กระแสการจดแจ้งพรรคการเมืองในเวลานี้ ทำให้บรรยากาศทางการเมืองที่เงียบเหงากลับมาคึกคักอีกครั้ง ด้วยปรากฏกลุ่มคนใหม่ๆ ที่รวมตัวกันอาสาเข้ามาทำงานการเมืองอย่างหนาตา เสนอตัวเป็นพรรคการเมืองใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ๆ ให้กับประชาชน
ขณะที่ ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการด้านสถาบันทางการเมืองและการเลือกตั้ง ชี้ให้เห็นว่าพรรคการเมืองของไทยที่ผ่านมาไม่ได้ถูกทำให้เป็นพรรคการเมืองที่แท้จริง ส่วนมากจึงเป็นพรรคเฉพาะกิจ อยู่ได้ไม่นาน
โดยเฉพาะบทบาททางการเมืองของพรรคที่เข้าไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ไม่มีความชัดเจนในจุดยืน ไม่มีการให้สัตยาบันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันอย่างเปิดเผย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเรียกร้องให้มี ส่วนกติการะบบการเลือกตั้ง ได้สะท้อนปัญหาของกลไกกาบัตรใบเดียวที่บีบทางเลือกของผู้ใช้สิทธิ ซึ่งผลที่ตามมาคือเป็นระบบที่เอื้อต่อพรรคเก่าที่มี ส.ส. ในพื้นที่อยู่ก่อนแล้ว ทำให้เกิดความท้าทายของพรรคใหม่ว่าจะสามารถชนะระบบอุปถัมภ์ทางการเมืองไทยได้หรือไม่
และต่อไปนี้คือข้อสังเกตจาก ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ ถึงพรรคการเมืองไทยในยกแรก หลังต้องพักร้อนยาวในห้วงที่ คสช. ปกครองประเทศ
ประเทศไทยเหมือนว่าอยากตั้งพรรคก็มาตั้ง ไปหาสมาชิกพรรคและแรงสนับสนุนทีหลัง เราจึงเห็นพรรคการเมืองตั้งมาแล้วก็หาย ไม่มีพรรคใดพูดถึงเรื่องความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง
จากปรากฏการณ์ที่มีการจดจองชื่อตั้งพรรคการเมือง ที่ตอนนี้มีกว่า 50-60 พรรคแล้ว สะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง
การจดแจ้ง 50-60 พรรค จะมองเป็นเรื่องตื่นเต้นเพราะบรรยากาศการเมืองกลับมาหรือไม่นั้น ต้องบอกว่ามันเป็นแค่การจดแจ้งก่อน การที่คนกลับมาอยากลงเล่นการเมืองเยอะ ตีความอย่างแรกคือ ทุกคนคิดว่าระบบการเลือกตั้งมันเอื้อต่อพรรคเล็ก และอาจจะมองมันเป็นความตื่นเต้น เพราะไม่ได้มีการเมืองมานาน และอยากจะบอกว่าพรรคการเมืองไม่เคยมีน้อย เพียงแต่ว่าเรามีพรรคการเมืองที่ไปลงเลือกตั้งแล้วชนะเลือกตั้งน้อย
ประการที่สอง การที่คนมาจดจองชื่อ ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นพรรคนะ อย่าเพิ่งไปตื่นเต้น เพราะต้องทำตาม พ.ร.ป. พรรคการเมืองที่ต้องมีสมาชิกพรรค ต้องมีสาขา อาจมีหลายคนที่ไปจดจองชื่อพรรคแล้วไม่สามารถเป็นพรรคได้ การเป็นพรรคการเมือง ไม่ใช่ว่าจดปีนี้ปีหน้าเลือกตั้งแล้วจะชนะ ต้องแยกสองส่วน
ส่วนที่หนึ่งการเป็นพรรคการเมืองมันต้องมีที่มาที่ไป ประเทศไทยเหมือนว่าอยากตั้งพรรคก็มาตั้ง ไปหาสมาชิกพรรคและแรงสนับสนุนทีหลัง เราจึงเห็นพรรคการเมืองตั้งมาแล้วก็หาย ไม่มีพรรคใดพูดถึงเรื่องความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง คือคิดจะตั้งก็ตั้ง
ดังนั้น พรรคการเมืองไม่ได้น้อย ไม่ได้มาก เพราะเรามีอย่างนี้ตลอดเวลาอยู่แล้ว แล้วเดี๋ยวรอให้ดำเนินกิจการพรรคการเมืองได้ก่อน รอให้ทำตาม พ.ร.ป. พรรคการเมืองได้ก่อน จะเหลือกี่พรรค พรรคเดิมมี 60 พรรค อาจจะหายไปหมดเลย อาจเหลือพรรคใหญ่ไม่กี่พรรค พรรคที่มาจดจองชื่อ 60 พรรค จะเหลือกี่พรรค
การตั้งพรรคการเมืองต้องมอง 3 ฐาน ฐานที่หนึ่งต้องมีฐานสนับสนุนพรรค คือฐานประชาชน ฐานที่สอง ต้องมีองค์กรของพรรคที่ต้องมีสาขาพรรค มีคนทำงานในพรรค มันถึงจะมาส่วนที่สาม คือ ส่วนของนักการเมือง
ที่บอกว่าไทยไม่เคยมีพรรคการเมืองน้อย ช่วยขยายความหน่อย
ถามว่าพรรคการเมืองไทยมีมากหรือมีน้อย อังกฤษมีพรรคการเมืองที่จดทะเบียนที่ยังทำงานอยู่ 400 กว่าพรรคนะ แต่ที่เรารู้จักมี 2 พรรคใหญ่ ส่วนอเมริกาที่เราคิดว่ามีระบบ 2 พรรค ก็มี 50 กว่าพรรค ดังนั้นคนอยากตั้งพรรคเยอะ ก็ดี แต่ถ้าไม่สามารถทำพรรคให้มีคุณภาพความเป็นพรรคได้ มันไม่ดี
การตั้งพรรคการเมืองต้องมอง 3 ฐาน ฐานที่หนึ่งต้องมีฐานสนับสนุนพรรค คือฐานประชาชน ฐานที่สอง ต้องมีองค์กรของพรรคที่ต้องมีสาขาพรรค มีคนทำงานในพรรค มันถึงจะมาส่วนที่สาม คือ ส่วนของนักการเมือง เมื่อก่อนพรรคการเมืองไทยมีแค่ฐานนักการเมือง ดังนั้นจะมาจะไปก็ง่ายมาก ฐานสมาชิกก็ไม่มี พรรคการเมืองบางพรรคจดทะเบียนมามีสมาชิกเป็นล้านกว่าคนในสมัยก่อน แต่ทำไมเวลาเลือกตั้งแบบปาร์ตี้ลิสต์ พรรคนี้กลับไม่ได้ ส.ส. เลย
ดังนั้นเมื่อก่อนความเข้าใจเรื่องความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเราไม่มีเลย ถ้าเรามอง พ.ร.ป. พรรคการเมืองฉบับปัจจุบัน บอกว่าปีแรกต้องมี 1 หมื่น ครบ 4 ปีต้องมี 2 หมื่น ตัวเลขสมาชิกต้องเป็นตัวเลขจริงๆ ที่จะให้ไปทำเรื่องไพรมารีโหวต เรื่องสาขาพรรคต้องมีตัวแทนเป็นคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัคร มันเขียนเพื่อให้พรรคมีความเป็นพรรคในความหมายของพรรคการเมืองจริงๆ
การมีพรรคการเมืองจำนวนมากในต่างประเทศกับในไทยต่างกันอย่างไร
ประเทศอย่างอังกฤษ อเมริกา ที่มีพรรคเยอะๆ มันสะท้อนว่า มีหลายส่วนที่คนในสังคมอยากจะพูด อยากจะผลักดันนโยบายของตัวเอง แต่ทั้งนี้ต้องมองว่าอังกฤษมี 400 พรรค แต่เราจะเห็นแค่ 3-4 พรรคที่มีบทบาท เพราะว่าระบบการเลือกตั้งมันไม่ได้เอื้อให้พรรคเล็กขึ้นมาได้ง่ายๆ
ประเทศไทยจะมี 50-60 พรรค ระบบเลือกตั้งเอื้อพรรคเล็กก็จริง แต่เราลองดูตัวเลขที่เรามักจะพูดว่า 7 หมื่นเสียง เท่ากับ 1 ที่นั่ง มันมาจากผู้มีสิทธิประมาณ 50 ล้านเสียง คนมาเลือกตั้งประมาณ 70% เฉลี่ยคือ 35 ล้านเสียง เอา 500 หาร ก็ประมาณ 7 หมื่นเสียง
แต่คิดดีๆ ก็คือถ้าพรรคใดพรรคหนึ่งได้คะแนนในเขตเขตหนึ่ง คนมันชนะ 3 หมื่นถึง 4 หมื่นเสียง ถ้าคุณได้ 7 หมื่นเสียง ถึงจะได้เขต แต่ไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์ แล้วคุณควรจะได้ 1 ที่นั่ง แต่คุณชนะไปแล้ว 2 ที่นั่ง คุณเลยไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าโอกาสของพรรคใหม่พรรคเก่ามันจะต่างกัน แล้วจะชนะที่นั่งเดียวหรอ ที่นั่งเดียวแล้วจะไปทำอะไรในสภาได้ เราจำได้ไหมว่าพรรคมาตุภูมิของอาจารย์ปุระชัยทำอะไรไปบ้าง ได้ 1 เสียง พรรคคุณชูวิทย์ ทำอะไรได้บ้าง
การเมืองไทยเป็นการเมืองที่ต้องการฮีโร่ตลอดเวลา คนไทยมักคุ้นชินกับการที่พอมีปัญหา ก็หาทางออก โดยคิดว่าจะหาใครมาแก้ดี
ดังนั้นการเป็นพรรคเล็กเพื่อจะเข้าไป แต่คุณไม่ได้มีบทบาทอะไรในสภา ไม่มีแรงไปผลักดันอะไรได้ เต็มที่ก็ไปรวมตัว เขาก็แค่นับคะแนนเสียง คุณก็ไม่สามารถไปต่อรองอะไรได้
การเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ในหลักการต้องมีข้อตกลง ว่าพรรคนั้นให้อะไร พรรคนี้ได้อะไร เราไม่เคยเห็นการร่วมรัฐบาลของการเมืองไทยมีการเขียนสัตยาบันร่วมกัน อันนี้ต้องเรียกร้อง และถ้าจะให้ดีพรรคการเมืองต้องได้สิบเสียง สิบเสียงเป็นตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาลได้ เป็นตัวแปรการโหวตเรื่องสำคัญๆ ดังนั้นพรรคใหม่ต้องได้ 1 ล้านเสียง จากทุกอย่างทั้งหมด เพราะเราใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ทีนี้ต้องคำนวณว่าตอนนี้เรามีเขตเลือกตั้งอยู่ 350 เขต คุณจะส่งลงกี่เขตเพื่อให้คุณได้อย่างน้อย 1 ล้านเสียง ก็หารเอา
พรรคที่เสนอตัวเป็นทางเลือกใหม่ กับ เป็นฝ่ายสืบทอดอำนาจ มีการรวมตัวกันแบบไหน
ต้องแบ่งเป็นสองอย่าง พรรคที่ตั้งมาโดยมีรากฐานที่ดี คือมีความต้องการของสังคม เป็นพรรคการเมืองโดยทฤษฎีเกิดจากการแบ่งส่วนของสังคมเป็นกลุ่มๆ ตามลักษณะต่างๆ เช่น เชื้อชาติ สีผิว ศาสนา ความเชื่อต่างๆ ทางเศรษฐกิจ สังคมที่ควรจะเป็นไป
พรรคการเมืองสมัยก่อนเป็นการรวมตัวของคนที่มีความคิดเห็นเหมือนกันแล้วค่อยมาตั้งพรรค มันต้องใช้เวลา ต้องเป็นกลุ่มผลักดัน กลุ่มผลประโยชน์ก่อน แล้วค่อยเป็นพรรคการเมืองเพื่ออยากลงเลือกตั้ง
ประเทศไทยกลายเป็นว่าเราอยากลงเลือกตั้งเราเลยขายไอเดีย หาสมาชิก แล้วหาคนสนับสนุน คุณจะมาแบบผักชีโรยหน้า เอาต้นไม้มาตั้งว่านี่คือความคิดของเราแล้วมาช่วยกัน แบบนั้นมันไม่ได้ พรรคการเมืองมันต้องการสะท้อนความต้องการของคนในสังคมทั้งนั้น เพียงแต่จะทำอย่างไรให้ขยายตัวออกไป
พรรคการเมืองไทยสะท้อนจุดยืนความคิดตัวเองมากขนาดไหน
การเมืองไทยเองอาจจะมีจุดยืนทางการเมืองไม่ชัด หากเราไปมองการโหวต หรือกฎหมายที่ ส.ส. โหวต พรรคการเมืองทุกพรรคโหวตไปทางเดียวกันหมด ไม่รู้ว่าพรรคนี้มีจุดยืนคืออะไร เราจึงไม่เห็นจุดยืนทางการเมือง
เราไม่เคยออกกฎหมายเพื่อจัดการกับปัญหาของประเทศ เราใช้เงิน ใช้กองทุนต่างๆ เรามีนโยบายแก้ไขปัญหาชาวนา ราคาสินค้าเกษตรเราก็ใช้เงิน จะจำนำข้าว จะประกันราคาข้าว แต่เราไม่เห็นกฎหมายปฏิรูปที่ดิน เราไม่แก้ที่ต้นเหตุ เอาเข้าจริงพรรคการเมืองไทยไม่ได้แตกต่าง เป็นเรื่องของตัวบุคคลมากกว่า
ดังนั้นเราเห็นชัดเลยว่าจุดยืนทางการเมืองพรรคการเมืองมันไม่มี คนไทยยังไม่รู้เลยว่าจุดยืนแบบใด เราต้องการให้รัฐเข้ามายุ่ง อยากให้รัฐเข้ามาช่วย แล้วคนไทยอาจมีจุดยืนทางการเมืองเหมือนกัน เพียงแต่ว่า แพ็กเกจของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งของพรรคไหนมันน่าสนใจที่สุด โดนใจประชาชนจับต้องได้ที่สุด
จริงๆ เราต้องพูดว่า พรรคใหม่หรือใครก็ตามที่เข้ามา จะสามารถชนะระบบอุปถัมภ์ทางการเมืองไทยได้หรือเปล่า
พรรคการเมืองไทย มักเป็นพรรคเฉพาะกิจจริงหรือไม่
มันไม่ใช่เรื่องของคนไม่กี่คนมารวมตัวกัน คุณต้องไปขยายฐานสนับสนุน คุณต้องมีคน องค์กร มีสาขาพรรคที่ดี ต้องมีนักการเมือง หรือคนมีอิทธิพลทางการเมืองที่แสดงตัวอยู่ในวงการเมืองที่ชัด เมื่อก่อนเรามีแค่คนที่แสดงตัวอยู่ในวงการเมือง แต่ไม่มีอย่างอื่นที่รองรับว่าพรรคการเมืองควรมีองค์ประกอบอย่างไร
พฤติกรรมการเลือกตั้งของคนก็ส่วนหนึ่ง ระบบการเลือกตั้งก็มีด้วย เมื่อก่อนคือพรรคไม่จำต้องเป็นพรรค เพราะคนเลือกคน คนย้ายไปอยู่พรรคไหนเขาก็ตามกาพรรคนั้น ไปตั้งพรรคเล็กๆ ก็ได้
กระแส ‘คนรุ่นใหม’ โผล่เข้ามาหนักมากในการเมืองไทยเวลานี้ เพราะอะไร
มันต้องใหม่ การเมืองไทยเป็นการเมืองที่ต้องการฮีโร่ตลอดเวลา คนไทยมักคุ้นชินกับการที่พอมีปัญหา ก็หาทางออก โดยคิดว่าจะหาใครมาแก้ดี คนคนนี้ก็ดูเป็นความหวัง เข้ามาสู่การเมือง การเมืองก็วนสู่จุดเดิม มีปัญหาอีกแล้ว งั้นขอคนใหม่ได้ไหม
กับอีกอย่างคือ พรรคการเมืองไม่ค่อยเป็นพรรคที่จะเสนอความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ส่วนกระแสคนรุ่นใหม่ บางทีมันมีปัญหาว่าของเก่าที่มีอยู่มันแก้ไม่ได้ ขอคนใหม่ๆ มาแก้ได้ไหม เป็นปกติของทุกที่ ดูง่ายๆ ไปดูผลการเลือกตั้งของคนกรุงเทพฯ ทุกการเลือกตั้งเปลี่ยนพรรคชนะอันดับหนึ่ง เหมือนบางทีเราก็ชอบลองของใหม่ ของเก่าไม่ดี มันสะท้อนว่าพอมีปัญหาทางการเมืองก็จะเรียกร้องให้เกิดการแก้ไข
คนรุ่นใหม่ ในพรรคการเมืองใหม่ กับ คนรุ่นใหม่ ในพรรคการเมืองเก่า คิดไม่เหมือนกันหรือ
เราต้องแยกอย่างนี้ก่อน พรรคการเมืองเก่าเองก็มีคนรุ่นใหม่ เราต้องมองอย่างเป็นธรรม คือถามว่าคนรุ่นใหม่ในพรรคเก่าอยากเปลี่ยนแปลงไหม อยากเปลี่ยนแปลง แต่อาจจะเกิดจากว่าในกรอบของพรรคการเมืองเดิม ไม่เอื้อ หรือถ้ามองภาพใหญ่ของการเมืองไทยมันไม่ใช่นักการเมืองเปลี่ยนแล้วทุกอย่างจะเปลี่ยนไปหมด โครงสร้างทางการเมืองกับโครงสร้างระบบราชการอาจไม่ได้เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขนาดนั้น
ดังนั้นพอมองคนใหม่ในพรรคเก่าที่เขาเสนอไอเดียใหม่ๆ อยากเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆ คนอยากเห็นอะไรใหม่ๆ แต่อย่าลืมว่าเรายังอยู่ในโครงสร้างทางการเมืองในประเทศที่ไม่ได้ปรับตัวกับไอเดียใหม่ที่เกิดขึ้น เราจึงมองว่าคนรุ่นใหม่ในพรรคเก่าไม่เห็นทำอะไรเลย เพราะอาจจะติดกรอบใหญ่
ในขณะเดียวกันคนที่เข้ามาเป็นพรรคใหม่จะต้องทำความเข้าใจกรอบอันนี้ ดังนั้นไม่ว่าใครก็ตามจะพรรคเก่า คนรุ่นใหม่ในพรรคเก่า หรือพรรคคนรุ่นใหม่เอง คุณทำความเข้าใจกรอบนี้อยู่หรือเปล่า ในขณะเดียวกันกรอบตรงนี้ มันอาจเป็นปัญหา กรอบทางการเมืองที่มีอยู่ถ้าจะเปลี่ยนจริง คนทั้งประเทศอาจต้องมาบอกว่า ไม่เอา
กรอบการเมือง ที่ว่ามันมีอุปสรรคมากขนาดไหนสำหรับพรรคการเมือง
กรอบกติกามันคลุมอยู่ มันอยู่ในพื้นที่ที่คนมาเล่นด้วยกัน เป็นพื้นที่ต่อสู้ทางการเมือง มีกรอบแบบนี้ คนอยากเปลี่ยนแต่พรรคติดกรอบตรงนี้ ดังนั้นเวลามีพรรคใหม่ๆ เกิดขึ้น มันสะท้อนอะไรไหม ทุกครั้งการเมืองคือการขายของ การต่อสู้คือการขายของ จะเอาแบบเดิมเพื่อให้คงอยู่ หรือแก้ปัญหาใหม่
ดังนั้นถ้าคุณคิดว่าปัญหาเดิมยังไม่ถูกแก้ หรือมีแนวทางใหม่ๆ การขายของพรรคใหม่ไม่ได้ใหม่ แต่อาจเป็นไอเดียใหม่ๆ มาจัดการกับปัญหาเดิม
คนรุ่นใหม่ ตื่นตัวทางโซเชียล แต่อย่าลืมว่าการแสดงออกทางโซเชียลไม่ได้การันตีว่าจะถูกส่งสะท้อนไปตรงกับการกาในคูหา
พรรคที่จะขับเคลื่อนตัวเองต่อไปในอนาคต ควรต้องปรับตัวอย่างไร
อย่างที่บอก ความหมายของพรรคการเมืองคือ 3 ฐานคุณมีครบไหม เราไม่อยากเห็นที่ทำการพรรคการเมืองประจำจังหวัด คือบ้าน ส.ส. พรรคการเมืองไม่ได้มีหน้าที่แค่เวลาเลือกตั้งส่งคนลงเลือกตั้งให้คนมาเลือก แต่พรรคการเมืองมีหน้าที่ให้ความรู้ทางการเมือง ที่ไม่ใช่ความรู้ทางการเมืองในกรอบกว้าง แต่ให้ความรู้ว่าพรรคทำอย่างนี้อยู่ มีความคิดอย่างนี้ อยากเห็นอะไร อยากทำอะไร เพราะในความจริงพรรคเป็นตัวช่วยประชาชนในการเลือกตั้ง เวลาเลือกตั้งประชาชนไม่มีเวลาเอานโยบายด้านต่างๆ ของพรรค 6 พรรคมาใส่ Excel แล้วมาให้คะแนน เราก็จะถามคนว่าพรรคนี้มีพฤติกรรมอย่างไร เชื่อใจได้หรือไม่
มองพรรคใหม่ ที่เข้ามามีโอกาสทางการเมือง ในสนามเลือกตั้งขนาดไหน
เอาพรรคคุณธนาธรนี่แหละ เราต้องแยกก่อนนะว่า คนที่ลงเขต จะลงปาร์ตี้ลิสต์ไม่ได้ โอเคนะ ถ้าคุณธนาธรตัดสินใจลงเขต คุณธนาธรต้องได้อย่างน้อย 3 หมื่นถึง 4 หมื่นเพื่อจะชนะเขต ถามว่าคุณธนาธรจะลงที่ไหน คุณธนาธรอาจมีสิทธิลงที่กรุงเทพฯ เพราะเกิดกรุงเทพฯ หรืออาจจะลงที่สมุทรปราการเพราะมีทะเบียนบ้านอยู่สมุทรปราการ
ถามว่าในกรุงเทพฯ หรือ สมุทรปราการ คุณธนาธรจะไปเบียดคนอื่นได้ไหม ถ้าลงจะได้ไหม 3 หมื่นถึง 4 หมื่น หรือถ้าหากตัดสินใจจะลงปาร์ตี้ลิสต์ แล้วจะส่งใครลงเขตเพื่อให้เก็บได้อย่างน้อย 7 หมื่นเสียง แล้วคุณธนาธรต้องเป็นที่หนึ่ง สูตรนี้คือใช้กับทุกพรรค ถ้าจะลง คุณต้องหาเสียง มันต้องสู้กับจิตใจคนเลือกด้วย การที่ให้ใช้บัตรใบเดียวแล้วคุณต้องเลือก มันต้องมองข้าม ส.ส. เขตไปด้วยนะ จริงๆ แล้ว ส.ส. เขตมีความใกล้ชิดกับเรา เราก็อยากให้เขาดูแล แต่ขณะเดียวกันเราต้องมองข้าม ส.ส. เขต แล้วไปเลือกพรรคเล็ก ใครก็ไม่รู้ แล้วก็เพื่อที่หวังว่า พรรคเล็กคนนี้ ปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 ของเขาจะได้ แต่ว่าบัตรใบเดียว คนนั้นได้ปาร์ตี้ลิสต์ไป แต่ในขณะเดียวกันเราก็มีสิทธิเสี่ยงที่จะไม่ได้ ส.ส. เขตที่เราถูกใจ
ส.ส. เขตคือคนที่เราวิ่งไปบอกว่าทำไมเราไม่มีถนน ไม่มีอะไรเหมือนจังหวัดอื่น เราจะเลือกคนที่ดูแลเราที่เขต หรือเราจะไปหวังกับ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ของพรรคที่เราอยากได้ แต่พรรคนี้ที่เราอยากได้ ถ้าเรามีปัญหาในพื้นที่เราจะวิ่งหาใคร แล้ว ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ที่เราอยากได้ตรงนี้ถ้าเกิดเป็นพรรคเล็กมีแค่ 1-2 คน มันจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรในทางการเมืองได้
บัตรใบเดียวกลายเป็นการเลือกคนที่รักพรรคที่ชอบและเลือกนายกฯ ที่ใช่ด้วย ตอนนี้คนต้องตัดสินใจ 3 อย่างอยู่ในบัตรเลือกตั้งใบเดียว เมื่อก่อนบัตร 2 ใบ คุณแยกตัดสินใจ แต่ตอนนี้คุณจะเอาอะไร การตัดสินใจ 3 อัน คุณเลือกอันไหน มีข้อดีข้อเสียกันหมด ถ้าคุณเลือกข้อหนึ่ง คุณได้ ส.ส. ที่ดูแลคุณได้ แต่คุณอาจจะได้นายกที่คุณไม่ชอบ แต่คุณได้ ส.ส. ที่ดูแลคุณดี แต่ถ้าคุณเลือกปาร์ตี้ลิสต์ คุณก็ได้พรรคที่ถูกใจเข้าไปในนั้น แต่ ส.ส. ที่ดูแลคุณอาจเป็น ส.ส. ที่ไม่ได้เรื่อง คุณไม่อยากได้คนนี้เพราะไม่เคยมาดูแลอะไรคุณเลย ถ้าคุณเลือกนายกฯ ที่ใช่ ก็เหมือนข้อสอง คุณได้ ส.ส. เขตที่ไม่ดูแลคุณนะ บัตรเลือกตั้งใบเดียว ทำให้ตัดสินใจยาก ทำให้พรรคจะส่งใครลง พรรคใหม่ใครจะลงปาร์ตี้ลิสต์ หรือจะลงเขต
แปลว่าพรรคเก่า พรรคใหญ่ที่มีอดีต ส.ส. จะได้เปรียบ
แน่นอน จริงๆ เราต้องพูดว่า พรรคใหม่หรือใครก็ตามที่เข้ามา จะสามารถชนะระบบอุปถัมภ์ทางการเมืองไทยได้หรือเปล่า
คนที่มี ส.ส. เก่า จะมีโอกาส เพราะ ส.ส. เก่าจะมีฐานคะแนนเสียง ดังนั้นพรรคเก่าจะมีสิทธิได้ ส.ส. มากกว่า พรรคใหม่ต้องหาโอกาสจากเด็กใหม่ๆ ที่มีสิทธิ อายุ 18-19 ที่ยังไม่ได้เลือกตั้ง กับคนที่บอกว่าเป็นพลังเงียบ ที่จริงไม่อยากใช้คำว่าพลังเงียบ เพราะคือคนที่ไม่เคยคิดจะไปเลือกตั้ง พลังเงียบคือไม่ถูกใจก็เลยไม่ไปเลือก แต่คนพวกนี้จริง ๆ แล้วอาจไม่อยากออกไปเลือกเลยก็เป็นได้
คือต้องบอกว่าการเลือกตั้งคือการขายของ การหาเสียงเราต้องหาเสียงกับคนที่ทำให้เราชนะเท่านั้น เราจะไม่เห็นพรรคการเมืองที่ออกนโยบายกว้าง แต่จะออกนโยบายแคบๆ เฉพาะกลุ่ม กลุ่มที่จะออกมาเลือกเขาแล้วทำให้เขาชนะ
พรรคในการเลือกตั้งแบบการเมืองไทย ที่เป็นระบบอุปถัมภ์ เรื่องหัวคะแนน ส.ส. เก่า มีหัวคะแนน จะมีโอกาสชนะมากกว่า ฉะนั้นพรรคที่มี ส.ส. เก่า คุณก็อาจมีสิทธิได้ ส.ส. เก่า แต่คุณจะไม่ได้เยอะ เพราะระบบเลือกตั้งเราไม่ได้เอื้อให้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ได้มากด้วย คือพรรคเก่าจะได้ ส.ส. เยอะ แต่ไม่มากพอจะเป็นพรรคใหญ่ได้ พรรคใหม่เองก็ต้องหาเสียงหนักให้ได้คะแนนเยอะพอสมควรที่จะเป็น ส.ส. ได้
โอกาสของพรรคขนาดกลางมีมากแค่ไหน
พรรคที่มีโอกาสมาก คือพรรคขนาดกลางที่มีในระบบการเมืองอยู่แล้ว เพราะพรรคพวกนี้โครงสร้างทางการเมือง เครือข่าย หัวคะแนนมี เช่น ชาติไทยพัฒนา ภูมิใจไทย มันมีคนที่แข่งไปแล้วได้ที่ 2 ที่ 3 เยอะแยะ ไม่ต้องหาเสียง ส่งคนเดิมที่สองที่สามมาลง ได้ ส.ส. เขตน้อยไม่เป็นไร แต่พรรคพวกนี้จะได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์มา แต่พรรคใหม่ แสนคะแนนจะเอาจากไหน ถามว่าแสนคะแนนไม่ยากหรอก คนรุ่นใหม่ วัยรุ่นเยอะแยะ แต่ 1 คนมันทำอะไรไม่ได้ มันต้อง 10 คนขึ้นไป มันต้อง 1 ล้านเสียง
ต้องสนใจสิ่งที่ไม่ได้เป็นเรื่องดราม่าทางการเมืองบ้าง คืออย่าสนแต่เพียงว่า ใครทะเลาะกับใคร แต่สนใจว่าเขาทะเลาะกันเรื่องอะไร แล้วหากใครชนะในการทะเลาะ ใครจะได้อะไร หรือไม่ได้อะไร แล้วเราจะได้อะไร
เลือกตั้งครั้งแรกของพรรคใหม่ เป็นแค่ยกแรกต้องดูยาวๆ
ใช่ ต้องไปช่วยหวังการเลือกตั้งครั้งต่อจากนี้ อีก 4 ปี 5 ปี เพราะถึงกติกาเป็นอย่างไรก็ตาม คุณจะแข็งแกร่งได้ภายใน 10 เดือนได้เลยหรือ คุณจะเอาชนะโครงสร้าง ระบบอุปถัมภ์ เครือข่ายทางการเมืองไทยได้หรือ
พรรคการเมืองใหญ่ๆ ที่อยู่ในปัจจุบันเขารู้อยู่แล้วว่า ถ้าชนะเขตเยอะ เขาจะไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์ ฉะนั้นเขาต้องส่ง ที่จริงไม่อยากใช้คำนี้ พรรคการเมืองที่เรียกว่าเป็นพรรคเครือข่าย เขาต้องใช้พรรคเครือข่ายของเขา ที่เผลอๆ จะไปตัดเสียงพรรคใหม่ด้วยซ้ำ
อีกอย่างเรื่องเป็นคนรุ่นใหม่ ตื่นตัวทางโซเชียล แต่อย่าลืมว่าการแสดงออกทางโซเชียลไม่ได้การันตีว่าจะถูกส่งสะท้อนไปตรงกับการกาในคูหา การกด Enter ในคีย์บอร์ด ไม่ได้หมายถึงการไปกากบาทพรรคนั้นในคูหาเลือกตั้ง เราจะแน่ใจได้อย่างไร
พรรคการเมืองใหม่ต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองแค่ไหน
คนรู้จักกันแป๊บเดียว จะไว้ใจกันได้อย่างไร โอเค พรรคใหม่อาจได้รับโอกาสจากคนเบื่อของเก่า แต่เมื่อคนเบื่อของเก่าเลือกคุณแล้ว คุณต้องเอาคนที่ขี้เบื่อของเก่า กลายเป็นฐานของคุณให้ได้ คือคนไทยชอบหวังของใหม่ พอของใหม่ทำให้ผิดหวัง ก็หวังของใหม่อันต่อๆ ไป ในขณะที่ของใหม่ ก็ไม่ทำให้ตัวเองเป็นของประจำใจ
ประชาชนควรจะรู้ทัน สนใจเรื่องพรรคการเมือง หรือมองแบบไหนดี
เอาเข้าจริงแล้ว คนทุกคนไม่มีใครสนใจทางการเมืองหรอก นอกจากสนใจดราม่าทางการเมือง เราไม่มีใครที่จะมานั่งอ่านนโยบายของพรรคทุกพรรคหมด คนทุกคนมักจะหาตัวช่วยในการเลือก หรือในการตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งมันมีข้อสรุปของสังคมไทย ว่าคนไทยมักมองที่หัวหน้าพรรค หรือไปคุยกันคนที่เป็นผู้นำความคิดทางการเมืองของตัวเอง ดังนั้นเราไม่ได้ขอให้คนไปหาความรู้ด้วยตนเอง แต่แค่แนะนำว่าในการมีพรรคการเมืองเยอะๆ การหาตัวช่วย เราแนะนำให้คิดดีๆ ว่าตัวช่วยนั้นเป็นตัวช่วยที่มีคุณภาพหรือไม่ ทุกคนหาตัวช่วยได้ทั้งหมด แต่ขอให้เป็นตัวช่วยที่มีคุณภาพ ถามหลายๆ คน ถามหลายๆ อย่าง
เพราะฉะนั้นต้องสนใจสิ่งที่ไม่ได้เป็นเรื่องดราม่าทางการเมืองบ้าง คืออย่าสนแต่เพียงว่า ใครทะเลาะกับใคร แต่สนใจว่าเขาทะเลาะกันเรื่องอะไร แล้วหากใครชนะในการทะเลาะ ใครจะได้อะไร หรือไม่ได้อะไร แล้วเราจะได้อะไร