที่เป็นเด็กนักเรียนหัวกะทิรับทุนการศึกษาของโรงเรียน ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าทุนนี้เป็นของแบงค์มาก่อน ทำให้ทุนที่ลินควรจะได้รับเต็มจำนวนต้องถูกแบ่งครึ่ง จนทั้งคู่ต้องจ่ายค่าเทอมเพิ่ม ไม่เพียงเท่านั้น พ่อของลินยังต้องจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะให้โรงเรียนถึง 2 แสนบาท เพื่อให้ลินได้เข้าโรงเรียนชั้นนำที่จะพาเธอไปสู่โอกาสอีกมากมายในอนาคต

 

อีกทั้งยังกดดันให้แบงค์และลินต้องเอาชนะการแข่งขันตอบปัญหาวิชาการ เพื่อคัดเลือกว่าใครจะได้ทุนการศึกษาแบบเต็มจำนวน ไม่เพียงเท่านั้น ในตอนสุดท้ายของละคร ผู้อำนวยการยังยื่นข้อเสนอให้ลินต้องสอบชิงทุนที่หินที่สุดมาให้ได้ เพื่อแลกกับการไม่ไล่ลินออกจากโรงเรียน ทั้งหมดล้วนเป็นการใช้ความฉลาดของเขาและเธอเพื่อ ‘สร้างชื่อเสียง’ ให้กับโรงเรียนเท่านั้น 

 

ยังไม่รวมถึงการออกกฎที่บังคับให้นักเรียนที่อยากเล่นละครเวทีทุกคนต้องได้เกรด 3.25 ขึ้นไป จนเกรซหมดสิทธิ์ในการพิสูจน์ความสามารถของตัวเอง พยายามเกลี้ยกล่อมให้ลินสละสิทธิ์สอบชิงทุนเรียนต่อต่างประเทศ ด้วยรอยยิ้มหวานอาบยาพิษ เพื่อให้สิทธิ์ชิงทุนนั้นกับหลานของตัวเอง 

 

เรียกได้ว่า ‘ความหวังดีโรยหน้า’ ของผู้อำนวยการที่อยากจะมอบให้กับลินและแบงค์ล้วนแอบแฝงไปด้วย ‘ผลประโยชน์’ ของโรงเรียน และช่วยเป็นกระจกสะท้อนให้ผู้ชมเห็นถึงต้นเหตุของ ‘ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ ที่ให้ความสำคัญกับเหล่านักเรียนหัวดี (ถ้าหัวไม่ดีก็ต้องรวยมากๆ) เท่านั้น และไม่ชายตามองนักเรียนคนอื่นๆ 

 

 

ข. เกรซ เด็กสาวที่ถูก ‘ระบบการศึกษา’ แย่งชิงความฝัน

 

“รู้ป่ะ ละครเวทีอะเป็นความฝันในชีวิตมัธยมของเราเลยนะ ขอแค่ได้เล่น บทอะไรก็ได้เลย”

 

เกรซ (นาน่า-ศวรรยา ไพศาลพยัคฆ์) คงจะเป็นเด็กสาวธรรมดาคนหนึ่งที่มีความฝันอยากเป็นนักแสดงเช่นเดียวกับใครอีกหลายคน แม้จะร้องเพลงไม่เก่ง แต่เธอก็ยังมาร่วมออดิชันละครเพลงของโรงเรียนที่เธอไม่ถนัด เพื่อหวังว่าจะได้ขึ้นไปแสดงบนเวทีที่เธอใฝ่ฝัน

 

แต่ถึงแม้เกรซจะมีความสามารถขนาดไหน ในท้ายที่สุดเธอก็ไม่สามารถทำตามความฝันของตัวเองได้ เนื่องจากกฎของผู้อำนวยการโรงเรียนที่ตั้งเอาไว้ว่า นักเรียนที่อยากเล่นละครเวทีทุกคนต้องได้เกรด 3.25 ขึ้นไปเท่านั้น ทำให้เกรซที่มีผลการเรียนไม่ถึง 3 ไม่สามารถเข้าร่วมแสดงละครเวทีได้

 

“เล่นละครแล้วมันต้องใช้เกรดด้วยเหรอ เราว่ามันไม่เห็นเกี่ยวกันตรงไหนเลย”

 

นี่คือคำถามที่เกิดขึ้นมาในหัวของลิน หลังจากที่ได้ยินเรื่องราวทั้งหมด แต่สำหรับ ผู้อำนวยการที่ต้องการผลักดันให้โรงเรียนของตัวเองเป็นโรงเรียนที่อุดมไปด้วยนักเรียนหัวกะทิ ย่อมเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน 

 

ประเด็นที่ละคร ฉลาดเกมส์โกง กำลังนำเสนอผ่านตัวละครเกรซ ถือเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของ ‘ระบบการศึกษา’ ที่ใช้ผลการเรียนเป็นตัวตัดสินความสามารถของนักเรียนแบบเหมารวม แม้ว่าการผลักดันให้นักเรียนทำผลการเรียนให้ดีจะเป็นผลดีในอนาคตก็ตาม 

 

แต่หากครูหรือผู้อำนวยการโรงเรียนลองปรับมุมมองให้กว้างขึ้น เพื่อทำความเข้าใจว่านักเรียนทุกคนล้วนมีความชื่นชอบและความสามารถที่ ‘แตกต่างกัน’ เพื่อช่วยแนะแนวและหาลู่ทางผลักดันให้เขาและเธอได้รับโอกาสลงมือทำในสิ่งที่ชื่นชอบและถนัดมากที่สุด ความสามารถของนักเรียนคนนั้นอาจสร้างชื่อเสียงด้านอื่นที่ไม่ใช่แค่ความเป็นเลิศทางวิชาการให้กับโรงเรียนเพิ่มก็ได้

 

 

ค. พัฒน์และปีศาจในจิตใจ ที่ถูกพ่อจอมเผด็จการสร้างขึ้น

 

“คือกูโง่เว้ย แต่กูจ่ายได้”

 

พัฒน์ (ไอซ์-พาริส อินทรโกมาลย์สุต) เด็กหนุ่มบ้านรวยที่ดูเหมือนชีวิตแสนสบาย ถือเป็นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญที่ขับเคลื่อนเหตุการณ์ทั้งหมดของเรื่อง ทั้งการยื่นข้อเสนอให้กับลินเพื่อจ้างให้โกงข้อสอบ ช่วยลินหาลูกค้าเข้ามาเพิ่ม และยังเป็นคนวางแผนลากแบงค์เข้ามาร่วมทีมเพื่อโกงข้อสอบ STIC 

 

แน่นอนว่าทุกการตัดสินใจของพัฒน์ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ แต่หากลองมองย้อนกลับไปจะเห็นว่า ต้นเหตุที่ทำให้พัฒน์ต้องกลายเป็นคน ‘โกง’ อาจมาจากพ่อ (วิลลี่ แมคอินทอช) จอมเผด็จการที่ต้องการให้พัฒน์กลายเป็นเด็กหัวกะทิ เพื่อให้ลูกชายได้สืบทอดกิจการโรงแรมของตัวเอง

 

เริ่มตั้งแต่การซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ให้กับโรงเรียน เพื่อเป็นค่าแป๊ะเจี๊ยะให้พัฒน์ได้เข้าเรียน ทั้งๆ ที่ตัวพัฒน์เองไม่ได้เป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนดีเท่าไรนัก รวมถึงบังคับให้พัฒน์สมัครสอบ STIC เพื่อส่งพัฒน์ไปเรียนที่บอสตันพร้อมกับเกรซ

 

และในตอนจบของเรื่อง ทันทีที่รู้ข่าวว่าพัฒน์มีส่วนร่วมในแผนการขโมยข้อสอบ GAT/PAT เขาก็รีบเดินทางมาหาพัฒน์ เพื่อพาลูกชายของตัวเองหนีไปเรียนต่อต่างประเทศ และพร้อมช่วยปิดข่าวที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ขโมยข้อสอบส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของโรงแรม 

 

การที่พัฒน์ถูกบีบบังคับให้ต้องทำทุกอย่างตามที่พ่อต้องการ โดยไม่สนใจความรู้สึกของพัฒน์เลยแม้แต่น้อย ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า ‘พ่อจอมเผด็จการ’ คนนี้อาจไม่ได้กำลังทำเพื่ออนาคตของลูก แต่กำลังทำเพื่ออนาคตกิจการโรงแรมของตัวเองอยู่มากกว่า

 

นอกจากนี้เรื่องราวของพัฒน์ยังทำให้เราเห็นถึงความจริงอันแสนเจ็บปวดที่ว่า ไม่สำคัญว่าคุณจะเก่งแค่ไหน เพราะสิ่งสำคัญอยู่ที่คนที่มีเงินมากกว่าย่อมสามารถเข้าถึงโอกาสได้ง่ายกว่าคนอื่นๆ เสมอ 

 

 

ง. แบงค์ สัญลักษณ์ของคนชายขอบที่ถูกบังคับให้ต้อง ‘ซวย’ เพราะการ ‘โกง’ ของคนอื่น

 

“ต่อให้เราไม่โกง ชีวิตมันก็โกงเราอยู่ดี”

 

หลังจากที่ลิน เกรซ และพัฒน์ ถูกบีบคั้นให้ต้อง ‘โกง’ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของแบงค์ ที่เป็นสัญลักษณ์ของคนชายขอบที่ถูกบังคับให้ต้อง ‘ซวย’ จากผลลัพธ์ของการ ‘โกง’ ที่ตัวละครอื่นเป็นคนเริ่ม 

 

เริ่มตั้งแต่ผู้อำนวยการที่รับลินเข้ามาเพื่อหวังใช้ความฉลาดของเธอสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน ก่อนที่ลินจะมาพบกับเกรซ เด็กสาวที่ถูกตัดโอกาสเข้าร่วมแสดงละครเวทีโรงเรียน เพียงเพราะเธอเกรดไม่ถึง 3 จนทำให้ลินต้องช่วยเกรซด้วยการส่งคำตอบให้ ซึ่งนำมาสู่การพบกันระหว่างลินและพัฒน์ที่อยากจะได้คะแนนดีๆ ให้พ่อดีใจ

 

ในระหว่างนั้นเอง แบงค์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่เพียงเพราะเรียนเก่ง เลยกลายเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นตัวการของการโกงข้อสอบอยู่เสมอ จนสุดท้ายถูกลากให้เข้าร่วมแผนการโกงข้อสอบ STIC ของลิน เพราะพัฒน์จ้างวานให้มีคนไปทำลายข้าวของในบ้าน จนทำให้แม่ที่ป่วยหนักต้องเข้าโรงพยาบาล

 

เมื่อโดมิโนตัวแรกเริ่มล้ม แบงค์ก็ถลำลึกไม่สามารถหยุดวงจรการโกงได้อีกต่อไป แบงค์ถูกกรรมการคุมสอบจับได้ และถูกผู้อำนวยการโรงเรียนไล่ออก เขาจึงจำใจเลือกที่จะโกงอีกครั้ง เพื่อทวงคืนอนาคตที่คนอื่น ‘โกง’ ไปกลับคืนมา ก่อนที่ลินจะตัดสินใจสารภาพกับทางตำรวจ และทำให้แบงค์ต้องถูกจับเข้าศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน ในขณะที่พัฒน์ถูกพ่อส่งให้ไปเรียนต่างประเทศและจ้างทนายฝีมือดีมาช่วยเกรซในที่สุด

 

 

ยังมีตัวละคร ‘ผู้ใหญ่’ อีกหลายคนที่เรายังไม่ได้กล่าวถึงอย่าง ครูสอนคณิตศาสตร์ (บิ๊ก-ศรุต วิจิตรานนท์) ที่แอบปล่อยข้อสอบให้กับนักเรียนที่เรียนพิเศษด้วยเท่านั้น พี่มิวสิค (นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา) นายหน้าติวเตอร์ที่ชักชวนให้ลินโกงข้อสอบ STIC และ ฟลุก (ชาติชาย ชินศรี) พนักงานโรงพิมพ์ที่ยอมช่วยแบงค์ขโมยข้อสอบ GAT/PAT

 

แต่หากมองจากทุกข้อที่กล่าวมาทั้งหมด เราสามารถเชื่อมโยงและหาคำตอบของข้อสอบ GAT ข้อนี้ได้อย่างชัดเจนว่า ผลลัพธ์สุดท้ายที่ทำให้เด็กๆ ทุกคนต้องเผชิญ ล้วนมาจากการกระทำของ ‘ผู้ใหญ่’ ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งมันดูจะขัดกับหลักคำสอนของ ‘ผู้ใหญ่’ บางกลุ่มที่คอยสั่งสอนให้เรา ‘โตไปไม่โกง’ อยู่เสมอ 

 

GAT เชื่อมโยงข้อต่อมา เราอยากชวนให้ลองย้อนทบทวนดูอีกครั้งว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเหล่าตัวละครผู้ใหญ่จากละคร ฉลาดเกมส์โกง ทำตามคำสอนที่พวกเขากล่าวเอาไว้ 

 

หากผู้อำนวยการคิดถึงผลประโยชน์ของนักเรียนมากกว่าผลประโยชน์ของโรงเรียน เกรซได้รับ ‘โอกาส’ พิสูจน์ความสามารถ ทำตามความฝันของตัวเอง และอาจทำให้ลินไม่ต้องส่ง ‘ยางลบ’ ให้เกรซในวันสอบ

 

หากพ่อของพัฒน์ได้ลองถามพัฒน์ดูสักครั้งว่า พัฒน์อยากจะเป็นอะไร พัฒน์ก็คงไม่จำเป็นต้องจ้างลินให้โกงข้อสอบ และไม่ต้องเอ่ยคำว่า ‘ตัวเองโง่’ ออกมา

 

หากผู้อำนวยการมีความยุติธรรมกับลินและแบงค์ในการให้การทุนการศึกษา แผนการโกงของลินก็อาจจะไม่เกิดขึ้น และแบงค์ก็อาจจะมีอนาคตที่ดีกว่านี้ ทั้งคู่อาจเป็น ‘เพื่อน’ กันได้อย่างสนิทใจ ไม่ต้องมีคำพูดที่ว่า

 

“เจเนอเรชันเราต้องไม่มีคนโกงแล้วเว้ย”

 

เพราะ ‘การโกง’ ไม่ควรเกิดขึ้นทั้งนั้น ไม่ว่าจะยุคไหน เจเนอเรชันไหนก็ตาม

 

สามารถรับชมละคร ฉลาดเกมส์โกง ทั้ง 12 ตอน ได้ผ่านทาง

https://wetv.vip/th/play/4ftxgua3ufijgq1-%E0%B8%89%E0%B8%A5%E0

 

ภาพประกอบโดย

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising