วันนี้ (15 พฤษภาคม) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี สุรเชษฐ์ ประวีนวงศ์วุฒิ สส. พรรคประชาชน เป็นประธาน ได้ติดตามความคืบหน้า เหตุอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว
มณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ชี้แจงถึงความคืบหน้าต่างๆ เหตุตึกถล่ม พร้อมกล่าวตอนหนึ่งว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้เรียกบริษัทประกัน 4 แห่ง มาหารือเกี่ยวกับกรณีที่อาคารถล่ม ซึ่งผู้รับจ้างได้ทำประกันครอบคลุมไว้ทั้งหมด หลังจากที่คณะกรรมการได้ดำเนินการสืบสวน และพบว่ารัฐได้จ่ายเงินไปแล้วกว่า 900 ล้านบาท จึงเห็นว่าบริษัทประกันควรชดเชยค่าเสียหายดังกล่าวให้กับรัฐ โดยยืนยันว่า สตง. ถือเป็นผู้เสียหายในกรณีนี้ และผู้ที่ต้องจ่ายคืนค่าเสียหายให้รัฐ คือบริษัทที่รับผิดชอบ
นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือกับบริษัทประกันเพิ่มเติม โดยหลังจากเหตุอาคารถล่ม สตง. ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินการตามข้อกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัญญาหรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
มณเฑียรยังกล่าวอีกว่า 1 สัปดาห์หลังจากที่มีการรื้อถอน สถานที่เกิดเหตุ ตนเองได้ขอให้ประสานกับผู้รับจ้างเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน ซึ่งจะต้องดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามสัญญา ที่ผู้รับจ้างต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ส่วนกรณีที่กรุงเทพมหานครจะส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวคืนให้กับ สตง. ในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ มณเฑียรกล่าวว่า เรื่องนี้ได้มีการประสานพูดคุยกับ กทม. ตำรวจ และผู้รับจ้างแล้ว โดย สตง. ได้ทำหนังสือถึงตำรวจให้อายัดพื้นที่ไว้ก่อนจนกว่าคดีจะแล้วเสร็จ และตนเองได้ลงนามคำสั่งให้ผู้รับจ้างชดใช้ค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ส่วนวงเงินงบประมาณในการก่อสร้างอาคารนั้น มณเฑียรกล่าวว่า ตามระเบียบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยเรื่องงบประมาณ พ.ศ. 2564 ข้อ 20 (1) กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดกรณีที่งบประมาณผูกพันข้ามปีที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ให้สำนักงานไปดำเนินการ ซึ่งเฉพาะส่วนงบประมาณนั้น ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินอนุมัติเห็นชอบก่อนที่จะทำการตกลง
ขณะที่ความคืบหน้าการสร้างตึกใหม่นั้น มณเฑียรกล่าวว่า ในฐานะคนที่เข้ามารับช่วงต่อ ยืนยันว่า ในเวลานี้ สตง.ให้ความสำคัญกับการสอบสวน และเยียวยาผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน ส่วนเรื่องการสร้างตึกนั้น ถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการ และผู้บริหาร สตง. ทั้งหมด รวมถึงเกี่ยวข้องกับกฎหมายด้านงบประมาณ และกฎหมายด้านพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมกล่าวว่า ในเวลานี้ไม่ได้โฟกัสเรื่องของการสร้างตึก และการสร้างตึกครั้งใหม่นี้จะต้องผ่านที่ประชุมของ กทม. ด้วย