Axie Infinity ผู้นำเกมบนโลกบล็อกเชน ที่บุกเบิกคอนเซปต์ ‘Play-to-Earn’ เข้ากับโลกบล็อกเชน สะท้อนผ่านรายได้ของเดือนกันยายน 2021 ที่ Axie ทำได้ถึง 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6.6 พันล้านบาท แม้จะลดลงไปบ้างจากจากช่วงเดือนก่อนหน้าที่มีรายได้ราว 342 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 1 หมื่นล้านบาท แต่รายได้ในเดือนกันยายน นับเป็นการเติบโตถึง 3,000 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ท่ามกลางโปรเจกต์บล็อกเชนที่เกิดขึ้นราวกับดอกเห็ด Axie Infinity สามารถทำรายได้ประจำเดือนเป็นรองเพียงแค่ Ethereum ซึ่งมีรายได้สูงถึง 830 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.4 หมื่นล้านบาท โดยความนิยมดังกล่าวนั้นคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากคอนเซปต์ ‘Play-to-Earn’ (P2E) ซึ่งทำรายได้ให้ผู้ใช้งานสูงกว่ารายได้จาก ‘DeFi’ อย่าง Aave, Compound, Curve หรือ Sushiswap
เริ่มมีคำถามว่าคอนเซปต์ ‘Play-to-Earn’ ต่างจากเเชร์ลูกโซ่ที่นำเงินคนเก่ามาจ่ายคนใหม่อย่างไร?
ก่อนจะตอบคำถามดังกล่าวได้ ก็ต้องย้อนกลับไปดูที่ ‘โมเดล P2E ของ Axie’ ว่าทำให้ผู้คนสามารถหารายได้ได้อย่างไร
โดยคอนเซปต์ P2E นั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะเกมในอดีตอย่าง World of Warcraft หรือเกมดังอื่นๆ ก็สามารถทำรายได้ให้กับผู้เล่นจากการซื้อขายไอเท็มระหว่างกันได้อยู่แล้ว เพียงแต่ปัญหาก็คือ ความยุ่งยากในการซื้อขายของรูปแบบดังกล่าว เพราะต้องให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาดำเนินการนอกระบบนิเวศของเกม
แต่สำหรับ Axie Infinity ที่มองเห็นปัญหาเหล่านั้นของผู้เล่นเกม และข้อดีของบล็อกเชน จึงนำองค์ประกอบทั้งสองอย่างมาผนวกกัน เมื่อผู้เล่นเล่นเกมบน Axie และได้รางวัลเป็นโทเคนประจำของเกม ประกอบด้วยโทเคน AXS, SLP หรือสินทรัพย์บนเกม (เช่น ตัวละครในเกม เป็นต้น) ก็สามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินดอลลาร์ หรือตามสกุลเงินที่มีให้แลกเปลี่ยนในแพลตฟอร์มเอ็กซ์เชนจ์ (Exchange)
โดยมูลค่าของโทเคน หรือสินทรัพย์ที่อยู่ภายในเกม จะมีมูลค่าสูงหรือต่ำก็ตามแต่ความต้องการในระบบนิเวศ เฉกเช่นเดียวกับสินทรัพย์ทุกอย่างบนโลก
ดังนั้นก็สามารถย้อนกลับไปที่คำถามได้ว่า เป็นการนำเงินคนใหม่มาจ่ายคนเก่าดังเช่นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ คำตอบก็คือ ดูจะไม่ได้มีลักษณะนั้นเสียทีเดียว หากแต่เป็นตามความพอใจของผู้ซื้อและผู้ขายในสินทรัพย์ภายในเกม หรือโทเคนในเกม เพียงแต่ว่าเมื่อมีคนบางกลุ่มสามารถทำกำไรได้ ก็ย่อมมีคนซื้อต้องการซื้อในราคาที่สูงขึ้นไปเพื่อหวังเก็งกำไร และทำอย่างต่อเนื่องไปจนถึงจุดหนึ่งที่ไม่มีผู้ซื้อต่อไปอีก ก็อาจนำไปสู่ภาวะ ‘ฟองสบู่’ และสุดท้ายก็อาจจะแตกหรือระเบิดขึ้นมาได้ในท้ายที่สุด
แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าผู้เล่นเกิดลดจำนวนลง ก็หมายความว่าความต้องการของโทเคนภายในเกม หรือสินทรัพย์ในเกมลดลงตามไปด้วย มูลค่าของโทเคนและสินทรัพย์ภายในเกมก็ย่อมลดลงตาม ซึ่งเข้าหลักการ ‘ดีมานด์-ซัพพลาย’ สุดท้ายสินทรัพย์ดังกล่าวอาจจะไม่เหลือค่าอะไรเลยก็ได้ ซึ่งนี่ถือเป็นความเสี่ยงของเกมประเภทนี้
โมเดลรายได้ของ Axie Infinity เป็นอย่างไร?
โมเดลรายได้หลักของเกม ‘Axie Infinity’ เกิดจาก 85% เป็นรายได้จากการผสมสัตว์เลี้ยงในเกมที่ 2 AXS ต่อครั้ง (ราคา AXS ณ 15 กันยายน อยู่ที่ราว 4,200 บาทต่อโทเคน) และ 15% เป็น ‘การคิดค่าธรรมเนียม’ ที่ 4.25% ระหว่างการซื้อขายระหว่างกัน (ตัวละครของเกม) ของผู้เล่นในมาร์เก็ตเพลสของเกม ซึ่งหมายความว่ายิ่งมีการซื้อขายในแพลตฟอร์มสูงเท่าไร รายได้ของเกมก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย
โอกาสการเติบโต
อุตสาหกรรมเกมนั้นมีขนาดถึง 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6 ล้านล้านบาท) ในขณะที่มูลค่าการซื้อขาย NFT อยู่แค่เพียง 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ครึ่งปีแรกของ 2021 ในขณะที่ปีที่แล้วมีขนาดเพียง 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นเอง) ซึ่งมีขนาดเพียงแค่ 1.4% เท่านั้น เท่ากับว่ายังมีช่องว่างให้เติบโตอีกหลายสิบเท่า
โดย Axie ซึ่งเป็นเกมภายใต้สตูดิโอ Sky Mavis ที่เพิ่งระดมทุนรอบ Series B ไปเร็วๆ นี้ ยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนารูปแบบเกมที่ตอบโจทย์ผู้เล่นให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และสร้างเกมที่มีความหลายหลาย รวมถึงพยายามที่จะสร้างระบบนิเวศให้สามารถต่อยอดเพิ่มขึ้นไปจาก Axie Infinity ซึ่งก็ชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการเติบโตในอนาคตที่สดใสเลยทีเดียว แต่คนที่คิดจะลงทุนกับเกมนี้ต้องไม่ลืมว่า หากในอนาคตความนิยมของตัวเกมลดลง สินทรัพย์ภายในเกมก็จะด้อยค่าตามไปด้วย จุดนี้ถือเป็นความเสี่ยงที่พึงต้องระวังในระยะยาว
อ้างอิง: