ออสเตรเลียและเกาหลีใต้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รายคนมากสุดในกลุ่ม G20 สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกเกือบ 3 เท่า แม้พยายามเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด และลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินตั้งแต่ปี 2558 แต่ช่วงปีที่ผ่านมายังคงเป็น 2 ประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าประเทศกลุ่ม G20 และประเทศเศรษฐกิจหลัก ตรงกันข้ามกับสหราชอาณาจักร หรืออังกฤษ ที่ปล่อยคาร์บอนต่อคนลดลงได้ถึง 93%
การประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่ผ่านพ้นไป นับว่าเป็นการรวมตัวกันของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่าการค้ารวมคิดเป็น 75% ของทั้งโลก อีกทั้งยังมีประชากรคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 2 ใน 3 ของโลก ปิดฉากลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (10 กันยายน) ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย โดยอินเดียได้ส่งมอบตำแหน่งประธานของกลุ่มให้กับบราซิลต่อไป มีประเด็นที่น่าสนใจหลายข้อ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่องของพลังงาน แต่ไม่ได้ถูกหยิบยกมาเป็นวาระสำคัญมากเท่าไรนัก
สำนักข่าว The Guardian รายงานว่า กลุ่มคลังสมอง Ember องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาดโลก เปิดเผยรายงานว่า กลุ่มประเทศ G20 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 80% ในภาคส่วนพลังงานโลก โดยอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อคน (Per Capita Emissions) จากพลังงานถ่านหินอยู่ที่ระดับ 1.6 ตันในปีที่แล้ว เพิ่มจากระดับ 1.5 ตันในปี 2015 และถือเป็นอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก
อีกทั้งอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อคนเพิ่มขึ้นเกือบ 7% จากปี 2015 จากการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินที่จีนและอินเดียเพิ่มโรงงานแห่งใหม่หลายแห่ง อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อคนมากที่สุดคือ ออสเตรเลีย ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกเกือบ 3 เท่า ตามด้วยเกาหลีใต้และจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดของโลกอยู่ในอันดับที่ 3
Dave Jones หัวหน้าฝ่ายข้อมูลเชิงลึกระดับโลกของ Ember กล่าวว่า จีนและอินเดียซึ่งเป็นประเทศเกิดใหม่ที่มีประชากรราว 1 ใน 3 ของโลก มักถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อมลพิษจากถ่านหินรายใหญ่ของโลก แต่บันทึกรายงานแสดงให้เห็นว่า ออสเตรเลียและเกาหลีใต้ ซึ่งเมื่อแยกออกมาดูเป็นรายปัจจัย กลับพบว่ามีอัตราการใช้ไฟฟ้ารายคนสูงสุดในกลุ่ม
สำหรับกลุ่มประเทศ G20 ในปีที่ผ่านๆ มา มีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 80% ทั่วโลก แต่บรรดารัฐมนตรีพลังงานของกลุ่ม G20 ต่างล้มเหลวในการบรรลุฉันทมติในการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แม้ว่าจะมีคำมั่นสัญญาที่จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน 3 เท่าในทศวรรษนี้
Ember ยังระบุอีกว่า ในบรรดา 12 ใน 20 ประเทศเศรษฐกิจหลักมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อคนลดลงตั้งแต่ปี 2015 แต่น่าสนใจว่า ประเทศที่ปล่อยคาร์บอนต่อคนลดลงมากที่สุดคือสหราชอาณาจักร ซึ่งลดลงกว่า 93%
อย่างไรก็ตาม ออสเตรเลียยังคงมุ่งมั่นที่จะยุติการใช้ถ่านหิน หรือมีนโยบายไม่สร้างโรงงานถ่านหินแห่งใหม่โดยอาศัยเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนที่แม้ว่ากำลังเป็นที่ถกเถียงกันในกลุ่มสิ่งแวดล้อม และ 7 ประเทศ ได้แก่ บราซิล, จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, แอฟริกาใต้ และสหรัฐอเมริกา ไม่ได้เปิดเผยยุทธศาสตร์การลดปริมาณการใช้ถ่านหินที่ชัดเจนมากนัก
อีกทั้งการประชุมครั้งล่าสุดที่อินเดีย กลุ่ม G20 ตกลงที่จะเพิ่มพลังงานสะอาด แต่ไม่มีข้อตกลงในการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือถ่านหินแต่อย่างใด
อ้างอิง:
- https://www.theguardian.com/environment/2023/sep/05/australia-has-highest-per-capita-co2-emissions-from-coal-in-g20-analysis-finds
- https://apnews.com/article/india-climate-change-g20-cop28-c25dd753a2f8f520261ec4858b921a1a
- https://www.reuters.com/business/environment/g20-per-capita-co2-emissions-coal-rise-7-2015-research-2023-09-05/