สัปดาห์นี้เรื่องที่สร้างความขวัญหนีดีฝ่อให้กับนักลงทุน คือการดิ่งลงของราคาหุ้นบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ที่ปรับตัวลดลงอย่างหนักจนหลุดจากราคาจองซื้อ IPO 6 บาท (ราคาเสนอขายนักลงทุนทั่วไปครั้งแรก) เป็นครั้งแรกหลังจากหมดโครงการ Greenshoe Option เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
โครงการดังกล่าว เป็นการซื้อเพื่อส่งมอบหุ้น AWC ที่จัดสรรเกินคืนให้กับ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี โดยการ ‘ซื้อคืน’ ต้องทำเมื่อราคาหุ้นต่ำกว่า 6 บาท ตั้งแต่วันที่หุ้นเข้าซื้อขายจนถึงวันที่ 7 พฤศจิกายนเท่านั้น นั่นเป็นเหตุผลให้ตลอดระยะเวลาที่เข้าโครงการรองเท้าสีเขียว AWC มีตัวช่วยพยุงราคาเอาไว้
เจ้าสัวเจริญ และ คุณหญิงวรรณา ผู้ถือหุ้นใหญ่ AWC เดินทางมาร่วมพิธีซื้อขายวันแรกที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
หลังจากหมดรองเท้าสีเขียวพยุงราคาแล้ว วันที่ 11 พฤศจิกายนที่ไม่มี Greenshoe Option พยุงราคาอีกต่อไป ปรากฏว่า ราคาหุ้น AWC หลุดจอง 6 บาททันที นั่นเป็นเหตุผลสำคัญ และอีกหลายๆ ปัจจัยที่นักลงทุนเฝ้าติดตาม
นับจากวันที่ 11 พฤศจิกายนถึงล่าสุดวันที่ 13 พฤศจิกายน ราคา AWC ยังต่ำจองมาเรื่อยๆ ซึ่งราคาปิดครั้งสุดท้ายวันที่ 13 พฤศจิกายน ราคาอยู่ที่ 5.35 บาท ต่ำจองแล้ว 0.65 บาท หรือ 10.83 % จากราคา IPO หากคิดเป็นสัดส่วนราคาต่อกำไร (PE) สูงถึง 247.48 เท่า เพราะความกลัวระยะสั้นมีมากกว่าความหวังในระยะยาว เนื่องมาจากต้นทุนที่นักลงทุนกอดไว้ในมือนั้น ‘แพงลิบลิ่ว’
AWC หุ้นในเครือข่ายเบียร์ช้างของเศรษฐีโลก เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เข้าซื้อขายมาตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคมตามข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยล่าสุด ณ วันที่ 8 ตุลาคม 2562 หุ้นนี้อยู่ในมือนักลงทุนรายย่อยถึง 16,844 ราย หรือ 25.81% ของหุ้นทั้งหมด
อนาคต AWC หุ้นใหญ่ที่ถือหุ้นบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มโรงแรมและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ที่มีบริษัทย่อยซึ่งสร้างกำไร 12 บริษัท เป็นที่รู้กันดีว่าราคาหุ้นจองที่แพงถึง 6 บาทหรือสัดส่วนราคาต่อกำไร (PE) สูงถึง 277-286 เท่านั้น แพงกว่าราคาหุ้นในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ PE เพียง 30-40 เท่า เพราะเป็นการคาดหวังผลตอบแทนที่จะได้ในระยะยาว 2-3 ปี ไม่ใช่ระยะสั้นเพียง 1 เดือน ดังนั้นนักลงทุนต้องอดเปรี้ยวไว้กินหวานในอนาคต
ราคาหุ้นลงไม่ใช่เรื่องแปลก
AWC ราคาดิ่งลงต่ำกว่าราคาจองเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมาที่เป็นวันแรกสิ้นสุด ‘ระยะปลอดภัย’ หรือวันที่ไม่มี ‘Greenshoe Option’ (การซื้อหุ้นคืนส่วนเกินที่นำมาจัดสรรขายนักลงทุนทั่วไป) จำนวน 1,043 ล้านหุ้นหรือ 27% ของทุนจดทะเบียน ที่ยืมมาจากเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อนำมาพยุงราคาหุ้นกรณีหุ้นราคาปรับตัวลดลงต่ำกว่าราคาจอง
แต่ 30 วันทำการที่ผ่านมา บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ผู้ดูแล Greenshoe Option ไม่ได้ซื้อหุ้นคืนเจ้าสัวเจริญ หรือพูดง่ายๆ ว่าไม่ได้ใช้ประโยชน์จาก Greenshoe Option เลย เพราะราคาหุ้นระหว่างนั้นไม่ต่ำกว่า 6 บาท Greenshoe Option จึงเป็นจิตวิทยาสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนว่า มีผู้ดูแลราคาหุ้น ไม่ให้ต่ำกว่าราคาจองอย่างแน่นอน
ประกอบกับความใหญ่ของมูลค่าตลาดรวมของ AWC ณ ราคา IPO กว่า 1.92 แสนล้านบาท ทำให้ AWC เลื่อนชั้นเข้าคำนวณดัชนี SET 50 และ SET 100 ของตลาดหลักทรัพย์ทันทีตั้งแต่วันแรกที่หุ้นเข้าเทรด รวมทั้งข่าวการซื้อหุ้นของกองทุนส่วนบุคคลขนาดใหญ่ของสิงคโปร์ GIC Private Limited เข้าถือหุ้น 7.41% สร้างความมั่นใจให้นักลงทุนยิ่งขึ้น และบนความคาดหวังที่หุ้นจะเข้าคำนวณดัชนี MSCI ทำให้นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไร ไล่ราคาไปสูงสุด 6.80 บาท ภายในเวลา 2 สัปดาห์หลังจากเข้าเทรด
แม้นักลงทุนจะกลัวเรื่องผู้ถือหุ้นใหญ่ทิ้งหุ้น เหมือนการขายหุ้นให้ GIC Private Limited ของสิงค์โปร์ หลังจากหุ้นเข้าซื้อขายได้ 1 สัปดาห์ ในขณะที่สัดส่วนหุ้นของผู้ที่มีส่วนร่วมในการบริหารไม่ติดระยะเวลาห้ามขาย (Silent Period) และหุ้นไม่ติดโผการคำนวณของดัชนี MSCI Global Standard อย่างที่คาดหวังเมื่อผลประกาศออกมาในวันเดียวกับที่ไม่มี Greenshoe Option ราคาหุ้นจึงหลุด 6 บาทอย่างรวดเร็ว
แม้รู้ว่า ‘เสี่ยง’ แต่เต็มใจลงทุน
แม้ว่าราคา AWC จะเปิดตัวมาแพง แต่นักลงทุนก็แห่ซื้อ เพราะเชื่อว่าหุ้นจะไปต่อด้วยเหตุผลหลายประการ
ประการแรก ‘ความน่าเชื่อถือของผู้ถือหุ้นใหญ่และผลการดำเนินงานที่ผ่านมา’ โดยเจ้าสัวเจริญ เป็นถึงเศรษฐีระดับโลก ที่เป็นเจ้าของธุรกิจเบียร์ช้าง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง เป็นต้น อีกทั้งประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจอย่างมาก
วัลลภา ไตรโสรัส ลูกสาวคนที่สองผู้รั้งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC ให้สัมภาษณ์ว่า จะนำเงินที่ระดมได้ไปซื้อกิจการธุรกิจโรงแรม 12 แห่ง เป็นโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 4 แห่ง โรงแรมกำลังดำเนินการพัฒนา 6 แห่ง และอสังหาริมทรัพย์มิกซ์ยูสที่กำลังพัฒนา 2 แห่ง ที่เหลือจะนำไปชำระเงินกู้และพัฒนาทรัพย์สิน
นอกจากนั้น ผลการดำเนินงานในอดีต 3 ปี ย้อนหลังของบริษัทนี้จัดว่าเติบโตแบบก้าวกระโดดมาตลอดคือ
กำไรสุทธิล่าสุด 6 เดือนแรก ปีนี้ 366.65 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 119.52% จากช่วงเดียวกันของปี 2561
ขณะที่กำไรสุทธิปี 2561 เท่ากับ 469.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 747.75% จากปี 2560
และกำไรสุทธิปี 2560 ที่ 1,372 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.24% จากปี 2559 ที่มีกำไรสุทธิ 2,890 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากปี 2558 อีกทั้งนโยบายจ่ายเงินปันผลก็ไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิ
วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC
ประการที่สอง ‘ความใหญ่ของหุ้น AWC’ ที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) สูงกว่าช่วงเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประมาณ 2 แสนล้านบาท จนถึงขณะนี้ ก็ยังสูงถึง 165,619.95 ล้านบาท กลายเป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่ที่เข้าซื้อขายใน SET50 ที่ถูกคาดหวังจะเข้าคำนวณดัชนี MSCI Global Standard
ความใหญ่ของหุ้นนี้ทำให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่ลงทุนตามดัชนี (Passive Fund และ Index Fund) รวม 8 แห่ง 17 กองทุน รวมสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) 90% ของอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับพอร์ตโดยซื้อหุ้นนี้เข้าไปในพอร์ตเพื่อให้หุ้นมีน้ำหนักใกล้เคียง SET50 ตอนนั้นมีการคาดการณ์ด้วยซ้ำว่าหุ้นจะใหญ่ติด 1 ใน 20 อันดับแรกรับประกันราคา 1 เดือน
แม้ว่าวันแรกของการเข้าซื้อขายในตลาดฯ วันที่ 10 ตุลาคม 2562 ราคาปิดยังยืนเหนือจองได้ที่ 6.05 บาท หลังจากนั้นราคาพุ่งขึ้นไปสูงสุด 6.80 บาท เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 เนื่องมาจากการซื้อล็อตใหญ่หรือบิ๊กล็อตของ Gic Private Limited สิงคโปร์ จำนวน 7.4191% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 5 ของบริษัท ก่อนที่หุ้นจะถูกเททิ้งในวันต่อมา หลังจากนั้นราคาทรงตัวอยู่ที่ประมาณกว่า 6 บาทมาโดยตลอด
นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด ประเมินราคาหุ้นที่เหมาะสมของ AWC ในปี 2562 ว่าจะอยู่ที่ 6.19-6.47 บาทตามผลกำไรสุทธิที่คาดว่าจะทำได้ 1,400 ล้านบาทหรือเติบโต 210% จากปี 2561 อันเนื่องมาจากรายได้ประจำที่มีอยู่ ด้าน บริษัท หลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประเมินราคาที่เหมาะสม 6.05-6.55 บาท บริษัท หลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ประเมินราคาที่เหมาะสม 6-7.15 บาท บริษัทหลักทรัพย์ธนชาต จำกัด (มหาชน) ให้ราคาที่เหมาะสม 5.93-6.56 บาท
หมด ‘Greenshoe Option’ พร้อมกับหลุดโผ MSCI
ท่ามกลางกระแสหวาดหวั่นว่าจะมีการทิ้งหุ้นล็อตใหญ่ออกมาเพราะไม่มีระยะเวลาการห้ามซื้อขายสำหรับผู้มีส่วนร่วมในการบริหาร แต่หากปัจจัยพื้นฐานของหุ้นนี้แกร่งจริงดังที่โบรกเกอร์คาดความหวังของนักลงทุนที่ติดดอยก็ยังคงหลงเหลืออยู่
AWC แจ้งผลการดำเนินไตรมาส 3 ปี 2562 และ 9 เดือนแรก ปีนี้ออกมายังมีกำไรก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ายังห่างไกลจากประมาณการกำไรสุทธิ 1,400 ล้านบาท ตามที่นักวิเคราะห์บางแห่งคาดหมาย โดยไตรมาส 3 ปี 2562 AWC มีกำไรสุทธิ 205 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 610 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ 9 เดือนแรกปีนี้มีกำไรสุทธิ 572 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 190% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ดร.กานต์ ปฏิเวธวรรณกิจ หัวหน้าคณะสายงานบัญชีและการเงิน AWC ชี้แจงว่า การที่กำไรในงวดดังกล่าวเติบโตมาก เป็นเพราะธุรกิจโรงแรมมีผลการดำเนินงานที่ดี แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากฤดูกาลท่องเที่ยว และการแข่งขันด้านราคาในประเทศ ไทย แต่ศักยภาพสินทรัพย์ของบริษัทมีการเติบโต จากการพัฒนาแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการโดยเฉพาะโรงแรม แบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค ที่เป็นโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดที่ทั้งกำไรและรายได้เฉลี่ยต่อห้องพักเพิ่มขึ้น
นอกจากนั้น อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ยังมีรายได้จากโครงการเกทเวย์ แอท บางซื่อ และลาซาล อเวนิว และอาคารสำนักงานเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ ที่ส่งผลดีต่อกำไร ในขณะที่ต้นทุนดำเนินการลดลง 37.2% โดยยังไม่รวมการเพิ่มทุน ขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO)
สำหรับการเข้า MSCI นั้น นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด มีมุมมองว่า การปรับพอร์ตรอบหน้าในเดือนพฤษภาคม ปี 2563 หุ้น AWC ยังมีโอกาสที่จะถูกนำเข้าคำนวณดัชนี MSCI Global Standard ซึ่งนี่เป็นดัชนีอ้างอิงของบริษัท Morgan Stanley Capital International (MSCI) ซึ่งเป็นบริษัททำดัชนีราคาหุ้นชั้นนำของโลก ทำขึ้นมาเพื่อเป็นเกณฑ์มาตรฐานให้กับนักลงทุนต่างประเทศ ในการคัดเลือกหุ้นและผลตอบแทน
เมื่อความเชื่อมั่นหลักยังอยู่ ความกลัวเรื่องการเทขายหุ้นล็อตใหญ่อาจบรรเทาเบาบางลงไปได้ กรณีเลวร้ายที่สุด หากผลการดำเนินงานไม่เป็นดังที่คาด ก็คือคิดเสียว่าลงทุนระยะยาว 2-3 ปี
อย่างไรเสียหุ้นนี้ก็คงเป็นหุ้นปัจจัยพื้นฐานอย่างแน่นอน เพียงแต่ผลงานไม่ติดจรวดทันใจนักลงทุนเท่านั้นเอง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: รวบรวมข้อมูลจากนักวิเคราะห์ในตลาดหุ้น
วิเคราะห์โอกาส และความเสี่ยง ของ AWC
โอกาส
1. ผลการดำเนินงานเป็นไปตามที่โบรกเกอร์คาด
2. เข้าคำนวณ MSCI Global Standard ปี 2563
3. ผู้มีส่วนร่วมบริหารยืนยันไม่ขาย
ความเสี่ยง
1. ผลดำเนินงานไม่เป็นไปตามคาด
2. หลุดโผดัชนี MSCI Global Standard อีกรอบ
3. กลัวหุ้นถูกเทขายล็อตใหญ่จากผู้มีส่วนร่วมบริหาร