กลับมาอีกครั้งสำหรับเทศกาลไฟ Awakening Bangkok 2020 โดย Time Out Bangkok ในปีนี้เหล่าศิลปิน 25 คนได้รวมตัวกันสร้างสรรค์ผลงานมากกว่า 40 ชิ้น สำหรับเทศกาลไฟในย่านเจริญกรุง บางรัก ตลาดน้อย ตามจุดต่างๆ ตั้งแต่โรงภาพยนตร์ปรินซ์, อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก, บ้านโซวเฮงไถ่ และผดุงกรุงเกษม ภายใต้คอนเซปต์ RE/WIND/FAST/FORWARD
เป็นที่รู้กันดีว่าปี 2020 เป็นปีที่ผู้คนทั้งโลกได้เผชิญหน้าและต่อสู้กับโรคระบาดโควิด-19 ตลอดทั้งปี ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้ผ่านช่วงแห่งการล็อกดาวน์และ Social Distancing ถึงแม้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวหลายคนต้องอยู่กับความเครียด ความกลัว และความคิดถึง แต่ ณ เวลานั้นสำหรับใครหลายคนอาจทำให้ได้นึกย้อนไปยังจุดเริ่มต้น มีเวลาได้ทบทวนตัวเอง ทำความเข้าใจกับอะไรหลายๆ อย่าง เรียนรู้เพื่อก้าวต่อไปข้างหน้าบนโลกที่เปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ สิ่งเหล่านี้คือเรื่องราวที่ศิลปินทั้ง 25 คนได้ถ่ายทอดผ่านงานศิลปะในรูปแบบของไฟที่ซ่อนอยู่ตามจุดต่างๆ ในย่านเจริญกรุง ให้ทุกคนได้เดินชื่นชมงานศิลปะ พร้อมดื่มด่ำบรรยากาศในพื้นที่เก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ยังคงกลิ่นอายวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์
นอกจากนั้นภายในงานยังมี Johnnie Walker ที่มาเปิดตัวแคมเปญ ‘Keep Walking ให้ไกลกว่าเดิม’ เนื่องในโอกาสที่ Johnnie Walker ได้เดินทางมาไกลถึง 2 ศตวรรษ หรือครบรอบ 200 ปีแล้ว ซึ่งทางแบรนด์ก็ได้เตรียมความสนุกไว้มากมายภายในงาน ทั้งไอศกรีมสูตรใหม่จาก Guss Damn Good พร้อมด้วย Vesper Cocktail Bar ซึ่งเป็นบาร์ที่ติดอันดับ 11 บนเวที Asia’s 50 Best Bar 2020 มาร่วมรังสรรค์ค็อกเทลให้ทุกคนได้ชิมอีกด้วย
เทศกาลไฟ AWAKENING BANGKOK จัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2020 และบางชิ้นงานจะจัดแสดงถึงวันที่ 4 มกราคม 2021 ณ ย่านเจริญกรุง บางรัก ตลาดน้อย
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.timeout.com/bangkok/th
และทาง Facebook Time Out – กรุงเทพฯ
Distorted
Coth Studio x Nattapat
ตลาดน้อย
เป็นที่รู้ดีสำหรับทุกคนว่าย่านเจริญกรุงนั้นเต็มไปด้วย ‘น้องแมว’ ที่เดินนวยนาดผ่านตาอยู่ตลอดเส้นทาง ผลงานชิ้นนี้จึงสื่อถึงแมวที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่นี้ไปโดยปริยายไปแล้ว ซึ่งงานนี้ศิลปินได้จัดแจงแมวเหมียวในอิริยาบถต่างๆ ไว้กับรถเฟียตคันเก่าที่จอดอยู่ตรงนั้นมาเนิ่นนาน
Pebbles Project
Punpitan x Kimbab:)
Panita Bangkok
ความหลากหลายของเชื้อชาติ ศาสนา บุคลิก อัตลักษณ์ และตัวตนของผู้คนที่ไหลเวียนกันมาอาศัยอยู่ในย่านนี้ ถูกตีความออกมาในรูปแบบของ ‘ก้อนหิน’ เพราะแต่ละก้อนนั้นมีรูปทรงที่แตกต่างกัน หากแต่ไม่มีก้อนหินก้อนไหนที่ตั้งอยู่เดียวดาย ผลงานชิ้นนี้โดดเด่นและสวยงามด้วยโทนของแสงสีที่ส่องสว่างในตึกเก่า
Fragments
Cedric Arnold
Panita Bangkok
ศิลปินช่างภาพชาวฝรั่งเศส-อังกฤษคนนี้อาศัยอยู่ในย่านเจริญกรุงมากว่า 20 ปีแล้ว ผลงานภาพโปรเจกเตอร์สื่อถึงชิ้นส่วนของความทรงจำที่เริ่มจะเลือนลาง ด้วยการใช้ภาพถ่ายเมื่อ 20 ปีที่แล้วของเขามาตีความใหม่ด้วยการละลายรูปดังกล่าว ให้ดูเหมือนกับความทรงจำที่ค่อยๆ เสื่อมสลายไป และบางอย่างที่เคยจำได้อาจไม่เคยเกิดขึ้นจริง
Nostalgia Mapping
Whoop
Prince Theatre Heritage Stay
Overhead Projector ที่เคยใช้ในห้องเรียนสมัยก่อน ยังถูกใช้เพื่อสร้างซีนในคอนเสิร์ตเมื่อยุค 60-70 อีกด้วย งานชิ้นนี้เปิดโอกาสให้ทุกคนได้ร่วมสร้างศิลปะแบบไซเคเดลิกลงบนน้ำ และฉายขึ้นโปรเจกเตอร์ให้ได้ถ่ายรูปกัน นอกจากนั้นเราจะได้สัมผัสบรรยากาศด้วยเพลงยุค 60 ที่บรรเลงอยู่ในฉากหลัง
Dancing River
27 June Studio
บ้านริมน้ำ
ผลงานชิ้นนี้ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของบ้านริมน้ำข้างแม่น้ำเจ้าพระยา ศิลปินได้ถ่ายทอดความเคลื่อนไหวของแม่น้ำที่สร้างความผ่อนคลายให้กับผู้ที่มองดูเสมอ รวมไปถึงสีของผิวน้ำที่สะท้อนเปลี่ยนไปตามเวลาเช้า กลางวัน เย็น และตอนพระอาทิตย์ตกยามใกล้ค่ำ โดยมีเพลงสำหรับเมดิเทชันประกอบอยู่ฉากหลัง ซึ่งคนที่เข้าชมผลงานจะได้สัมผัสทั้งกลิ่น เสียง และดื่มน้ำที่เสิร์ฟให้เป็นพิเศษ เพื่อให้คลายจากความตึงเครียดจากปี 2020 ที่กำลังจะผ่านไป
Sunity
Nutida x TRWT
บ้านริมน้ำ
ความวิตกกังวล ความกลัว และความเศร้าได้ถูกถ่ายทอดผ่านผลงานการฉายแสงผ่านแมตทีเรียลที่เต็มไปด้วยความขมุกขมัวเมื่อผู้ชมได้ไปยืนตรงจุดที่ศิลปินได้จัดเตรียมไว้ ซึ่งศิลปินทั้งสองที่อยู่คนละซีกโลกอย่างนิวยอร์กและเบอร์ลินในช่วงเวลาแห่งการกักตัวนั้น มีเพียงพระอาทิตย์ที่ส่องแสงผ่านหน้าต่างเข้ามาในทุกๆ เช้า เพื่อบอกให้รู้ว่าวันเวลาแห่งความทรมานนั้นกำลังจะผ่านไป
Carp Tale
Digital Picnic
โซวเฮงไถ่
ตำนานหลีอื้อ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับปลาฝูงปลาคาร์ฟที่พยายามว่ายทวนแม่น้ำฮวงโหวเพื่อไปจุติเป็นมังกร แต่ก็ทำไม่สำเร็จสักที แต่มีปลาคาร์ฟสีแดงตัวหนึ่งที่ไม่ลดละความพยายาม จนได้เกิดเป็นมังกรในที่สุด ปลาคาร์ฟจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเพียร
ศิลปินกลุ่มนี้ได้ถ่ายทอดตำนานดังกล่าวแบบโปรเจกเตอร์แมปปิ้ง แต่ความพิเศษคือ พวกเขาฉายภาพลงไปบนน้ำในคฤหาสถ์เก่าแก่ โซวเฮงไถ่ ที่มีอายุกว่า 200 ปีแล้ว
Shrine Tunes (ประ-ศาล-เสียง)
Jarvis
ศาลเจ้าโรงเกือก
ผลงานรูปแบบ Sound and Light Installation ตั้งแสดงอยู่หน้าศาลเจ้าโรงเกือกโดยติดตั้งไฟนีออนพร้อมด้วยเสียงสังเคราะห์เมื่อเราเป่าไปที่ตะเกียงซึ่งตั้งอยู่ภายในงาน โดยเมื่อเราเป่าไปที่ตะเกียงแล้ว ภาพบนโปรเจกเตอร์จะเกิดความเคลื่อนไหวเหมือนควันของธูปเทียนในตะเกียงที่เรียงรายอยู่ในศาลเจ้าทั่วย่านเจริญกรุง
Johnnie Walker present Take a Walk
Don Boy
Warehouse 30
จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ เชื่อในการก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ผลงานชิ้นนี้สื่อถึงอนาคตที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ต่างกับความงดงามของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ และไม่ว่าอย่างไร จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ก็สามารถเรียนรู้ที่จะปรับตัว และไม่ยอมแพ้ต่ออะไรก็แล้วแต่ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า
ภาพ: เสรีชัย พุฒเทศ
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล