×

รู้จักยานเกราะ AWAV 8×8 ฝีมือคนไทย เล็งทำตลาดต่างประเทศ ยกระดับอุตสาหกรรมป้องกันไทย

07.10.2024
  • LOADING...

เราคงได้เห็นภาพยานเกราะล้อยาง AWAV 8×8 ที่เข้าประจำการในกองพันรถสะเทินน้ำสะเทินบก กองพลนาวิกโยธิน กองทัพเรือ แล้วจำนวน 7 คันเมื่อสัปดาห์ก่อน ถือเป็นยานเกราะฝีมือคนไทยที่มีขีดความสามารถสูง ซึ่งออกแบบและพัฒนาโดยคนไทย และเข้าประจำการในกองทัพไทย

 

เบื้องหลังการจัดหาในครั้งนี้เกิดขึ้นจากโครงการจัดหายานเกราะสะเทินน้ำสะเทินบกของกองทัพเรือจำนวน 7 คัน มูลค่า 448 ล้านบาท ที่มีข้อกำหนดให้เอกชนที่เข้าแข่งขันและเสนอแบบยานเกราะต้องเป็นเอกชนไทย และยานเกราะที่เสนอต้องเป็นยานเกราะที่ออกแบบในประเทศไทย โดยมีสามบริษัทเข้าเสนอ คือ ยานเกราะ R600 ของบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด, ยานเกราะ AAPC ของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และยานเกราะ AWAV ของบริษัท ชัยเสรี เม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด ซึ่งจากการคัดเลือกแบบและประเมินคุณสมบัติต่างๆ ทำให้ AWAV 8×8 ได้รับสัญญาไปในที่สุด

 

 

ชัยเสรีได้องค์ความรู้จากรถเกราะ 4×4 ในตระกูล First Win ที่ประสบความสำเร็จในการขายทั้งในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น ภูฏาน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย และยังมีประสบการณ์จากการปรับปรุงเสริมสมรรถนะของรถสายพานลำเลียงพลสะเทินน้ำสะเทินบกแบบ AAVP-7A1 ของหน่วยนาวิกโยธินเป็นมาตรฐานเทียบเท่า AAV-7A1 RAM/RS ซึ่งทำให้ชัยเสรีนำรถ AAV มาเป็นตัวเปรียบเทียบหรือ Benchmark เพื่อพัฒนาแผนแบบของ AWAV 8×8 ที่เป็นการออกแบบโดยชัยเสรี และดำเนินการประกอบสร้างตัวรถทั้งหมดในประเทศไทย

 

AWAV มาจากคำว่า Armored Wheel Amphibious Vehicle มีขีดความสามารถในการปฏิบัติงานทั้งบนบกและในทะเล สามารถออกปฏิบัติงานร่วมกับเรือยกพลขึ้นบกแบบต่างๆ ที่มีอยู่ในประจำการของกองทัพเรือ เพื่อนำส่งกำลังพลจากเรือขึ้นสู่ฝั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยระบบขับเคลื่อนในตัวรถเอง

 

 

คุณสมบัติของ AWAV นั้นสามารถลำเลียงกำลังพลพร้อมอุปกรณ์ได้ 11 นาย (ไม่นับรวมพลประจำรถ 3 นาย) ขับเคลื่อนได้ทั้งบนบกและในทะเล ทำความเร็วบนถนนได้ที่ 105 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เครื่องยนต์ขนาด 711 แรงม้า เมื่อทำการเคลื่อนที่ในทะเลใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยระบบ Water Jet ขนาดใหญ่ 2 ชุดที่ด้านท้ายรถ สามารถแล่นในทะเลได้ที่ความเร็วในน้ำ 12 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

ระบบอาวุธใช้ป้อมปืนอัตโนมัติ Guardian 1.5 ของบริษัท EM&E ซึ่งเป็นผู้ผลิตในสเปน และเป็นครั้งแรกที่บริษัทชนะสัญญาในประเทศไทย โดยป้อมปืนเป็นป้อมปืนขนาดเบา ติดตั้งปืนขนาด .50 นิ้ว พร้อมระบบออปทรอนิกส์และอินฟราเรดสำหรับการปฏิบัติการทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน รวมถึงติดตั้งไจโร 2 แกนสำหรับสร้างเสถียรภาพเมื่อทำการยิงในทะเล น้ำหนักของป้อมไม่รวมอาวุธและกระสุนน้อยกว่า 165 กิโลกรัม โดยพลยิงสามารถทำการยิงได้จากด้านในของตัวรถ

 

ทั้งนี้ ณ ขั้นตอนการประกวดราคา กองทัพเรือไม่ได้กำหนดให้ยานเกราะที่เข้าแข่งขันต้องพร้อมสมบูรณ์ในทุกมิติ แต่สามารถพัฒนาได้หลังจากที่ได้รับเลือกแล้ว โดยกองทัพเรือจะดูจากขีดความสามารถ ประสบการณ์ และพื้นฐานเทคโนโลยีของผู้ชนะสัญญา ซึ่งจริงๆ นี่คือแนวทางที่ถูกต้องในการสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่ควรทำ

 

 

ดังนั้นเมื่อชัยเสรีได้รับสัญญาจัดหา จึงมีการพัฒนาและส่ง AWAV ทั้ง 7 คัน เข้าทดสอบจากคณะกรรมการตรวจรับพัสดุของกองทัพเรือ ซึ่งมีการทดสอบ เช่น การวิ่งทดสอบต่อเนื่องบนถนนระยะทาง 200 กิโลเมตร ระยะปฏิบัติการทางบก 800 กิโลเมตร การขับเคลื่อนในทะเลต่อเนื่อง 2 ชั่วโมง ระยะปฏิบัติการในน้ำ 12 ชั่วโมง การวิ่งทดสอบในสภาพภูมิประเทศ ตั้งแต่การวิ่งข้ามพื้นที่มีสิ่งกีดขวางไปจนถึงการวิ่งไต่พื้นที่ลาดชัน สามารถทำการวิ่งไต่พื้นที่สูงชันที่ 60 องศา ได้ตามเกณฑ์สมรรถนะที่กองทัพเรือได้กำหนดไว้ โดยบรรทุกน้ำหนัก 2,500 กิโลกรัมตลอดการทดสอบ รวมไปถึงการทดสอบระบบป้อมปืนควบคุมจากในตัวรถที่ทำการทดสอบยิงในรูปแบบต่างๆ โดยได้ค่าเฉลี่ยความแม่นยำในการยิงเข้าเป้าหมายได้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เมื่อผ่านการทดสอบแล้วกองทัพเรือจึงยอมรับและรับมอบเข้าประจำการ

 

 

การที่กองทัพเรือนำ AWAV 8×8 เข้าประจำการในครั้งนี้จึงถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการที่กองทัพเรือสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย อีกทั้งยังเป็นก้าวแรกในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดต่างประเทศว่ายานเกราะ AWAV 8×8 มีคุณภาพเพียงพอที่จะเข้าประจำการในกองทัพเรือไทย และจะถูกใช้งานไปอีกหลายปี ซึ่งจะการันตีว่าจะมีอะไหล่สนับสนุนตลอดอายุการใช้งาน ทำให้ลูกค้าต่างชาติมีความมั่นใจและสามารถพิจารณานำเข้าประจำการได้ โดยชัยเสรีกล่าวว่า ในไตรมาส 4 จะเริ่มทำการประชาสัมพันธ์และทำตลาดในต่างประเทศ โดยเริ่มที่งาน Indo Defence ประเทศอินโดนีเซีย ในเดือนพฤศจิกายนนี้

 

กานต์ กุลหิรัญ กรรมการผู้จัดการบริษัท ชัยเสรี เม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า ชัยเสรีจะเน้นทำการตลาดยานเกราะ AWAV 8×8 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อน ซึ่งหลักๆ จะเป็นประเทศที่ติดทะเลและมีกองกำลังนาวิกโยธินสำหรับใช้งานยานเกราะสะเทินน้ำสะเทินบกนี้ โดยลูกค้าที่เป็นไปได้มีทั้งอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ หลังจากนั้นค่อยขยายตลาดไปยังภูมิภาคอื่นๆ ต่อไป

 

ในมุมมองเรื่องการยกระดับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยนั้น กานต์กล่าวว่า อุตสาหกรรมป้องกันประเทศมีซัพพลายเชนที่ยาวมาก ส่งต่อหลายมือ ตั้งแต่การผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ ไปจนถึงการซ่อมบำรุง ดังนั้นจึงมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงมาก ด้วยเหตุนี้จึงเล็งเห็นโอกาสที่การพัฒนาอุตสาหกรรมนี้จะช่วยดึงเม็ดเงินเข้าประเทศได้อย่างมหาศาลและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

 

ทั้งนี้ กองพันรถสะเทินน้ำสะเทินบกยังมีความต้องการยานเกราะเพิ่มเติม ทั้งทดแทนอัตราที่ยังขาดอยู่ รวมถึงทดแทนยานเกราะ AAV ในอนาคต ทำให้เชื่อว่าน่าจะมีคำสั่งซื้อเพิ่มเติมจากกองทัพเรือในอนาคต ซึ่งกานต์เผยว่า มีโอกาสที่จะขยายความร่วมมือกับกองทัพเรืออีก

 

 

ในมุมมองผู้เขียนนั้น โครงการในลักษณะนี้ทั้งรัฐบาลและกองทัพควรสนับสนุนเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างชาติได้ และที่สำคัญคือเป็นการลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการลดการนำเข้าอาวุธจากต่างประเทศเปลี่ยนมาเป็นการเพิ่มการจัดหาอาวุธในประเทศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของไทย และสร้างความมั่นคงของไทยให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

 

ภาพ: บริษัท ชัยเสรี เม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising