“ลูกนี้เมสซีล็อกหาช่อง หาช่อง หาช่องได้แล้วปั่นโค้งๆ ครับ โอ้โห บอลเสียบสามเหลี่ยมเข้าไปอย่างสุดสวยเลย อาร์เจนตินาได้ประตูขึ้นนำ 1-0”
สำหรับแฟนฟุตบอลตัวยง ประโยคสำนวนการพากย์ข้างบนนี้เป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะไม่ว่าจะเป็นฟุตบอลลาลีกา, ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ไปจนถึงฟุตบอลไทยลีก เราจะได้ยินน้ำเสียงที่หนักแน่นและชวนให้รู้สึกตื่นเต้นแบบนี้เสมอ
เนื้อเสียงที่เป็นเอกลักษณ์และสไตล์การพากย์สุดเร้าอารมณ์เป็นของ อัฐชพงษ์ สีมา หรือ ‘น้าหัง’ ชายวัยกลางคนผู้ทำหน้าที่บรรยายเกมฟุตบอลซึ่งครองใจแฟนบอลน้อยใหญ่ทั่วบ้านทั่วเมือง
หลายๆ คนอาจจะรู้จักเขาในฐานะหนึ่งในนักพากย์ฟุตบอลที่ได้รับการยอมรับและความนิยมมากที่สุดในประเทศไทย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รู้ว่ากว่าจะผ่านมาถึงวันนี้ น้าหังผ่านอะไรมาไม่น้อย บางคนอาจไม่รู้ว่าสมัยหนุ่มๆ น้าหังแทบไม่เคยพากย์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก บางครั้งก็เคยถูกเขี่ยรายชื่อทิ้งเพราะเป็นแค่นักพากย์โนเนม ไม่นับการโดนวิพากษ์วิจารณ์ในการทำงานอีกมากมาย
การที่นักพากย์ฟุตบอลที่ไม่ได้มีชีวิตที่โรยมาด้วยกลีบกุหลาบหากแต่เจอขวากหนาม สามารถไต่เต้าขึ้นมาถึงจุดนี้ได้อย่างไรจึงเป็นคำถามที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
ในช่วงฟุตบอลโลกแบบนี้ THE STANDARD จึงขอนัดพบเพื่อพูดคุยกับนักพากย์คนดัง เพื่อเปิดตัวตน ความคิด หลักการในการทำงาน ความเห็นของฟุตบอลไทย และฟุตบอลโลกในความทรงจำของเขา
น่าแปลก! ที่เรานัดนักพากย์ฟุตบอลที่สนามกอล์ฟแห่งหนึ่งชานเมืองกรุงเทพฯ และแปลกยิ่งกว่า เมื่อน้าหังซึ่งพาลูกสาวมาซ้อมกอล์ฟกลับอยู่ในเสื้อเชียร์ทีมชาติไทยสีน้ำเงินเข้ม โดยอยู่ระหว่างการเปิดเว็บไซต์ต่างๆ ผ่านแท็บเล็ตเพื่อจดบันทึกข้อมูลเพื่อเตรียมตัวสำหรับการพากย์ฟุตบอลโลกอย่างละเมียดละไมและใจเย็นลงบนหน้ากระดาษ (โดยที่เจ้าตัวบอกว่าเป็นคนโลว์เทคไม่รู้จักเทคโนโลยีใดๆ ที่เห็นแท็บเล็ตนี่ก็ลูกสาวเปิดให้!)
ไม่ต้องเสียเวลามากมาย มาลองทำความรู้จักกับเขากันดูครับ กับนักพากย์จอมปั่นโค้งๆ ขวัญใจแฟนบอลคนไทยคนนี้ กับหลายเรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้ และบางคำถามที่คุณอาจจะเคยตั้งคำถามไว้
เริ่มมาเป็นนักพากย์ได้อย่างไร
สมัยเรียนผมเรียนด้านพลศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีนี้ตอนเรียนก็มีฟุตบอลภายใน เราก็พากย์ตามสนามแบบเฮฮาตามประสาเด็กวัยรุ่นทั่วไปที่ชอบพากย์ล่ะนะ แล้วอาจารย์ในตอนนั้นคือ อาจารย์สุวัฒน์ กลิ่นเกษร (หรือ ‘น้าติง’ ที่เรารู้จัก) แกเป็นนักพากย์อยู่แล้วก็เป็นครูของผมด้วย แกรู้เรื่องขึ้นมา เราก็บอกแกไปว่าอาจารย์ครับถ้ามีงานพากย์ชวนผมไปด้วยนะครับ แกก็บอกประมาณว่า อย่างเราจะได้เรื่องเหรอวะ (หัวเราะ) แต่พอแกได้จัดนักพากย์ของ UTV ก็ชวนเราไปทำด้วยกัน ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นเลย แล้วหลังจากนั้นก็ทำงานด้านนี้มาตลอดจาก UTV เป็น UBC
แมตช์แรกที่พากย์ออกโทรทัศน์จริงๆ
ย้อนกลับไปไกลเลย น่าจะเป็นฟุตบอลโปรตุเกส เป็นคู่ฝอยทองดาร์บี้ เอฟซี ปอร์โต กับเบนฟิกา หรือไม่ก็สปอร์ติ้ง ลิสบอน สักทีมนี่แหละ (หัวเราะ) แต่ไม่ใช่การพากย์สดนะ เป็นการพากย์เทป สมัยนั้นการพากย์ยากมาก เพราะเราไม่มีข้อมูลผู้เล่น ทีนี้ก็ต้องอาศัยช่วงประกาศรายชื่อก่อนเกมช่วยกันจดกับคนที่พากย์คู่กัน คนหนึ่งจดชื่อจากบนลงล่าง อีกคนจดชื่อจากล่างขึ้นบน หรือไม่งั้นก็ต้องกรอเทปย้อนกลับไปมาเพื่อดูชื่อหลังเสื้อของนักฟุตบอล จนได้ครบ 11 คนแล้วถึงจะพากย์ได้ มันยากนะ แต่นึกย้อนกลับไปแล้วก็เป็นเรื่องที่สนุกดี
จากจุดแรกที่เหมือนตัดบอลได้ในเขตโทษตัวเอง อัฐชพงษ์ สีมา เปิดเกมโต้กลับอย่างไรต่อ
สมัยนั้นก็เป็นนักพากย์อยู่ UTV เป็นหลัก แต่พอเป็น UBC เราโดนคัดออกเพราะว่าเป็นนักพากย์โนเนมสุด แต่พอถึงปี 1996 ก็ได้พากย์ต่อเรื่อง แล้วพอถึงฟุตบอลโลก 1998 ที่ประเทศฝรั่งเศส ก็ได้พากย์กับเขาด้วย และหลังจากนั้นก็อยู่ในแวดวงนี้มาโดยตลอด
ความรู้สึกตอนได้พากย์ฟุตบอลโลกปี 1998
ตื่นเต้นครับ เพราะเราโนเนม เอาจริงๆ เราได้มาพากย์เพราะเป็นเด็กสร้างของอาจารย์สุวัฒน์ก็ว่าได้ วันนั้นชื่อเสียงต่างๆ หรือความสามารถเองก็ยังไม่ดีพอหรอก ก็พยายามเต็มที่แล้วแต่ก็ตื่นเต้นมากตอนพากย์ จังหวะจะโคนต่างๆ ก็ยังมือใหม่อยู่ ยังไม่เก่งเท่าไร ผมก็เคยย้อนกลับไปดูเทปตัวเองนะว่าสมัยก่อนเราพากย์อย่างนี้เหรอ เป็นจุดสะท้อนตัวเราว่าเราควรปรับปรุงอย่างไรบ้าง
อะไรคือความยากในการพากย์ฟุตบอล
ผมว่าความยากของมันอยู่ที่การออกเสียง ส่วนตัวผมเองก็มีปัญหาอยู่บ้างในการออกเสียงภาษาอังกฤษ เพราะเราก็ไม่ได้พูดตั้งแต่เด็ก แต่พวกคำควบกล้ำต่างๆ ก็พยายามทำให้ถูก อีกเรื่องที่ยากคือการอธิบายเหตุการณ์ตรงนี้ให้มันถูกได้อย่างไร สมัยก่อนอย่างผู้รักษาประตูเอามือรับเราก็ว่าเข้าซอง ซึ่งมันไม่ใช่ ก็ต้องหามาว่าถ้าเข้าซองคือแบบนี้ ถ้าเอามือรับหรือปัดออกก็อีกแบบ เนี่ย ความยากมันอยู่ตรงนี้ ถ้าเราทำให้มันถูกต้องจริงๆ มันจะเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง
มีเรื่องอื่นที่ยากอีกไหม
สมัยก่อนทีวีก็ไม่ชัดอย่างนี้นะ ทีวีช่องตัวเล็กๆ เห็นนักบอลมองไกลๆ ลำบากมาก เราเลยต้องหาเทคนิคในการจำให้ได้ ซึ่งทุกวันนี้เลยกลายเป็นนิสัยว่าเราต้องจดลักษณะอย่าง คนนั้นใส่ผ้าพันแขนสีขาวไหม รองเท้าสีอะไร ถนัดซ้ายหรือขวา ต้องจำทั้งหมดให้ได้ คือเทคนิคของเราติดมาจากเมื่อก่อนที่มันมองไม่ชัด ส่วนทุกวันนี้มองชัดแล้วก็ไม่อยากแล้วล่ะ แต่เราก็ติดว่าต้องจดไว้เช่น คนนี้ชื่ออะไร ใส่รองเท้าสีอะไร ถนัดขาไหน เพื่อใช้ในการพากย์ เราจะได้ไม่พลาด เพราะเมื่อก่อนผมเนี่ยเป็นคนพากย์ที่ต้องตามเกมที่มันเร็ว แล้วพอเร็วภาพมันมองไม่ชัด บางทีแค่เขาสลับซ้ายขวากันเรามองไม่ทันแล้ว คิดว่าเป็นคนนี้ก็ไม่ใช่แล้ว เราก็ต้องแก้ใหม่ แต่หลังๆ ก็ดีขึ้นบ้าง
เสน่ห์ของการพากย์ฟุตบอลอยู่ตรงไหน
เสน่ห์ของการพากย์บอลเนี่ย ผมคิดว่ามันอยู่ที่เราพูดถึงเกมในจอเหมือนที่คนดูอยากให้เราพูด ตรงนั้นน่าจะเป็นจุดที่ต้องทำให้ได้ คนดูหลายๆ คนเห็นแบบนี้คิดว่าน่าจะพูดแบบนี้ ถ้าเราบอกตามที่เขาคิดเขาจะชอบนะ แต่ถ้าเราบอกอีกแบบหนึ่งอาจจะเป็นที่ขัดใจ คนพากย์ก็ต้องนั่งคิดว่าเราเป็นคนดู เราเห็นเล่นแบบนี้เราจะบอกว่าอย่างไร ต้องลองถอดตัวเราออกมาเป็นผู้ชมก่อน แล้วเราจะเข้าใจมากขึ้นว่าผู้ชมอยากเห็นพากย์อย่างไร พูดแบบไหนคนดูบอลจะชอบ เพราะบางทีเราเห็นบอลเล่นแบบนี้แล้วเราดันพูดอีกอย่าง บางทีเรายังขัดใจตัวเองเลย มีหงุดหงิดตัวเองเหมือนกัน
สไตล์การพากย์แบบน้าหัง
ผมจะเป็นคนพากย์ตามจังหวะเกม โดยจะแบ่งงานกับน้อง ‘ปากสอง’ (ผู้บรรยายร่วม) ให้เขาเป็นคนเสริมข้อมูลไปช่วงบอลตาย (เกมหยุดเล่น) เขาจะพูดอะไรก็ได้ แต่ถ้าบอลเป็น (เกมดำเนินต่อ) ผมจะเป็นคนพากย์ไปตามเกม ส่วนเรื่องจะรู้ได้อย่างไรว่าจังหวะไหนควรใช้เสียงหรือเร่งเสียงแบบไหนเนี่ย ถ้าเราอินกับมันเราจะรู้ว่าจังหวะนี้จะยิงไม่ยิง เช่นเราเห็นว่าเขาเลาะหาช่อง ถ้าเจอช่องแล้วจะยิงก็จะสามารถเข้าใจได้ เพราะเราเป็นนักบอลมาก่อนด้วยแหละ ก็รู้ว่าจังหวะไหนควรจะยิงหรือจะเล่นอย่างไร เพียงแต่บางทีก็ไม่ถูกเสมอไปนะ นั่งดูบางทีเราก็แป้กบ้าง เจอพวกบาร์ซาเนี่ยประจำ ประเภทเมสซีง้างแล้วจะยิงแต่ดันล็อกไม่ยิงอย่างนี้ เราก็ต้องเปลี่ยนทางกันใหม่
การพากย์พวกบาร์ซาเนี่ยทำให้เรามีสเตปมากยิ่งขึ้นนะ เพราะถ้าเป็นทั่วไปเนี่ยทีมอื่นง้างเท้าซัดไปแล้ว หรือปะทะแล้ว แต่พวกนี้จะมีจังหวะดึงจังหวะหลอก มันเลยทำให้เรามีสเตปในการมองมากยิ่งขึ้น เรียกว่าบาร์ซานี่เป็นครูอีกทีหนึ่งเลย
พากย์ฟุตบอลแล้วคิดจะพากย์อย่างอื่นบ้างไหม
ไม่นะ ผมพากย์แต่ฟุตบอล เหตุผลเพราะกีฬาแต่ละอย่างมันก็มีศาสตร์ของมันเอง เราก็จะไม่กล้าไปก้าวก่าย ผมชอบเล่นกอล์ฟแต่ก็ไม่กล้าพากย์กอล์ฟ เพราะเรารู้ว่ามันมีศาสตร์การเล่นที่แตกต่างกัน แต่ละสโมสร แต่ละลีกมันยังเล่นคนละอย่างกัน วิธีการเล่นต่างกัน ระบบ 4-2-3-1 กับ 4-4-2 เหมือนกันก็จริง แต่ว่าเล่นไม่เหมือนกัน 4-4-2 ของแต่ละประเทศยังเล่นไม่เหมือนกันเลย เราก็ไม่กล้าไปพากย์กีฬาอื่น พากย์แค่ฟุตบอลพอแล้ว
น้าหังเป็นคนที่พากย์บอลได้มันมาก แต่เกมฟุตบอลมันมีแมตช์ที่มันและไม่มัน ทีนี้ถ้าเจอแมตช์ที่ไม่มันจะทำอย่างไร
ผมว่าเราพากย์ให้มันได้หมด ขึ้นอยู่กับเรา ส่วนตัวผมชอบในการมองว่าโค้ชแต่ละคนจะจัดแผนลงมาเล่นอย่างไร วางหมากอย่างไรบ้าง แล้วคิดต่อว่าทำไมถึงจัดตัวแบบนี้ ทำไมถึงเปลี่ยนมาเล่นแบบนี้ เราก็จะศึกษาตรงนี้เพราะเราชอบ ชอบการวางแผน ชอบดูว่าเขาเหนือกว่าปุ๊บ เขาจะเล่นอย่างไร ตรงนี้ทำให้เราสนุกกับทุกเกม อีกอย่างคือผมมีความเชื่อที่ว่า ถ้าเราเป็นคนพากย์เบื่อ พากย์ง่วงนอน แล้วคนดูจะรู้สึกอย่างไร เขาจะไม่เบื่อตายเหรอ ไม่ว่าแมตช์ไหนผมก็สนุกกับมัน
มีเรื่องน่าประทับใจอยู่ครั้งหนึ่ง ผมเคยมีโอกาสได้ไปพากย์ข้างสนามต่างจังหวัดที่นราธิวาส จริงๆ ก็เป็นบอลเด็กๆ เล่นกันขำๆ แต่ผมไปแล้วเราก็พากย์เต็มที่เหมือนเดิม ไม่ว่าเขาจะเล่นกันได้แค่ไหน ซึ่งมันก็ทำให้เด็กๆ เขาก็มีความสุขกันมาก ถ้าวันนั้นผมพากย์ไม่เต็มที่เขาก็คงไม่ได้มีอะไรดีๆ กลับไปเลย ดังนั้นทุกนัดผมพากย์เต็มที่หมดเสมอ มันเป็นหลักการทำงานของผม
พากย์บอลมานับไม่ถ้วน มีแมตช์ในความทรงจำบ้างไหม
เอาล่าสุดเลยคือนัดชิงยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก นี่แหละช็อกที่สุดเลยตอนที่ (ลอริส) คาริอุส ปาบอลพลาดไปโดนเบนเซมาเข้าได้นี่เป็นอะไรที่ช็อกที่สุดแล้ว
เปิดตัวได้ไหมว่าเป็นสาวกทีมอะไร
(หัวเราะ) ผมเป็นแฟนลิเวอร์พูลครับ แต่เป็นแค่ระดับหนึ่งนะ เพราะจริงๆ ผมเป็นแฟนของ ‘เจ้าป่า’ น็อตติงแฮม ฟอเรสต์มากกว่า ในยุคผมจะทันช่วงราวๆ ปลาย 70 ต่อต้น 80 สมัยนั้นฟอเรสต์เก่งมาก ได้เป็นแชมป์ยุโรปด้วย แต่พอมาเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อนๆ มันแบ่งข้างกันเชียร์แค่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดกับลิเวอร์พูล ที่เป็นคู่แข่งกัน ถึงผมจะเชียร์ฟอเรสต์ แต่เราต้องใช้ชีวิตด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน เตะบอลด้วยกัน นอนในหอด้วยกัน ก็ต้องเชียร์บอลด้วยกัน ผมเลยมาเลือกเชียร์ฝั่งลิเวอร์พูล ซึ่งผมก็คิดนะว่าถ้าเราเชียร์แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดก็คงได้แอ็กไปแล้ว
แต่ที่ผมเลือกลิเวอร์พูลจริงๆ แล้วไม่มีอะไรมากหรอก ผมชอบสัตว์ ชอบธรรมชาติ ไม่ชอบผี ก็เลยไม่เชียร์ผีแดง แต่ถ้าเป็นตัวผู้จัดการทีมผมชอบ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน มากนะ เขาเป็นคนที่ทำฟุตบอลอังกฤษได้ยิ่งใหญ่มาก เก่งมากๆ เสียดายอย่างเดียวคือน่าจะมาทำลิเวอร์พูล
เขาบอกว่าฟุตบอลเป็นกีฬาที่ต้องเล่นเป็นทีม แปลว่าทีมเวิร์กคือสิ่งสำคัญที่สุดหรือเปล่า
ใช่ แน่นอน เพราะฟุตบอลเป็นกีฬาประเภททีม ความสามารถเฉพาะตัวก็ใช่ แต่ถ้าความสามารถมันแตกต่างกันมากทำให้ทีมเวิร์กไม่มา ทีมเวิร์กจะมาได้ก็ต่อเมื่อความสามารถและประสบการณ์ของนักเตะมันต้องใกล้เคียงกันด้วย
นึกถึงภาพว่าเรอัล มาดริด ทุกคนได้บอลจะมาให้โรนัลโดคนเดียวเนี่ย ถ้าคู่ต่อสู้ปิดสักอย่างก็ยากที่จะยิงได้ แต่ถ้าทุกคนมีความสามารถ เล่นแบบจังหวะใครจังหวะมันได้ ก็จะมีทางเลือกมากขึ้น มันจะไม่เกิดคอขวด แต่ถ้าความสามารถไม่เท่ากันหรือว่าระบบทีมไม่มีไม่ได้ การที่เขาวางแผนมาว่าจะขึ้นบอลแบบนี้ บอลต้องไปอย่างไรบ้าง สามารถควบคุมได้ว่าจะไปทางไหนโดยผ่านคู่ต่อสู้ได้แล้วเข้าไป จบ นี่คือทีมเวิร์ก
คิดยังไงกับคำว่าลูกกลมๆ อะไรก็เกิดขึ้นได้
มันเป็นสัจธรรม แต่มันก็มาด้วยการคิดวางแผนและความไม่ยอมแพ้ ฟุตบอลถ้าเสียงนกหวีดยังไม่เป่าก็ยังไม่จบ อย่างที่เขาว่าสงครามยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหารนั่นแหละ จริงๆ กีฬามันสอนเราได้หลายอย่างนะ ทุกกีฬาทั้งในและนอกสนาม อยู่ที่ใครจะสามารถเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาได้แค่ไหน
แล้วฟุตบอลเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของชีวิต
ร้อยเปอร์เซ็นต์ตอนเด็กๆ ผมโตมาแต่กับฟุตบอล สมัยเรียนก็เป็นนักฟุตบอล ถ้าชีวิตการทำงานก็ถือว่าทำมาตลอด ไม่ได้ไปจับกีฬาอื่น แต่จริงๆ แล้วผมใช้ชีวิตผมก็ชอบอยู่ในที่โล่งแจ้ง อย่างสนามกอล์ฟ ไม่ชอบอยู่ในเมือง ขัดกับอาชีพของเรานะ แต่เราโตมาแบบนี้ ชีวิตประจำวันผมก็ไปรับส่งลูก ภรรยา แล้วก็กลับมาเตรียมตัวทำงาน หรือออกกำลังกายบ้าง เราทำงานกลางคืน เราต้องออกกำลังกายสู้ ไม่งั้นมันไม่ไหว เราอายุมากแล้วเราก็ชอบตีกอล์ฟ ทุกวันนี้ผมก็สอนลูกสาวสองคนตีไปด้วยครับ
กลับมามองฟุตบอลไทยบ้าง มองสถานการณ์ในบ้านเราเป็นอย่างไร
ผมคิดว่าเราอยู่ในจุดที่ดี ญี่ปุ่นตอนเริ่มเขาก็เป็นแบบนี้แหละ ต้องเอาต่างชาติเก่งๆ เข้ามาเล่น เข้ามาฝึกสอน ตอนนี้หลายๆ สโมสรก็มีคนมีวิสัยทัศน์เข้ามาบริหาร เมื่อมีเม็ดเงินเข้ามามันก็เกิดความเป็นมืออาชีพต่อทั้งเด็กๆ นักกีฬาและคนทั่วไป ถ้าสโมสรไหนไม่สามารถเป็นอาชีพได้ก็จะถูกคัดลงไปตามระบบ สมาคมทุกชุดก็ตั้งใจพัฒนาวงการ เราเพิ่งเริ่มได้แค่ประมาณ 10-20 ปี จะให้เหมือนอังกฤษเลยก็คงไม่ได้ อย่างระบบเยาวชนก็เพิ่งจะเริ่มมีไม่นาน แต่ของแบบนี้ต้องใช้เวลาครับ แต่มันจะต้องเห็นผลในอนาคต ตอนนี้เราผลิตรถธรรมดาอยู่ แต่ต่อไปผมเชื่อว่าเราจะสร้างนักเตะระดับซูเปอร์คาร์ได้เช่นกัน
คิดว่าเราจะได้เห็นทีมชาติไทยในศึกฟุตบอลโลกหรือเปล่า
ได้เห็นแน่นอน ผมคิดว่าพวกเราทันนะ อย่างผมอาจจะต้องใช้ไม้เท้าถึงจะได้เห็น แต่ผมว่ายังไงก็ต้องได้เห็นแน่ อย่างที่บอกไปแล้วว่าทุกวันนี้เรามีระบบเยาวชนหลายๆ สโมสรเริ่มทำขึ้นมา ผมเชื่อว่าเราต้องได้เห็น ขั้นแรกต้องเชื่อมั่นก่อน สำคัญที่สุด แล้วได้ข่าวว่าเขาจะเพิ่มเป็น 48 ทีม เราก็มีโอกาสมากขึ้น ผมเชื่อว่าเราจะต้องได้ไป ถ้า 48 ทีมไม่ได้ไป 64 ทีมก็ต้องได้ไป (หัวเราะ) แต่ขั้นแรกเราต้องเชื่อมั่นก่อน
คิดว่าทีมไหนจะได้แชมป์ฟุตบอลโลกครับ
ปีนี้ผมคิดว่าดูยากครับ บราซิลในปีนี้ก็น่าลุ้น แต่บราซิลไม่มีกองหน้าตัวชนจะคอยปะทะคอยสร้างความปั่นป่วนให้กองหลังเสียสมาธิ ทีมอย่างสเปนกับเบลเยียมก็น่าสนใจ แต่ติดที่ตัวโค้ช แต่เท่าที่ผมบอกได้คือจับตาดูรัสเซียให้ดี ผมว่าครั้งนี้ระดับเป็นเจ้าภาพไม่ธรรมดา (ขณะที่สัมภาษณ์ฟุตบอลโลกยังไม่เริ่ม!)
คำถามสุดท้ายแล้ว อยากรู้คำว่าปั่นโค้งๆ มาจากไหนครับ
ผมพยายามพากย์ให้ตามวิถีของลูกฟุตบอลครับ บางทีลูกเปิดเลียด เปิดพุ่ง ผมก็พูดตามที่ตาเห็น ถ้าเป็นบอลจังหวะโค้งแล้วมันเข้าตา แบบที่มีมุมกล้องช่วยด้วย เช่น ถ่ายจากหลังคนยิงแบบนี้ สมมติเป็นคูตินโญ ซึ่งตากล้องเขารู้มุมอยู่แล้ว ถ้าคูตินโญปั่นโค้งๆ บอลมันจะโค้งตามมุมกล้อง เราก็พากย์ตามวิถีบอลก็แค่นั้นแหละครับ ไม่มีอะไรมาก (หัวเราะ)