×

AO Animated เบื้องหลังเจ้าหัวโตซูเปอร์สตาร์ตัวจริงแห่งออสเตรเลียนโอเพน

23.01.2025
  • LOADING...
AO Animated

ในร็อดเลเวอร์อารีนา ดานีล เมดเวเดฟ กำลังหัวร้อนจัดๆ หลังจากที่เสียท่าให้กับ บูม-กษิดิศ สำเร็จ จนถึงขั้นเอาไม้แร็กเก็ตฟาดกับกล้องที่หน้าเน็ตรัวๆ จนไม้บิ่น

 

ภาพนี้เอาจริงเป็นภาพความรุนแรงที่ไม่น่าดูเท่าไรนัก (และเมดเวเดฟเองก็เสียใจที่รู้ในภายหลังว่าอาจจะโดนปรับถึง 1 แสนดอลลาร์สหรัฐตามกฎของ ATP)

 

แต่เหตุการณ์เดียวกันนี้กลับกลายเป็นฉากที่ตลกขบขันในโลกโซเชียลมีเดีย เมื่อเมดเวเดฟในคราบตัวการ์ตูนหัวโต แขนลีบ ขยับแขนไปๆ มาๆ ที่หน้าเน็ต ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้คนทั่วโลกได้เห็นสิ่งแปลกใหม่ในการแข่งขันออสเตรเลียนโอเพนที่กำลังกลายเป็นปรากฏการณ์ในเวลานี้

 

อยากรู้ไหมเจ้านักเทนนิสตัวการ์ตูนหัวโตพวกนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และมันสำคัญแค่ไหนต่ออนาคตของวงการเทนนิส?

 

 

พูดถึงการแข่งขันเทนนิสระดับแกรนด์สแลมแล้ว นอกเหนือจากการขับเคี่ยวที่เข้มข้นเหมือนซุปราเมนกระดูกหมู ที่ใช้เวลาเนิ่นนานของบรรดาสุดยอดนักเทนนิสระดับโลกที่ไม่มีวันยอมกันง่ายๆ แล้ว เรื่องของสีสันจากการแข่งขันก็เป็นหนึ่งในเรื่องสนุกๆ ที่หลายคนชื่นชอบ

 

เรามักจะได้เห็นอะไรดีๆ น่ารักๆ ที่ซ่อนอยู่ในที่ไหนสักที่ของการแข่งขันแกรนด์สแลมเสมอ

 

แต่สำหรับการแข่งขันออสเตรเลียนโอเพน 2025 นั้น สีสันที่กลายเป็นที่พูดถึงและโดดเด่นที่สุดคงจะหนีไม่พ้นบรรดาตัวการ์ตูนนักเทนนิสหัวโตทั้งหลายที่ลงไปแข่งขันกันในสนามที่ชวนให้คิดถึงวิดีโอเกมที่เคยเล่นขึ้นมา ไม่ว่าจะบนเครื่อง Wii หรือ Nintendo Switch หรือบนสมาร์ทโฟน

 

ความสนุกก็คือนักเทนนิสหัวโตเหล่านี้ก็คือนักเทนนิสตัวจริงๆ ที่ลงแข่งขันกันอยู่ในสนามนี่แหละ และสิ่งที่เราได้เห็นก็คือการแข่งขันจริงๆ ที่เกิดขึ้น เหมือนที่ผู้ชมในร็อดเลเวอร์อารีนาหรือผู้ชมทั่วโลกได้เห็นกันสดๆ

 

เพียงแต่ถูกนำมาบอกเล่าด้วยรูปแบบที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นไอเดียที่ชาญฉลาดอย่างมาก

 

เราเรียกมันว่า AO Animated

 

แต่ก่อนอื่นหลายคนอาจสงสัยว่าเขาทำอย่างไรกันนะไอ้เจ้า AO Animated เนี่ย ทำไมถึงสามารถเปลี่ยนนักเทนนิสคนเป็นๆ ให้กลายเป็นตัวการ์ตูนหัวโตได้

 

เบื้องหลังนั้นมาจากการใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมอยู่แล้วอย่าง Hawk-Eye System ซึ่งปกติจะใช้ในการช่วยตัดสินในลูกที่มีปัญหา โดยกล้อง 12 ตัวที่อยู่รอบสนามจะติดตามลูกบอลและนักเทนนิสก่อนจะประมวลผลออกมาเป็นภาพ 3 มิติให้เห็นชัดเจนว่าลูกนั้นได้หรือเสีย จะได้ไม่ต้องถกเถียงกัน

 

ในการจะทำภาพ 3 มิติขึ้นมาจะต้องใช้ระบบที่เรียกว่า Electronic Line Calling (ELC) ที่เป็นการวาดเส้นตามการเคลื่อนไหวของนักกีฬาและลูกเทนนิสอยู่แล้ว ซึ่ง AO Animated ก็ต่อยอดด้วยการนำ ELC ที่เกิดขึ้นมาใช้วาดตัวการ์ตูนขึ้นมาโดยเติมศีรษะ (โตๆ), ชุดแข่งขัน (ตามสีที่นักกีฬาใส่ในวันนั้น)​ และแร็กเก็ต

 

เกิดเป็นนักเทนนิสหัวโตที่เราได้เห็นกันนั่นเอง

 

ความจริงแล้ว AO Animated เริ่มมีการทดลองกันตั้งแต่ปี 2023 เพียงแต่ในเวลานั้นยังไม่มีการวาดตัวการ์ตูนของนักเทนนิส มีแต่ลูกบอล (ที่ก็ Oversized เหมือนกัน) ก่อนที่จะต่อยอดในปีถัดมาที่มีการวาดตัวการ์ตูนนักเทนนิสขึ้นมาและก็เป็นที่พูดถึงอยู่บ้าง

 

จนกระทั่งในปีนี้ที่ AO Animated กลายเป็นที่พูดถึงอย่างมาก เพราะนอกจากจะมีในคอร์ตหลักอย่างร็อดเลเวอร์แล้ว ยังมีที่คอร์ตรองอย่างมาร์กาเร็ตคอร์ตอารีนาและจอห์นเคนอารีนา รวมเป็น 3 คอร์ต

 

ทั้ง 3 คอร์ตมีการถ่ายทอดสดบนช่อง YouTube ของ Austalian Open แบบฟรีๆ โดยที่ไม่ได้มีแค่ตัวการ์ตูนเคลื่อนไหวไปมา แต่มีเสียงของแชร์อัมไพร์ มีบรรยากาศในสนามของจริง แม้ว่าจะดีเลย์จากการแข่งขันจริง (เพราะต้องมีการประมวลผล) เล็กน้อย ก็ไม่ใช่เรื่องที่รับไม่ได้

 

ยอดผู้ชมนับเฉพาะ 6 วันแรกของการแข่งขัน เพิ่มจาก 246,542 เมื่อปี 2024 สู่ 1,796,338 ในปี 2025 ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จที่เกินคาด 

 

โดยที่นอกจากผู้ชมจะชื่นชอบกับตัวการ์ตูนเหล่านี้และมีการตัดคลิปไฮไลต์หรือช็อตขำขันจากการแข่งขัน หรือที่เกิดจาก ‘ความไม่สมบูรณ์แบบ’ ของเทคโนโลยี เช่น บางทีตัวละครก็หายไป (เพราะกล้องจับไม่ทัน) หรือบอลหาย หรือแร็กเก็ตหาย

 

นักเทนนิสเองก็ชื่นชอบกับพวกเขาหรือเพื่อนนักเทนนิสในเวอร์ชันนี้เหมือนกัน

 

 

คนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์นี้ที่เราควรรู้จักไว้คือ มาร์ก ไรดี 

 

ไรดีเป็นผู้ออกแบบกราฟิกทั้งหมดของ AO Animated ซึ่งเปิดเผยกับ The Athletic สื่อกีฬาระดับโลกที่ตามไปเกาะติดทำสกู๊ปเรื่องนี้ว่า ไอเดียของเรื่องนี้เกิดจากการที่เขาคิดขึ้นมาได้ว่าถ้าเปลี่ยนเทนนิสให้เป็นเวอร์ชันเกมได้ก็น่าจะดึงดูดแฟนๆ ให้เข้ามาดูได้แบบฟรีๆ โดยที่ไม่ขัดต่อเรื่องของลิขสิทธิ์การแข่งขัน

 

เพราะปกติแล้วต่อให้เป็นผู้จัดการแข่งขันอย่างออสเตรเลียนโอเพน รายการก็มีสิทธิ์แค่การถ่ายทอดในช่วงก่อนและหลังการแข่งขันเท่านั้น ไม่สามารถจะนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นในการแข่งขันได้ตั้งแต่การเสิร์ฟแรกจนถึงการตีลูกสุดท้ายของเกม

 

โดยในความหมายของคำว่าไม่ ก็คือไม่จริงๆ นิดหน่อยก็ไม่ได้

 

แต่ถ้าลองเปลี่ยนนักเทนนิสให้เป็นตัวการ์ตูน ก็จะไม่ถือว่าเป็นการผิดกฎแต่อย่างใด และสามารถนำเสนอคอนเทนต์ได้ทั้งในรูปแบบของการถ่ายทอดสดและคลิปไฮไลต์ ซึ่งเคยเป็นความเจ็บปวดที่รายการไม่สามารถนำเสนอได้ในโลกโซเชียลมีเดีย ทั้งๆ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างกระแสและการสร้างการรับรู้

 

และตัวการ์ตูนที่ดูขำขันเหล่านี้ก็กลายเป็นทีเด็ดไป ซึ่งตรงตามความตั้งใจที่อยากจะให้มันออกมาเป็นมิตรกับทุกคน รวมถึงเด็กๆ ที่จะได้นั่งดูการแข่งขันด้วยได้โดยไม่รู้ตัวเลยว่าเบื่อ

 

เพียงแต่ในอนาคตไรดี (ซึ่งมักจะเข้าไปตอบคอมเมนต์ของคนที่มาดูด้วยตัวเอง) ก็มีแผนที่จะทำให้มันสมจริงยิ่งขึ้น อย่างน้อยในปีหน้าก็คิดว่าจะพยายามทำให้มีแอนิเมชันของมือนักเทนนิสได้ด้วย รวมถึงการแสดงสีหน้าอารมณ์

 

(แม้ว่าในความรู้สึกของผู้เขียนคิดว่าเอาไว้แบบนี้ก็ได้ น่ารักดีแล้ว อย่าเปลี่ยนเลย)

 

แต่เห็นเป็นการ์ตูนแบบนี้ เจตนารมณ์ที่อยู่เบื้องหลังนั้นยิ่งใหญ่และน้ำหนักความคาดหวังที่แบกไว้ช่างใหญ่ยิ่ง

 

เพราะนี่คือความพยายามของเทนนิสออสเตรเลีย ผู้จัดการแข่งขันระดับแกรนด์สแลมอย่างออสเตรเลียนโอเพนเอง ที่จะหาทางทำให้การแข่งขันนั้นไปสู่สายตาของผู้ชมให้ได้มากที่สุด

 

ในระบบเศรษฐกิจเทนนิสโลก ลิขสิทธิ์ของการแข่งขันเทนนิสแกรนด์สแลม 4 รายการ ตั้งแต่ออสเตรเลียนโอเพน, เฟรนช์โอเพน,​ วิมเบิลดัน และยูเอสโอเพน มีมูลค่ามหาศาล ซึ่งจะถูกซื้อไปโดยผู้ให้บริการสถานีกีฬาต่างๆ เช่น ESPN จ่ายลิขสิทธิ์สำหรับการแข่งขันยูเอสโอเพนจนถึงปี 2037 เป็นมูลค่า 2.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่สถานี ABC และ ESPN จ่ายเงินซื้อลิขสิทธิ์วิมเบิลดันปีละ 52.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Warner Bros. Discovery เซ็นสัญญาซื้อลิขสิทธิ์เฟรนช์โอเพนในราคา 650 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับระยะเวลา 10 ปี

 

 

 

ในมุมของผู้ซื้อลิขสิทธิ์เหล่านี้ พวกเขามีสิทธิ์ทุกประการที่จะรักษาสิทธิ์ในเนื้อหาที่จ่ายเงินไป ดังนั้นต่อให้เป็นบัญชีทางการของออสเตรเลียนโอเพน ก็ไม่มีสิทธิ์จะนำภาพและเสียงจากการแข่งขันไปใช้บนช่องทางไหนเลยไม่ว่าจะเป็น YouTube, TikTok, X หรือ Instagram 

 

ตามหลักของการโฆษณา การถูกพูดถึงในทางที่ไม่ดียังดีเสียกว่าการไม่ถูกพูดถึงเลย ซึ่งการที่ไม่มี Conversation ของเทนนิสแกรนด์สแลมบนโซเชียลมีเดียถือเป็นการเสียโอกาสไม่น้อย

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่เคเบิลทีวีเริ่มเสื่อมความนิยม ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียมูลค่าลิขสิทธิ์การแข่งขัน ไปจนถึงมูลค่าของแบรนด์ที่มีความเสี่ยงจะเสื่อมตามไปด้วยหากไม่ทำอะไรเลยในอนาคต ซึ่งแต่ละแกรนด์สแลม (ซึ่งมีผู้จัดแตกต่างกันไป ไม่ใช่ผู้จัดเดียวกัน) ก็พยายามหาทางในการจะสร้าง Engagement กับแฟนๆ ให้ได้ เช่น ในเฟรนช์โอเพนที่เริ่มมีการติดกล้องแอ็กชันไว้บนหัวของอัมไพร์

 

ไอเดีย AO Animated แก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ได้เป็นอย่างดีสำหรับออสเตรเลียนโอเพน และเป็นปรากฏการณ์รวมถึงกรณีศึกษาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

 

กับการที่ทำให้ตัวการ์ตูนเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงที่สนใจเท่านั้น

 

แต่ยังเป็น ‘ที่รัก’ ของทุกคนด้วย

 

อ่านถึงตรงนี้ ใครที่ยังไม่เคยดู AO Animated แนะนำให้ดูนะครับ เป็นเทนนิสที่สนุกและน่ารักกว่าที่เคยดูแน่นอน 🙂

 

อ้างอิง:

 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising