เป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์บันทึกและเผยแพร่ภาพหลุมดำมวลยิ่งยวด ณ ใจกลางของกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา ซึ่งถือเป็นหลักฐานที่มีน้ำหนักชิ้นสำคัญว่ากาแล็กซีหรือดาราจักรที่เราอยู่นั้นมีหลุมดำมวลยิ่งยวดอยู่เป็นศูนย์กลาง
หลุมดำนี้รู้จักในชื่อ Sagittarius A* บันทึกได้จากกล้อง Event Horizon Telescope (EHT) โดยตัวหลุมดำนั้นไม่เปล่งแสง แต่ภาพถ่ายนี้แสดงให้เห็นเงาของหลุมดำที่ล้อมรอบด้วยวงแหวนสว่าง ซึ่งเป็นแสงที่โค้งงอตามแรงโน้มถ่วงของหลุมดำ โดยนักดาราศาสตร์ระบุว่าหลุมดำนี้มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของเรากว่า 4 ล้านเท่า
“เป็นเวลาหลายทศวรรษที่นักดาราศาสตร์สงสัยว่ามีอะไรอยู่ในใจกลางกาแล็กซีของเรา ดึงดาวฤกษ์เข้าสู่วงโคจรแคบผ่านทางแรงโน้มถ่วงอันมหาศาลของมัน” ไมเคิล จอห์นสัน นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์แห่งศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ฮาร์วาร์ดและสมิธโซเนียน ระบุในแถลงการณ์
หลุมดำดังกล่าวอยู่ห่างจากโลกราว 27,000 ปีแสง โดยระบบสุริยะของเราตั้งอยู่ในแขนเกลียวแขนหนึ่งในกาแล็กซีทางช้างเผือก ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมเราอยู่ไกลจากศูนย์กลางกาแล็กซีมาก
“การสังเกตการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนนี้ช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้นถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ใจกลางของกาแล็กซีเรา และให้ข้อมูลเชิงลึกใหม่ว่าหลุมดำขนาดยักษ์เหล่านี้มีปฏิกิริยากับสิ่งรอบๆ อย่างไร” จอฟฟรีย์ โบเวอร์ นักวิทยาศาสตร์โครงการ EHT แห่งสถาบันดาราศาสตร์และดาราศาสตร์ฟิสิกส์ Academia Sinica ในกรุงไทเป ไต้หวัน กล่าว
ภาพ: NASA Via Getty Images
อ้างอิง: