×

เพราะค่าครองชีพสูงปรี๊ด! รัฐบาลออสเตรเลียประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรวดเดียว 5.75% หรือเพิ่มเป็น 511 บาทต่อชั่วโมง

02.06.2023
  • LOADING...
Australia

รัฐบาลออสเตรเลียประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5.75% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2023 เป็นต้นไป ด้วยเหตุผลสั้นๆ ว่า รัฐบาลมีความเข้าใจว่าภาคครัวเรือนต้องต่อสู้กับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น และภาคเอกชนแบกรับค่าใช้จ่ายพนักงานยุคใหม่ ขณะที่ทั้ง 3 รัฐใหญ่เตรียมรับมือค่าไฟฟ้าปรับสูงแบบกระชากถึง 25% ท่ามกลางเสียงสะท้อนของนักเศรษฐศาสตร์ที่กังวลว่า ต้นทุนเหล่านี้จะกระทบไปถึงการตัดสินใจดำเนินนโยบายของธนาคารกลาง

 

อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกกำลังเร่งตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ แม้แต่สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร เรียกได้ว่าสูงที่สุดในรอบ 40 ปี รวมถึงออสเตรเลียด้วยเช่นกัน แต่ละประเทศจึงมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นค่าแรง เพื่อประคองค่าครองชีพ ขณะที่ประเทศไทยปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 328-354  บาทต่อวัน ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพประเทศอื่นๆ 

 

อย่างไรก็ตาม การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน นำมาสู่คำถามถึงประเทศไทย ณ เวลานี้ หากเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท จะเป็นไปได้หรือไม่ 

 

สำนักข่าว Nikkei รายงานว่า คณะกรรมาธิการการงานยุติธรรม (Fair Work Commission: FWC) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระในการกำกับดูแลแรงงานออสเตรเลีย เปิดเผยว่า รัฐบาลจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5.75% โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2023 เป็นต้นไป ด้วยเหตุผลที่ว่า ภาคครัวเรือนต้องต่อสู้กับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

โดยพนักงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำสุดจะได้รับ 22.61 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (15.34 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง) หรือประมาณ 511 บาทต่อชั่วโมง โดยคาดว่าจะมีผลต่อรายได้แรงงานทั่วประเทศมากกว่า 2 ล้านคน

 

คณะกรรมาธิการการงานยุติธรรมระบุว่า การขึ้นค่าแรงครั้งนี้ผ่านการพิจารณาจากทุกฝ่าย และจะไม่ก่อให้เกิดหรือมีส่วนทำให้ราคาค่าจ้างทะยานสูงขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่ปรับอยู่ที่ 5.2% 

 

“ระดับการปรับขึ้นค่าแรงที่เราได้กำหนดไว้นั้นเราได้พิจารณาแล้วว่าเหมาะสมที่สุดในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน และเราได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน ที่มีผลต่อพนักงานยุคใหม่ซึ่งพึ่งพารายได้การเงินขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานที่ได้รับค่าแรงต่ำ” FWC กล่าว 

 

อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนจากนักเศรษฐศาสตร์ต่างกังวลว่า การปรับขึ้นค่าจ้างให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่ 7% อาจสร้างเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการคาดการณ์ค่าจ้างอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อการพิจารณาของธนาคารกลางออสเตรเลีย หรือ RBA ในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้กลับไปสู่ช่วงเป้าหมายที่ 2-3%

 

ขณะเดียวกันการเติบโตของค่าจ้างโดยรวม ซึ่งแตะระดับสูงสุดในรอบทศวรรษ และการขยายตัวของประสิทธิภาพการผลิตที่ยังเปราะบางนั้น ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อค่าจ้างมากกว่าตัวเลขค่าจ้างเสียอีก 

 

แอนดรูว์ แมคเคลลาร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Australian Chamber of Commerce and Industry กล่าวว่า ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มต้นทุนประมาณ 1.26 หมื่นล้านดอลลาร์ออสเตรเลียสำหรับภาคธุรกิจที่ต่อสู้กับปัญหาห่วงโซ่อุปทานและราคาพลังงานที่สูงอยู่แล้ว

 

ด้านหัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์ของออสเตรเลียกล่าวว่า ธนาคารกลางออสเตรเลียจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดขยับขึ้นมาอยู่ที่ 4.35% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น

 

3 รัฐอ่วม รัฐบาลจ่อปรับขึ้นค่าไฟครัวเรือนแบบกระชาก 25%

 

นอกจากนี้เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลพลังงานแห่งออสเตรเลียแถลงการณ์ยืนยันถึงการตัดสินใจที่จะปรับขึ้นราคาพลังงาน โดยจะมีผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าใน 3 รัฐใหญ่ คือ รัฐนิวเซาท์เวลส์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐควีนส์แลนด์ และเซาท์ออสเตรเลีย 

 

สำหรับราคาที่จะมีการปรับเพิ่มขึ้นในครัวเรือนจะเป็นแบบลอยตัวที่ราว 20.8% ไปจนถึง 23.9% ขึ้นอยู่กับพื้นที่ และจะมีการปรับขึ้นแบบควบคุมอยู่ที่ 19.6% ไปจนถึงสูงสุด 24.9% ส่วนภาคธุรกิจขนาดเล็กจะปรับราคาไฟฟ้าขึ้นราว 14.7-28.9% ขึ้นอยู่กับพื้นที่ให้บริการเช่นกัน

 

ทั้งนี้ ราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นดังกล่าวถือว่าสูงกว่าแผนร่างที่ทางหน่วยงานกำกับดูแลพลังงานแห่งออสเตรเลียเคยเสนอไว้เมื่อช่วงเดือนมีนาคม โดยให้เหตุผลว่า การปรับตัวเลขใหม่เกิดจากการพิจารณาของผู้ถือหุ้น รวมทั้งยังมีการพิจารณาจากปัจจัยอื่นๆ เช่น ระบบเครือข่าย สิ่งแวดล้อม ต้นทุนการขายปลีก และการคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อ 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X