×

เมื่อ ‘หนี้เสีย’ พุ่งทะยาน หน่วยงานรัฐ-แบงก์พาณิชย์ รับมืออย่างไร

04.11.2020
  • LOADING...
หนี้เสีย ภาพประกอบ

HIGHLIGHTS

  • มาตรการแช่แข็งหนี้ของ ธปท. ช่วยให้ภาพรวมหนี้เสียไตรมาส 3/63 ยังไม่พุ่ง เพราะอยู่ที่ 3.14% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ 3.09% เพียงเล็กน้อย แต่เป็นการเลื่อนปัญหาออกไปเท่านั้น
  • แบงก์กรุงเทพ-ทีเอ็มบีธนชาต ยอมรับต้องตั้งสำรองฯ ต่อเนื่อง เพราะความเสี่ยงหนี้เสียยังเพิ่มขึ้น มองวิธีหารายได้ในต่างประเทศ และผลิตภัณฑ์ที่คนยังจำเป็น เร่งรัฐออกมาตรการตรงจุดแก้ปัญหาโครงสร้าง
  • ธปท. ชี้หมดช่วงแช่แข็งหนี้ เร่งธนาคารฯ ปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้าลดการเกิดหนี้เสีย

เมื่อวิกฤตโควิด-19 และผลกระทบทุกด้านยังไม่จางหาย แต่ในมิติตัวเลขการเงิน เช่น หนี้เสีย ฯลฯ ที่อยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่เห็นผลกระทบชัดเจนนัก ส่วนหนึ่งก็เพราะช่วงที่ผ่านมา ธปท. ออกมาตรการพักเงินต้นและดอก หรือที่เรียกว่า ‘การแช่แข็ง’ หนี้ไว้ ทำให้ผลกระทบที่แท้จริงยังไม่แสดงตัว

 

สะท้อนได้จากข้อมูลที่ทาง ธปท. เปิดเผยตัวเลขหนี้เสีย (NPL) ของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/63 อยู่ที่ 3.14% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่ 3.09% ซึ่งที่จริงแล้วผลกระทบของเศรษฐกิจไทยจากโควิด-19 ต่อประชาชนในวงกว้างมากขนาดนี้ ทำให้นักวิเคราะห์หลายแห่งประเมินว่า NPL มีโอกาสพุ่งมากกว่า 10% และถือเป็นความกังวลของหลายฝ่ายเพราะการพักหนี้ฯ หรือการเลื่อนปัญหาออกไปเท่านั้น

 

เมื่อหนี้เสียในระบบมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นในลูกหนี้ทุกกลุ่ม ทั้งจากผู้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ธปท. เลยออกมาตรการ เช่น DR BIZ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย, การรวมหนี้ (ในแบงก์เดียวกัน), การปรับโครงสร้างหนี้ ฯลฯ ซึ่งเป็นมาตรการสำหรับระยะกลางและยาวแล้ว เพื่อรับกับความเสี่ยงในตอนนี้ ทางธนาคารพาณิชย์ทยอยตั้งสำรองฯ เพื่อ ‘เผื่อ’ และรองรับกับหนี้เสียที่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคต แต่จะเพียงพอไหม?

 

 

แบงก์กรุงเทพรับเศรษฐกิจไทยฟื้นช้า พร้อมตั้งสำรองหารายได้ต่างประเทศ

ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว THE STANDARD ว่า ช่วงที่แช่แข็งหรือพักชำระหนี้ทุกธนาคาร รวมถึงธนาคารกรุงเทพลงไปพูดคุยกับลูกหนี้และส่วนใหญ่พูดถึงการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว แต่การจะปรับโครงสร้างหนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพคล่อง รายได้ และงบทางบัญชีของลูกหนี้ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจด้วย

 

ดังนั้นเรื่องที่แบงก์ทำได้เลยคือการตั้งสำรอง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่จะตั้งรองรับอาการช็อกอยู่แล้ว ถือเป็นการบริหารจัดการเพื่อรองรับกับสภาวะต่างๆ โดยที่ผ่านมาธนาคารมีการตั้งสำรองอย่างสม่ำเสมอโดยมองไปข้างหน้า ในวิกฤตครั้งนี้เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวเร็วนัก ตัวเลขการตั้งสำรองจึงมีทิศทางขยับเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ขาการปล่อยสินเชื่อต้องบริหารในรูปแบบที่ระมัดระวังขึ้น

 

ทั้งนี้แนวทางในการจัดการหนี้เสีย (NPL) ผ่านการระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ ได้แก่

  1. การบริหารสินเชื่อให้ไม่มี NPL มากขึ้น
  2. บริหารค่าใช้จ่ายให้เหมาะสม เช่น ค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ
  3. ขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มลูกค้าที่มีความจำเป็นและมีความต้องการ เช่น กองทุนรวม ประกัน 

 

ขณะที่การเติบโตของสินเชื่อในระบบต้องจับตามาตรการลงทุนของภาครัฐ หากมีความชัดเจนขึ้น เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จะฉุดให้สินเชื่อรายใหญ่เติบโตขึ้น และส่งผลให้สินเชื่อ SMEs เติบโตตามไปด้วย ขณะที่สินเชื่อบุคคลยังมีความละเอียดอ่อนจึงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ

 

ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้มองว่า ลูกค้ารายใหญ่ที่เป็นสัดส่วนหลักของพอร์ตสินเชื่อธนาคารกรุงเทพยังปรับตัวได้ดี เพราะว่ามีความสามารถสูง รวมถึงมีการกระจายตัวในหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจทำให้ไม่กังวลมากเท่ากับกลุ่มอื่นๆ ดังนั้นต้องให้ความสำคัญกับกลุ่ม SMEs รวมถึงรายย่อย

 

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ธนาคารกรุงเทพกระจายการหารายได้ในต่างประเทศมากขึ้น โดยปัจจุบันมีสัดส่วนสินเชื่อ 25% ที่มาจากต่างประเทศ ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงและหาโอกาสใหม่ๆ ในธุรกิจ

 

 

TMB แบงก์พาณิชย์ตั้งสำรองต่อเนื่องถึงปีหน้า ชี้น้ำลดตอผุดเห็นปัญหาชัด Q1/63

ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต เล่าว่า สถานการณ์ต่างๆ ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ทำให้ธนาคารพาณิชย์ยังต้องตั้งสำรองต่อเนื่อง โดยทางธนาคารยังตั้งสำรองต่อเนื่องในไตรมาส 4/63 และจะตั้งสำรองฯ ต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ไตรมาส ซึ่งทุกธนาคารทยอยตั้งสำรองกันล่วงหน้าแล้ว

 

ทั้งนี้แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาจะมีการออกมาตรการพักหนี้ที่เริ่มก่อนคือ สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อที่อยู่อาศัย (สินเชื่อบ้าน) จึงเป็นกลุ่มที่ไม่ไหวจนขอพักหนี้ ดังนั้นตัวที่เริ่มก่อนจะพีกและค่อยๆ ลดลง และกลับมาชำระได้

 

ขณะที่ไตรมาส 4 จะเห็นผลกระทบเต็มของสินเชื่อบุคคล และเริ่มเห็นอาการของสินเชื่อ SMEs ที่จะเริ่มครบมาตรการในเดือนตุลาคม ดังนั้นในกลุ่มที่ธนาคารสามารถช่วยเหลือได้จะกลับมาชำระได้ แต่ในกรณีที่ช่วยแล้วยังไม่ไหวจะกลายเป็น NPL หรือสินเชื่อ Stage 3 ในอีก 3 เดือน คือช่วงเดือนมกราคม ดังนั้น NPL จะไปเห็นในเดือนมกราคม ซึ่งธนาคารหลายๆ แห่งรวมถึงเรา เลือกตั้งสำรองล่วงหน้าไปแล้ว

 

“ไตรมาส 4 เห็นอาการชัดขึ้น และจะไปเห็นผลกระทบเต็มในไตรมาส 1 ปี 2564 ดังนั้นจึงต้องมีการตั้งสำรองอีกอย่างน้อย 2 ไตรมาส และจะปล่อยให้ตก (เศรษฐกิจ) อิสระไม่ได้ จึงต้องมีมาตรการที่กระตุ้นการจับจ่ายมาตรการเพื่อพยุงการจ้างงาน มาตรการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาเป็นสิ่งจำเป็น มิฉะนั้นแล้วจะเป็นการปล่อยให้ตกอิสระ หมายถึงว่าเงิน 2 ล้านล้านบาทที่หายไปกับนักท่องเที่ยว การจ้างงาน การจับจ่าย การบริโภคก็หายตาม แต่ถ้ามีมาตรการมากระตุ้นเป็นระยะ ก็จะช่วยกระตุ้นได้ด้วย”

 

 

ประชาชนรอเพื่อขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาทที่กระทรวงการคลัง

 

มาตรการที่ออกมาช่วยประชาชนหลังจากนี้ต้องเป็นแบบไหน 

ทวีลาภ กล่าวว่า ที่ผ่านมามาตรการอย่าง ไทยเที่ยวไทย ถือเป็นมาตรการระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่จะต้องออกมาคือมาตรการของรัฐที่ช่วยพยุงฐานราก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวกลับมาได้

 

นอกจากนี้ปัจจุบันประเทศไทยยังมีปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ทำให้บางคนอาจจะเข้าถึงสินเชื่อนอกระบบมากกว่า ดังนั้นเลยต้องเร่งเรื่องการจัดข้อมูลให้เป็นระเบียบเพื่อออกมาตรการให้ตรงจุด

 

ปัจจุบันโครงสร้างเศรษฐกิจไทยถือว่าพึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่งออกค่อนข้างมาก หากไม่มีการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจประเทศอาจจะทำได้ยาก แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถปรับได้ภายใน 1-2 ปีนี้

 

ปัจจุบันมาตรการที่ออกมายังต้องทดลองและยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ แต่อีกปัญหาสำหรับ SMEs คือการปรับโครงสร้างหนี้ที่ต้องพูดคุยกับเจ้าหน้าที่หลายราย ซึ่งทำให้การต่อรองยากขึ้น ในฝั่งธุรกิจต้องทำแผนฯ ในการยื่นกับแต่ละธนาคาร และเป็นปัญหาเดียวกับหนี้รายย่อย เช่น หากแก้หนี้สถาบันการเงิน 1 แห่งแต่ยังแก้ปัญหาหนี้ในที่อื่นๆ ไม่ได้

 

ปิติกล่าวว่า ในระยะยาวเศรษฐกิจไทยต้องแข็งแรงด้วยตัวเองโดยไม่พึ่งพิงแต่รายได้จากภายนอก เช่น ชนชั้นกลางที่กลับสู่ต่างจังหวัดต้องพัฒนางานให้เพิ่มขึ้น ซึ่งต้องไม่พัฒนาแต่งานบริการที่รอเงินจากต่างประเทศอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างงานในประเทศที่พึ่งพิงการบริโภคในประเทศจริงให้เพิ่มขึ้น

 

ธปท. ปักธงมาตรการช่วยลูกหนี้ระยะกลาง-ยาว เร่งปรับโครงสร้างหนี้

จาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่า หลังจากที่ ธปท. ได้ปรับมาตรการเป็นการให้ความช่วยเหลือเชิงรุกและตรงจุดที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกหนี้แต่ละรายไปแล้วนั้น

 

ธปท. กำชับสถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เต็มที่ โดยปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุกมากขึ้นสำหรับลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถกลับมาจ่ายชำระหนี้ได้ตามปกติ

 

ผ่านการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย รวมถึงใช้มาตรการอื่นตามความเหมาะสม เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย การพักชำระค่างวด รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อย และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย

 

สุดท้ายนี้โจทย์ใหญ่ของ ธปท. และธนาคารพาณิชย์​คงหนีไม่พ้นการออกแบบหรือวางแผนบริหารความเสี่ยงในสถานการณ์ที่ลูกหนี้ต้องเจอวิกฤต ทั้งในระดับบุคคลและภาพใหญ่ของเศรษฐกิจ

 

แต่ทางออกในการจัดการหนี้ยังเจอโจทย์ใหญ่อย่าง ‘รายได้ในอนาคต’ หากลูกหนี้มีแนวโน้มรายได้ลดลง การให้ความช่วยเหลือ เช่น Soft Loan ที่ออกมาต่อลมหายใจลูกหนี้อาจจะให้ได้ยากขึ้น สะท้อนจากการขอใช้ Soft Loan ยังไม่ถึง 2 แสนล้านบาท แม้ว่า ธปท. จะเปิดวงเงินให้กู้ได้สูงถึง 5 แสนล้านบาท และเริ่มประกาศมาตั้งแต่เมษายน 2563 ก็ตาม

 

ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ยังต้องตัดส่วนกำไรมาตั้งสำรอง รวมถึงประกาศของแบงก์ชาติที่ขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย ‘เงินปันผลระหว่างกาล’ และ ‘งดซื้อหุ้นคืน’ เพื่อไม่ให้การ์ดตก ยังเป็นโจทย์ที่ธนาคารต้องบริหารทั้งฝั่งผู้ถือหุ้นและลูกหนี้ของแบงก์ต่อไป

 

แล้วกลไกหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในวิกฤตอย่างภาครัฐจะเร่งรัดและออกมาตรการที่ช่วยเหลือ รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตรงจุดได้อย่างไร ในเมื่อปัจจุบันแม้จะมี พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ตั้งหน่วยงานใหม่ ซึ่งรวมถึงโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ วงเงิน 4 แสนล้านบาท ก็ยังมีการอนุมัติราว 30% เท่านั้น 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X