×

ผลประโยชน์และเหตุผลทางการเมือง เปิดเบื้องหลัง กทม. ยึดคืนหอศิลปกรุงเทพฯ

14.05.2018
  • LOADING...

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ใจกลางเมืองบริเวณแยกปทุมวัน แถวห้าง MBK Center ติดกับบีทีเอส สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ

 

ครบ 10 ปีของการเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2551 หอศิลป์กลางกรุงแห่งนี้กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีแนวคิดจะให้ทางสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เข้ามาจัดการดูแล

 

“ประเด็นสำคัญคือ เมื่อ กทม. เข้ามาบริหารแล้วมันจะยังเป็นหอศิลป์ฯ อยู่หรือเปล่า จากข่าวที่ได้มา มีการเตรียมการจะทำ Co-working Space โดยเตรียมสั่งซื้อชุดโต๊ะ 2,000 ชุด”

 

ผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ถอดรหัสปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา โดยมองว่าเหตุผลสำคัญที่ กทม. ต้องการเข้ามาบริหารหอศิลป์ฯ เอง คือ ผลประโยชน์ และการเมือง

 

 

เปิดขุมทรัพย์หอศิลปกรุงเทพฯ ทำเลทองกลางเมือง

งบประมาณสนับสนุนหอศิลปกรุงเทพฯ ปีละกว่า 40 ล้านบาท คือหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ กทม. ใช้อ้างสิทธิ์เพื่อขอเข้ามาบริหารเอง

 

 

หากไม่นับงบประมาณสนับสนุนจากกรุงเทพฯ ประมาณ 45 ล้านบาท เมื่อปี 2560 หอศิลปกรุงเทพฯ ภายใต้การบริหารงานของมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีรายได้จากการให้เช่าพื้นที่ ผู้สนับสนุน และเงินบริจาค รวมกว่า 37 ล้านบาท

 

ผศ.ปวิตร กล่าวว่า เริ่มมีสัญญาณว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว เมื่อสภา กทม. ท้วงติงมาว่าสัญญาโอนสิทธิ์ไม่ถูกต้อง จึงมีมติว่าปี 2561 นี้จะไม่ให้งบประมาณอุดหนุน หลังจากนั้นจะแปรญัตติเอางบประมาณ 40 ล้านบาทมาอยู่ที่สำนักวัฒนธรรม การกีฬา และการท่องเที่ยว และมาเบิกจ่ายให้หอศิลปกรุงเทพฯ ในรูปแบบระบบราชการ

 

แต่ปรากฏว่าเมื่อพยายามทำโครงการของบประมาณเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ กลับไม่เคยได้รับการอนุมัติ ขณะข่าวเรื่องที่ กทม. มีแนวคิดขอกลับไปบริหารจัดการเอง ทางมูลนิธิฯ ก็ทราบจากสื่อมวลชน

 

 

ผศ.ปวิตร กล่าวต่อว่า ไม่แน่ใจว่าเมื่อ กทม. เข้ามาบริหารแล้วมันจะยังเป็นหอศิลป์อยู่ เพราะจากข่าวที่ได้มา มีการเตรียมการจะทำ Co-working Space โดยเตรียมสั่งซื้อชุดโต๊ะ 2,000 ชุด ซึ่งพื้นที่ที่จะตั้งชุดโต๊ะจำนวนมากขนาดนั้นได้ก็มีแค่ในส่วนชั้นบนซึ่งเป็นที่จัดนิทรรศการ

 

“เขาจะเปิดพื้นที่ Co-working Space ให้ใช้ฟรี แต่เขาจะเปิดร้านค้า และห้องประชุมให้เช่า ก็มีข้อสังเกตว่าเพราะกำไรจากการบริหารจัดการกว่าปีละ 37 ล้านบาทหรือเปล่าเขาถึงสนใจเข้ามา”

 

 

หอศิลปกรุงเทพฯ พื้นที่สำคัญทางการเมือง

ผศ.ปวิตร ให้เหตุผลที่พื้นที่หอศิลปกรุงเทพฯ มักถูกใช้เป็นพื้นที่ทางการเมือง ว่าด้วยทำเลที่ตั้งที่สะดวก ประกอบกับประวัติความเป็นมาของการตั้งหอศิลป์คือการรณรงค์เรียกร้องจากประชาชนที่รักในงานศิลปะ มันจึงมีอารมณ์ตรงนี้อยู่

 

อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องทางการเมืองและสังคมที่เกิดขึ้นตอนนี้ ได้จัดทำเป็นนโยบายว่า ขอให้เป็นการเรียกร้องผ่านการนำเสนอผลงานทางศิลปะ

 

“ถ้าอยู่ดีๆ จะมาเดินขบวนถือป้ายเรียกร้องเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเฉยๆ อันนี้ไม่ใช่หน้าที่เรา แต่ว่าเราอยากให้คนมองเห็นว่า ความคิดเห็นทางการเมืองหรือประเด็นทางสังคมมันสามารถถ่ายทอดได้ผ่านงานศิลปะ”

 

ผศ.ปวิตร บอกด้วยว่า พื้นที่หอศิลป์อาจจะถูกมองว่าเอียงไปสีใดสีหนึ่ง แต่คนที่เข้ามาร่วมเรียกร้องกับเรามาจากทุกสี เพราะเขามองเห็นแล้วว่าพื้นที่ตรงนี้คือพื้นที่กลาง ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นเพราะแบบนี้หรือเปล่าที่รัฐบาลท้องถิ่นเลยอยากเข้ามาควบคุมเอง

 

 

กทม. ยอมรับกำหนดนโยบายหอศิลป์ไม่ได้  

เฉลิมพล โชตินุชิต ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานครยอมรับว่า การบริหารของมูลนิธิฯ ถือว่ามีความเป็นอิสระจาก กทม. ทำให้เข้าไปกำหนดนโยบายอะไรต่างๆ ไม่ได้

 

เฉลิมพล กล่าวด้วยว่า เมื่อก่อนมองว่ามูลนิธิฯ ถือเป็นสาขาหนึ่งของ กทม. ไม่น่าเข้าข่ายมาตรา 96 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ที่ระบุว่า ในกรณีจำเป็นกรุงเทพมหานครอาจมอบให้เอกชนกระทำกิจการ ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครและเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบริหาร หรือค่าตอบแทนที่เกี่ยวข้องแทนกรุงเทพมหานครได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสียก่อน

 

แต่ปัจจุบันสภา กทม. เห็นว่าไม่ใช่ ซึ่งต้องรอการประชุมวันที่ 15 พ.ค. นี้ ว่า กทม. จะมีข้อสรุปอย่างไร ให้มูลนิธิฯ ทำให้ถูกต้องแล้วบริหารต่อไป หรือ กทม. เข้ามาบริหารเอง

 

ขณะที่รายงานข่าวแจ้งว่า พรุ่งนี้ (15 พ.ค.) จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการหาแนวทางการบริหารหอศิลปกรุงเทพฯ ซึ่งมูลนิธิจะหมดสัญญาในปี พ.ศ. 2564

 

 

หอศิลป์สำคัญอย่างไรต่อสังคม

ผศ.ปวิตร สรุปทิ้งท้ายว่า หอศิลป์เป็นแหล่งเรียนรู้ กิจกรรมต่างๆ ของหอศิลป์พิสูจน์แล้วว่าเป็นพื้นที่ให้คนได้รู้จักและเข้าใจงานศิลปะ

 

ปัญหาของบ้านเราคือ เราผลิตศิลปินเยอะ แม้แต่วิชาศิลปะที่โรงเรียนเราก็สอนให้เด็กทำงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ แต่สิ่งที่เราไม่ค่อยได้ทำคือเราไม่ค่อยได้สร้างผู้ชมงานศิลปะ เราอยากได้คนที่ไม่จำเป็นต้องเล่นเปียโนเป็น แต่ฟังเพลงเป็น เราไม่ได้อยากได้คนที่วาดรูปเป็น แต่ดูงานศิลปะเป็น เราอยากได้คนแบบนี้อีกเยอะ

 

เพราะอย่าลืมว่าคนส่วนใหญ่ในโลก คือคนที่ชมงานศิลปะ ไม่ใช่คนที่สร้างงานศิลปะ ดังนั้นพื้นที่หอศิลป์คือพื้นที่พัฒนาให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ เป็นพื้นที่กลางและหลากหลายให้ศิลปินได้สื่อสารความคิดกับผู้คน

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising