การเลือกตั้งทั่วไปของออสเตรเลียเปิดฉากขึ้นในเช้าวันนี้ (3 พฤษภาคม) โดยถือเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญ ที่อาจชี้ชะตาอนาคตของพรรคเลเบอร์ (Labor Party) และนายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบาเนซี ท่ามกลางความกังวลของประชาชนที่มีต่อวิกฤตค่าครองชีพพุ่งสูงและภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงคะแนน
โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ มีการลงคะแนนเลือก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ทั้งหมด 150 ที่นั่ง และสมาชิกวุฒิสภาอีก 40 ที่นั่ง จากทั้งหมด 76 ที่นั่ง
ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนก่อนการเลือกตั้ง ชี้ว่าพรรคเลเบอร์ยังคงได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 แต่ระบบการเลือกตั้งแบบลงคะแนนตามความชอบ (Preferential Voting) ที่ผู้ลงคะแนนเสียงใช้การจัดลำดับผู้สมัครตามความชอบ ทำให้ยังยากจะคาดเดาว่า พรรคใดจะครองที่นั่งในสภาได้มากที่สุด
ขณะที่พรรคการเมืองหลักของออสเตรเลีย นอกจากพรรคเลเบอร์ ที่มีแนวนโยบายเอนเอียงไปทางฝ่ายซ้าย ยังมีกลุ่มพันธมิตรพรรคการเมือง LNP (Liberal-National Coalition) สายอนุรักษนิยม กลาง-ขวา ที่นำโดย ปีเตอร์ ดัตตัน (Peter Dutton) ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นที่จับตามองว่า กลุ่ม LNP อาจมีลุ้นคว้าชัยและพลิกกลับมาเป็นรัฐบาลได้อีกครั้ง หลังจากที่อยู่ในขั้วฝ่ายค้านมานานกว่า 3 ปี
อย่างไรก็ตาม หากพรรคเลเบอร์สามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งได้สำเร็จอีกครั้ง ก็จะทำให้อัลบาเนซี กลายเป็นนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียคนแรกในรอบ 2 ทศวรรษ ที่สามารถชนะการเลือกตั้งได้ติดต่อกัน
ทั้งนี้ มีประชาชนออสเตรเลียกว่า 18 ล้านคน ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยเกือบครึ่งหนึ่งได้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าไปแล้ว
กังวลค่าครองชีพ-ภาษีทรัมป์
ปัจจัยสำคัญของการเลือกตั้งในครั้งนี้คือวิกฤตค่าครองชีพที่พุ่งสูง ทั้งราคาบ้านและพลังงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วง 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาพรรคการเมืองหลักต่างพยายามหาเสียงด้วยคำมั่นสัญญาในการลดหย่อนภาษี การคืนเงิน และมาตรการอื่นๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัญหาค่าครองชีพ
ที่ผ่านมา การเลือกตั้งของออสเตรเลียมักจะเน้นที่ปัญหาภายในประเทศ เช่น ที่อยู่อาศัย สุขภาพ และเศรษฐกิจ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้อาจแตกต่างจากที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์ภายนอกประเทศ เช่น นโยบายภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐฯ
ออสเตรเลีย ที่แม้จะเป็นหนึ่งในพันธมิตรด้านความมั่นคงและมักขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ แต่ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญภาษีตอบโต้ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แม้จะเผชิญในระดับพื้นฐานที่ 10% โดยยังมีผลกระทบทางอ้อมอื่นๆ โดยเฉพาะจากจีนที่เป็นตลาดส่งออกหลักของออสเตรเลีย ซึ่งอาจเผชิญความเสี่ยงจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังเผชิญการขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ ในอัตรา 25% ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ส่งออกของออสเตรเลีย
ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศความไม่แน่นอนในนโยบายของทรัมป์ ส่งผลให้ชาวออสเตรเลียบางส่วนแสดงความต้องการให้รัฐบาลและผู้นำออสเตรเลียคนใหม่ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงและดำเนินนโยบายที่รับมือกับความท้าทายต่างๆ เหล่านี้ได้
นอกเหนือจากนี้ คะแนนเสียงจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่อาจชี้วัดผลการเลือกตั้ง เนื่องจากชาวออสเตรเลียผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่า 1 ใน 3 มีอายุต่ำกว่า 44 ปี ซึ่งประเด็นที่มีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนน คือความไม่เท่าเทียมด้านความมั่งคั่งของประชากรในแต่ละรุ่น โดยนักวิเคราะห์มองว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย เช่น การมีบ้าน การแต่งงาน หรือมีลูก ได้แบบคนรุ่นก่อนๆ อาจส่งผลต่อการตัดสินใจลงคะแนน
ภาพ: REUTERS / Hollie Adams TPX IMAGES OF THE DAY
อ้างอิง: