×

ความเงียบของ ออง ซาน ซูจี และวิกฤตโรฮีนจาอาจเปิดทางให้ทหารเมียนมาก่อรัฐประหารอีกครั้ง

08.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 mins read
  • นักเคลื่อนไหวชาวเมียนมามองว่า รัฐใช้สื่อชวนเชื่อให้คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับชาวโรฮีนจามาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทหาร ทำให้ความขัดแย้งนั้นฝังรากลึกและดำเนินต่อเนื่อง
  • ออง ซาน ซูจี โดนวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่สามารถปกป้องชาวโรฮีนจาได้ โดยชาวเมียนมามีความเห็นที่แตกต่างออกไป ทั้งกล่าวหาว่าเธอกลายเป็นนักการเมืองที่กลัวจะเสียฐานเสียงสนับสนุนจากชาวพุทธ ขณะที่บางส่วนเข้าใจว่าทหารยังมีอำนาจมากกว่าเธอในบางเรื่อง จึงทำให้เธอไม่สามารถปกป้องชาวโรฮีนจาได้เต็มที่
  • นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวมองว่า สถานการณ์ลำบากของ ออง ซาน ซูจี อาจเป็นสิ่งที่รัฐบาลทหารในอดีตตั้งใจให้เกิดขึ้น และใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งเพื่อสร้างความชอบธรรมในการก่อรัฐประหารอีกครั้ง

     สถานการณ์ความขัดแย้งในรัฐยะไข่ของเมียนมากลับมาปะทุอีกครั้ง หลังจากเกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารของเมียนมากับผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่รัฐยะไข่ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา สหประชาชาติรายงานว่า การปะทะครั้งล่าสุดทำให้ชาวโรฮีนจากว่า 146,000 คนหลบหนีออกนอกประเทศ ซึ่งรวมแล้วมีชาวโรฮีนจากว่า 233,000 คนที่หลบหนีออกนอกประเทศตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา โดยในตอนนั้น เหตุการณ์ปะทุขึ้นหลังจากชาวโรฮีนจาในพื้นที่รัฐยะไข่ก่อเหตุสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจ 12 นาย จนทำให้เกิดการเผาบ้านเรือนของชาวโรฮีนจาโดยเจ้าหน้าที่เมียนมา และทำให้ชาวโรฮีนจาจำนวนมากเสียชีวิต รวมถึงมีรายงานการข่มขืนและการทรมานด้วย

     เมียนมาเป็นอีกหนึ่งประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากที่สุด การมีชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มในภูมิประเทศที่เป็นภูเขาและการมีหลายภาษาคือความท้าทายของเมียนมาตั้งแต่ยุคสร้างชาติ เพราะในอดีตกองทัพของเมียนมาใช้เหตุผลนี้เพื่อสนับสนุนรัฐประหารและยึดอำนาจของตนเอง จนทำให้เมียนมาตกอยู่ภายใต้การปกครองของทหารต่อเนื่องเป็นเวลา 55 ปี และเพิ่งเปลี่ยนมาสู่รัฐบาลพลเรือนในปี 2015

     การที่เมียนมาเปลี่ยนถ่ายอำนาจมายังพลเรือนสำเร็จ และมี ออง ซาน ซูจี เป็นที่ปรึกษาของรัฐ ทำให้ชาวเมียนมารวมถึงนานาชาติเองคาดหวังว่าประชาธิปไตยจะทำให้เมียนมาเริ่มยอมรับความหลากหลายทั้งทางเชื้อชาติ ภาษา และศาสนาในประเทศ แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าหนทางสู่ประชาธิปไตยของเมียนมายังขรุขระ สิทธิมนุษยชนยังถูกละเมิด จนทำให้ ออง ซาน ซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพนั้นถูกวิจารณ์รุนแรงถึงขั้นว่าเธอไม่เหมาะสมกับรางวัล หรือควรถูกยึดรางวัลคืน

    THE STANDARD สัมภาษณ์นักเคลื่อนไหวและนักการเมืองชาวเมียนมาเพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้อย่างละเอียด

 

 

ชาวโรฮีนจาที่ยังไม่ได้รับการยอมรับ

     หลังจากเมียนมาได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948 ชาวโรฮีนจาเคยสามารถมีบัตรประชาชนได้ ซึ่งส่งผลให้พวกเขามีสิทธิขั้นพื้นฐานจนถึงมีบทบาทในสภา แต่หลังจากรัฐประหารยึดอำนาจในปี 1962 ชาวโรฮีนจาถูกรัฐพิจารณาว่าเป็น ‘ชาวต่างชาติ’ และได้รับบัตรประชาชนในฐานะชาวต่างชาติแทน พวกเขาจึงกลายเป็นคนไร้สัญชาติ

     โดยเมียนมาระบุว่า ชาวโรฮีนจาจะสามารถขอสัญชาติได้ก็ต่อเมื่อพวกเขาสามารถพูดภาษาราชการของเมียนมา หรือมีหลักฐานที่แสดงว่าครอบครัวได้อาศัยอยู่ในเมียนมามาตั้งแต่ก่อนได้รับเอกราช ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับชาวโรฮีนจาที่จะหาหลักฐานดังกล่าว จึงส่งผลให้พวกเขาเป็นบุคคลไร้สัญชาติ โดยที่ผ่านมา รัฐบาลเมียนมาตั้งแต่ปี 1993 ได้พยายามจะออกบัตรชั่วคราวให้กับชาวโรฮีนจาแทน หรือที่เรียกว่า white card ระหว่างที่พวกเขารอพิจารณาว่าจะได้สัญชาติหรือไม่

    อย่างไรก็ตาม Moe Thway นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวเมียนมา และผู้อำนวยการองค์กร Generation Wave องค์กรที่มีบทบาทในการต่อต้านรัฐบาลทหารตั้งแต่ปี 2007 กล่าวกับ THE STANDARD ว่า “เหมือนกับว่าที่ผ่านมารัฐบาลทหารไม่อยากใช้คำว่าโรฮีนจา ซึ่งถึงแม้พยายามจะออกบัตรชั่วคราว แต่ถ้าหากไม่ได้เกิดจากการยอมรับที่อัตลักษณ์ของพวกเขา มันก็จะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง ความขัดแย้งจะไม่หมดไป และรัฐบาลปัจจุบันก็ไม่ได้ปกป้องใครเลยในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น”

 

ความขัดแย้งในพื้นที่ สื่อในเมียนมา และบทบาทของประชาคมนานาชาติ

     การปะทะในพื้นที่รัฐยะไข่ที่มีทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรง ซึ่งส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ชาวโรฮีนจาหลายแสนคนหลบหนีออกจากประเทศ รวมถึงชาวเมียนมาในพื้นที่ที่เป็นชาวพุทธและชาวฮินดูบางส่วนที่หลบหนีด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม Moe Thway มองว่ารัฐยังมีการใช้สื่อชวนเชื่อเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับชาวโรฮีนจา เช่นเดียวกับ Khin Maung Myint นักการเมืองประจำพรรค National Democratic Party for Development (NDPD) ของเมียนมาบอกกับ THE STANDARD ว่า “สื่อชวนเชื่อทั้งจากรัฐและพระสงฆ์หัวรุนแรงสร้างความเข้าใจให้กับชาวเมียนมามาโดยตลอดว่า ชาวมุสลิมจะมาทำลายเมียนมา และชาวพุทธต้องปกป้องแผ่นดินของตัวเอง ซึ่งผมคิดว่านี่คือสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการต่อต้านชาวโรฮีนจาในเมียนมา”

     ขณะที่ Khin Khin Kyaw นักวิจัยชาวเมียนมา ที่ขอไม่เปิดเผยชื่อสถาบันมองต่างออกไปว่า ชาวพุทธส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นด้วยกับชาวพุทธหัวรุนแรง “ฉันคิดว่าความขัดแย้งไม่ได้เกิดขึ้นจากศาสนาโดยตรง แต่เป็นความขัดแย้งทางอัตลักษณ์ที่สถานการณ์ถูกทำให้รุนแรงขึ้นไปอีกด้วยเหตุผลทางการเมืองจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ บทบาทของประชาคมนานาชาติที่ไม่เป็นกลางในความขัดแย้งนี้อาจส่งผลให้ชาวพุทธสายกลางกลายเป็นหัวรุนแรง และทำให้การแก้ไขความขัดแย้งยากขึ้น เราต้องแยกชาวโรฮีนจาบริสุทธิ์กับผู้ก่อความไม่สงบให้ชัด เราต้องไม่มองว่าการกระทำของชาวโรฮีนจาบางคนถูกต้องจากการที่ชาวโรฮีนจาหลายคนถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน”

     ขณะที่ Moe Thway กลับมองว่านานาชาติควรเข้ามาช่วยเหลือและแทรกแซงสิ่งที่เกิดขึ้น “เราต้องการความช่วยเหลือที่ไม่ใช่แค่ด้านมนุษยธรรม แต่การแทรกแซงอาจจำเป็น สิ่งที่สหประชาชาติทำอยู่ตอนนี้ไม่เพียงพอ ซึ่งสหประชาชาติไม่สามารถทำอะไรได้มาก เพราะในสมัชชาความมั่นคงก็มีจีนที่คอยออกเสียงค้านอยู่ และเมื่อเรามองมาที่อาเซียน อาเซียนก็มีหลักคือการไม่แทรกแซง”

    ช่วงที่ผ่านมาที่เกิดความรุนแรงขึ้นกับชาวโรฮีนจา ทำให้เมียนมากลายเป็นอีกพื้นที่เสี่ยงที่ถูกประเมินว่ากลุ่มไอเอสหรือกลุ่มหัวรุนแรงจะมาก่อเหตุเพราะต้องการปกป้องชาวมุสลิมในโรฮีนจา มาร่วมกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ หรือเป็นชนวนให้พวกเขาหันไปสนับสนุนกลุ่มไอเอส จึงสะท้อนว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเมียนมานั้นจะไม่ได้เป็นเพียงความขัดแย้งในพื้นที่ แต่อาจส่งผลให้มีกลุ่มอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในความขัดแย้งเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเพิ่มความซับซ้อนให้ความขัดแย้งนี้มากขึ้นไปอีก

 

 

บทบาทของพระสงฆ์ในการเมืองของเมียนมา รัฐธรรมนูญโดยทหารที่ส่งผลต่อจุดยืนของออง ซาน ซูจี

     เมียนมาคือประเทศที่พระสงฆ์เข้าร่วมขบวนประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารในอดีตหลายครั้ง มีส่วนร่วมและมีอิทธิพลทางการเมืองของประเทศสูง ขณะที่ในปี 2012 พระสงฆ์ในเมียนมากลับถูกกล่าวหาว่ายุยงปลุกปั่นให้เกิดเหตุรุนแรงต่อชาวโรฮีนจา

     แม้เมียนมาจะเปลี่ยนผ่านมาสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี 2015 แต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 ที่ถูกร่างในสมัยที่รัฐบาลทหารปกครองประเทศนั้นได้เปิดโอกาสให้ทหารยังมีบทบาทในการเมือง ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งในสภาสูงและสภาล่าง และตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญๆ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อซูจีและรัฐบาลพรรค National League of Democracy (NLD) ของเธอในการปกครองประเทศ

     โดย Lin Htet Naing อดีตผู้นำนักศึกษาชาวเมียนมาที่เคยถูกรัฐบาลทหารจับกุม 2 ครั้ง แสดงความเห็นกับ THE STANDARD ว่า “ผมคิดว่ามันก็ไม่ยุติธรรมกับซูจีเหมือนกันที่จะวิจารณ์ว่าเธอไม่เหมาะสมกับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ผมยังเชื่อว่าเธอยังพยายามต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยอยู่ รัฐธรรมนูญของเราไม่ได้ให้อำนาจแก่รัฐบาลในการควบคุมทหาร หลายคนคิดว่าเธอได้ทุกอย่างแล้วหลังจากชนะการเลือกตั้ง แต่แท้จริงแล้วเธอก็ยังต้องต่อสู้กับทหารอยู่ ตามรัฐธรรมนูญแล้ว ทหารมีอำนาจในการก่อเหตุรุนแรงต่อชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ แต่ซูจีไม่ได้มีอำนาจในการสั่งทหารอีกที และที่ผ่านมาเธออาจพยายามไม่ต่อต้านหรือควบคุมทหารทันทีหลังชนะการเลือกตั้ง เพราะอาจกลายเป็นสาเหตุให้ทหารกลับมารัฐประหารอีก”

     ด้าน Khin Maung Myint กลับวิพากษ์วิจารณ์ซูจีว่า “ตอนนี้เธอเป็นนักการเมืองที่เพิกเฉยสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยอย่างเต็มตัว เพราะเธอไม่ต้องการสูญเสียการสนับสนุนจากชาวพุทธส่วนใหญ่ ผมเห็นด้วยว่าเราเพิ่งเปลี่ยนผ่านมาสู่ประชาธิปไตย และยังต้องใช้เวลา แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะปล่อยให้เกิดอาชญากรรมและความรุนแรงต่อมนุษยชาติ แล้วนั่งมองให้สถานการณ์เกิดขึ้นต่อไป”

     ด้าน Moe Thway กล่าวว่า สิ่งที่พอจะต่อสู้ได้คือประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นต้องออกมาแสดงการต่อต้านมากกว่านี้ พร้อมกับพูดถึงชาวเมียนมาบางกลุ่มว่า “หากพวกคุณต้องการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนคืน พวกคุณก็ต้องเริ่มจากตัวเองด้วยเช่นกัน โดยการเคารพสิทธิมนุษยชนคนอื่นอย่างชาวโรฮีนจา”

 

 

ความรุนแรงในรัฐยะไข่ที่อาจเปิดทางให้ทหารก่อรัฐประหารอีกครั้ง

     ในช่วงระหว่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 ภายใต้รัฐบาลทหาร ทหารของเมียนมาอ้างว่าเมียนมานั้นเป็นประเทศที่มีความไม่มั่นคงทางการเมืองสูง เนื่องด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ดังนั้นอำนาจของทหารจึงยังจำเป็นในกิจการพลเรือน รัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 ของเมียนมาจึงระบุว่า ทหารมีสิทธิ์ยึดคืนอำนาจจากประธานาธิบดี หากเกิดเหตุที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ความเป็นอยู่ และชีวิตของประชาชน

     Khin Khin Kyaw แสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า “อำนาจเก่าในรัฐบาลทหารพยายามจะใช้ศาสนามาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ในช่วงระหว่างทหารยังมีอำนาจ มีบางกลุ่มพยายามเพิ่มอำนาจให้กับชาวพุทธหัวรุนแรงเพื่อใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งนี้ หากความรุนแรงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จะทำให้ทหารสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองเพื่อก่อรัฐประหารอีกครั้ง”

     สอดคล้องกับ Lin Htet Naing ที่กล่าวว่า “ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของเมียนมา ทหารสร้างความเชื่อให้กับประชาชนว่ามีเพียงแค่กองทัพเท่านั้นที่จะสามารถปกครองประเทศได้อย่างมั่นคง ดังนั้นพวกเขาจะใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น หรืออาจตั้งใจให้เกิดเหตุขัดแย้ง” 

FYI
  • ข้อความสัมภาษณ์ Dr. Michael Buehler ในบทความนี้ในเวอร์ชั่นที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2017 เกิดจากความเข้าใจผิดของผู้เขียน และ Dr. Michael Buehler ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเนื้อหาในบทความในวันเวลาดังกล่าว
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X