×

AWS เปิดตัว Data Center แล้ว ย้ำลงทุนมูลค่า 1.7 แสนล้านบาทในไทยช่วง 15 ปีจากนี้ คาดจ้างงานหมื่นตำแหน่งต่อปี ดัน GDP เพิ่ม 3 แสนล้านบาท

09.01.2025
  • LOADING...

นับตั้งแต่การประกาศการลงทุนระยะยาวด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์ครั้งแรกในปี 2022 ด้วยเม็ดเงินมูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ วันนี้ Amazon Web Services หรือ AWS บริษัทในเครือของ Amazon.com ประกาศเปิดตัว AWS Asia Pacific (Thailand) Region อย่างเป็นทางการแล้ว 

 

การเปิดตัวครั้งนี้จะเพิ่มทางเลือกให้กับหลายภาคส่วน ทั้งนักพัฒนา องค์กรธุรกิจ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่จะมีตัวเลือกมากขึ้นในการใช้งานแอปพลิเคชันและให้บริการลูกค้าผ่านศูนย์ข้อมูลของ AWS ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย

 

สำหรับเม็ดเงินลงทุน 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.73 แสนล้านบาท) ทาง AWS ระบุว่าจะทยอยใช้ใน 15 ปี เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการสร้างศูนย์ข้อมูล (Data Center), การดำเนินงาน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

 

AWS คาดว่า AWS Region แห่งใหม่ในประเทศไทยจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ โดยมูลค่า GDP ของประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งจะช่วยสนับสนุนการจ้างงานเต็มเวลาเฉลี่ยกว่า 11,000 ตำแหน่งต่อปีในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การก่อสร้าง การดูแลรักษาอาคาร วิศวกรรม โทรคมนาคม และอื่นๆ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

แล้ว AWS Region คืออะไร?

 

AWS Region คือตำแหน่งที่ตั้งของศูนย์ข้อมูลสำหรับให้บริการด้านคลาวด์ของ AWS โดยแต่ละ Region จะประกอบด้วย ‘Availability Zones’ (AZs) ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลที่แยกจากกัน แต่สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ด้วยเครือข่ายความเร็วสูงเพื่อความเสถียร โดย AWS Asia Pacific (Thailand) Region ของประเทศไทยมี AZs ทั้งหมด 3 แห่งที่ตั้งอยู่ห่างกันมากพอที่จะให้บริการได้อย่างครอบคลุม แต่ก็ใกล้พอที่จะทำให้ความหน่วงของการใช้งานอยู่ในระดับต่ำสำหรับแอปพลิเคชันที่ต้องการความพร้อมใช้งานสูง

 

อย่างไรก็ตาม AWS ไม่ใช่ผู้เล่นเพียงรายเดียวที่ทำธุรกิจคลาวด์ในประเทศไทย เพราะก่อนหน้านี้ในปี 2024 ไทยก็มีบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง Microsoft ที่ สัตยา นาเดลลา เดินทางมาด้วยตัวเอง พร้อมทั้งประกาศตั้งศูนย์ข้อมูลในประเทศไทย แม้จะยังไม่มีการระบุตัวเลขการลงทุนที่ชัดเจนก็ตาม อีกทั้งยังมี Google ที่ประกาศการลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท) ในศูนย์ข้อมูลที่ประเทศไทยเช่นเดียวกัน

 

นอกจากนี้ยังมีผู้เล่นรายอื่น เช่น Alibaba Cloud ที่ให้บริการคลาวด์ในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2022 แล้ว หรือผู้ประกอบการท้องถิ่น True IDC ที่ก็ต้องการขยายศูนย์ข้อมูลเพื่อรองรับความต้องการในตลาด ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า แล้ว AWS วางตัวเองในตลาดที่มีแนวโน้มแข่งขันกันอย่างเข้มข้นนี้อย่างไร

 

วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กล่าวถึงภาพรวมตลาดคลาวด์ของประเทศไทยในปัจจุบันว่า “ทุกวันนี้ลูกค้าในไทยที่มีการนำคลาวด์ไปใช้ในการต่อยอดให้บริการทางธุรกิจมีเพียง 5-10% ฉะนั้นเรามั่นใจว่าการที่ AWS ลงทุนใน AWS Asia Pacific (Thailand) Region ในประเทศไทยนี้ จะช่วยให้เราจับลูกค้ากลุ่มองค์กรอีก 90% ที่ยังไม่ได้ใช้คลาวด์มาได้”

 

อีก 90% ผู้ที่ยังไม่ใช้คลาวด์คือกลุ่มธุรกิจหลากหลายประเภทเลยที่วัตสันยังมองว่าเป็นโอกาสในตลาดนี้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการตอบโจทย์ลูกค้าโดยผู้ให้บริการ 

 

แม้ว่าไทยจะมีผู้เล่นในตลาดหลายราย แต่วัตสันเชื่อว่า AWS ที่ให้บริการด้านคลาวด์มากว่า 20 ปีแล้ว และบริการที่ครอบคลุมกว่า 240 บริการ ซึ่งทิ้งห่างผู้ให้บริการรายอื่นๆ เยอะมาก คือจุดที่สร้างความแตกต่างให้กับ AWS ที่ให้ลูกค้าเลือกบริการที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนได้ง่ายกว่า 

 

อีกหนึ่งจุดต่างที่วัตสันกล่าวว่า AWS มอบให้คือ การให้บริการที่มีความปลอดภัยสูงกว่าผู้ให้บริการรายอื่นในอุตสาหกรรม และที่สำคัญ AWS มีกลุ่มลูกค้าจำนวนมากที่ได้นำคลาวด์ไปใช้ในธุรกิจของพวกเขา ซึ่งทำให้บริษัทสามารถพัฒนานวัตกรรมและบริการให้ดีขึ้นได้

 

ปัจจุบันลูกค้าในไทยของ AWS มีทั้ง 2C2P, Ascend Money, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, เครือเจริญโภคภัณฑ์ (C.P. Group) และบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือหน่วยงานรัฐของไทย เช่น สถาบันวิจัยข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI, สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เพื่อการแพทย์ด้านจิตเวช หรือ AIMET รวมทั้งสตาร์ทอัพในไทย เช่น Botnoi Group, FlowAccount, POMELO fashion และ Sunday Technology

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X