ธ.ก.ส. ประกาศขึ้นดอกเบี้ยทั้ง 2 ขา เงินฝากขึ้น 0.05-0.60% ส่วนเงินกู้ขึ้น 0.25% เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ ฝั่งเอ็มดีแบงก์กรุงไทยส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยตามกลไกตลาด
ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ต่อปี มาอยู่ที่ 1.75% ต่อปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2566 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ธนาคารออมสิน เปิดตัวเงินฝากดอกเบี้ยขั้นบันได จ่ายสูงสุด 4.5% และ 10% หวังส่งเสริมการออมระยะยาว
- ส่องแบงก์รัฐ-พาณิชย์ ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ เท่าไรกันบ้าง? หลัง กนง. ประชุมนัดแรกของปี 2566
- คลอดแล้ว! เกณฑ์ ‘Virtual Bank’ ธปท. จำกัดไลเซนส์แค่ 3 ราย เผยมีผู้สนใจแล้ว 10 ราย เล็งประกาศผลกลางปีหน้าก่อนเริ่มให้บริการจริงปี 68
ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธ.ก.ส. จึงได้มีมติปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 0.05-0.60% ต่อปี เพื่อส่งเสริมการออมและเพิ่มผลตอบแทนให้ผู้ฝากได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท 0.25% ต่อปี ประกอบด้วย อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายคนชั้นดี (MRR) จาก 6.625% ปรับขึ้นเป็น 6.875% อัตราดอกเบี้ยลูกค้าสถาบันและนิติบุคคลชั้นดี (MLR) จาก 5.125% ปรับขึ้นเป็น 5.375% และอัตราดอกเบี้ยประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) จาก 6.50% ปรับขึ้นเป็น 6.750% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการแบ่งเบาและลดภาระของเกษตรกรที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด และผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ธ.ก.ส. ยังมีสินเชื่อในโครงการพิเศษต่างๆ ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าดอกเบี้ยปกติ เช่น สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 สินเชื่อ SME เสริมแกร่ง สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ อัตราดอกเบี้ย 4% เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีมาตรการในการดูแลและช่วยเหลือลูกค้าที่มีปัญหาหนี้สินแบบครบวงจร ประกอบด้วย มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มาตรการฟื้นฟูอาชีพ มาตรการจ่ายดอกตัดต้น มาตรการจ่ายต้นปรับงวด เพื่อลดความกังวลใจในเรื่องหนี้ การให้คำปรึกษาด้านการจัดการหนี้ทั้งในและนอกระบบ การสนับสนุนให้ลูกค้าบริหารจัดการหนี้ผ่านแนวทางมีน้อยจ่ายน้อย มีมากจ่ายมาก พร้อมสร้างแรงจูงใจโดยคืนหรือลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับผู้ที่ชำระหนี้ เป็นต้น เพื่อให้เกษตรกรลูกค้ามีกำลังใจในการแก้ไขปัญหาหนี้ของตนเอง ควบคู่กับการเติมสินเชื่อใหม่ ภายใต้อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายและการลงทุน เพื่อนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
กรุงไทยส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยตาม กนง.
ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า การปรับขึ้นของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ถือเป็นการส่งผ่านสัญญาณให้กับธนาคารพาณิชย์ต่างๆ แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแต่ละแห่งนั้นจะเป็นไปตามกลไกของตลาด เนื่องจากต้นทุนของแต่ละธนาคารมีความแตกต่างกัน
ในส่วนของธนาคารกรุงไทยหากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร จะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งสองขา ทั้งเงินฝากและสินเชื่อ สำหรับดอกเบี้ยสินเชื่อก็จะมีการพิจารณาในแต่ละกลุ่ม เพราะมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มเปราะบางที่ธนาคารยังให้ความสำคัญเป็นพิเศษและพร้อมให้ความช่วยเหลือ
“เราจำเป็นต้องดูกลไกตลาด หากตลาดปรับดอกเบี้ยขึ้น ธนาคารก็คงต้องปรับขึ้นตาม ต้องส่งผ่าน เพราะสภาพคล่องเป็นเรื่องที่ต้องบริหารจัดการและจะเกี่ยวข้องกับการไหลเข้าออกของเงิน” ผยงกล่าว
นอกจากนี้ผยงยังแสดงความเชื่อมั่นว่าจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้นกับธนาคารพาณิชย์ไทยซ้ำรอยวิกฤตที่เกิดขึ้นกับธนาคารบางส่วนในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากปัจจุบันระบบธนาคารไทยมีเสถียรภาพค่อนข้างมาก มีความแข็งแรงจากการมีบทเรียนของวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ทำให้หน่วยงานกำกับการเงินให้ความสำคัญมาก เห็นได้จากระดับเงินกองทุนของสถาบันการเงินแต่ละแห่งที่อยู่ในระดับสูงมาก ขณะเดียวกัน หน่วยงานกำกับดูแลของไทยยังมีความเข้มงวดในการดูแล โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ รวมถึงคริปโตเคอร์เรนซี