×

จับสัญญาณวัคซีน AstraZeneca ดีเลย์ หลัง สธ. ให้เลื่อนฉีดเข็ม 2 ห่างกัน 16 สัปดาห์ และบอกว่า ‘อย่าเน้นยี่ห้อ’

26.05.2021
  • LOADING...
วัคซีน AstraZeneca
  • วิกฤตโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน 2564 กลายเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต เพราะมีวิฤตของตัวเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์แพร่กระจายโรคได้รวดเร็วและรุนแรงขึ้นซ้อนกับวิกฤตการบริหารจัดการของรัฐบาล

 

  • ปัญหาใหญ่ 2 เรื่องก่อนหน้านี้คือ 1. ความไม่เชื่อมั่นในวัคซีนโควิด-19 ที่รัฐบาลจัดหามา ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่อยากฉีดวัคซีน และ 2. ผู้ประสงค์จะรับวัคซีนก็ติดปัญหาระบบลงทะเบียนที่ไร้ประสิทธิภาพ สองปัญหานี้เริ่มคลี่คลายขึ้นจากการผนึกกำลังของภาคเอกชน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ (ที่ไม่ใช่คนของกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง) รวมถึงสื่อมวลชนช่วยกันผลักดันสร้างความรู้ความเข้าใจ และสร้างระบบรองรับการฉีดวัคซีนที่ดีขึ้นในบางจังหวัด

 

  • เมื่อคนฉีดพร้อม ระบบลงทะเบียนพร้อมขึ้นมานิดหน่อย แต่ปัญหาใหญ่ต่อไปที่น่ากังวลคือ ‘วัคซีนโควิด-19’ ของไทยมีพร้อมให้ประชาชนหรือไม่

 

  • สัญญาณความไม่พร้อมของวัคซีนมีขึ้นเมื่อหลายโรงพยาบาลประกาศเลื่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อ AstraZeneca ขณะที่ สาธิต ปิตุเตชะ รมช. สาธารณสุข เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่าวัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งรัฐบาลขอให้ส่งล่วงหน้าช่วงเดือนพฤษภาคม จำนวน 1.7 ล้านโดสนั้นยังไม่สามารถส่งมอบได้ โดยจะเลื่อนไปส่งตามข้อตกลงเดิมคือ 6 ล้านโดสในเดือนมิถุนายน และอีก 10 ล้านโดสทุกเดือนยาวไปถึงเดือนพฤศจิกายน ส่วนเดือนธันวาคมจะส่งมอบอีก 5 ล้านโดส รวม 61 ล้านโดส

 

  • สัญญาณความไม่พร้อมของวัคซีนเริ่มชัดขึ้นอีก เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)​ กล่าวว่า สำหรับวัคซีน AstraZeneca ได้มีการประกาศไป ‘ก่อนหน้านี้’ แล้วว่าสามารถรับเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 16 สัปดาห์ จากเดิม 10 สัปดาห์ ซึ่งเลื่อนทั้งหมดให้เป็นล็อตเดียวกัน 

 

  • หมายความว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่จะมีการฉีดวัคซีน AstraZeneca นั้น เข็มที่ 1 เป็นเดือนมิถุนายน หลังจากนั้นเข็มที่ 2 ก็จะเป็นเดือนตุลาคม (ห่างกัน 4 เดือน) โดยปลัด สธ. อ้างว่ามีข้อมูลวิชาการรองรับว่ามีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันดีกว่า

 

  • ขณะที่เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม วันเดียวกัน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 2 หลังได้รับเข็มแรกเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ระยะห่าง 10 สัปดาห์ ไม่ใช่ 16 สัปดาห์ตามข้อมูลของปลัด สธ. ที่ยืนยันว่าจะมีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันดีกว่า

 

  • สำหรับระยะห่างระหว่างเข็มที่นานขึ้นของวัคซีน AstraZeneca มีที่มาจากการที่บริษัทไม่สามารถส่งมอบวัคซีนได้ทันกำหนดในสหราชอาณาจักรและบราซิล เพราะตอนแรกก็ให้เว้นระหว่างเข็ม 4 สัปดาห์เหมือนวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ แต่เมื่อส่งมอบไม่ทันทำให้มีคนได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 นานกว่า 4 สัปดาห์ จนเมื่อถึงขั้นตอนการวิเคราะห์ผลการศึกษา ผู้วิจัยได้แยกวิเคราะห์ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน ‘ช้ากว่ากำหนด’ นี้กลับพบว่ามีประสิทธิภาพดีกว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีนตามกำหนด

 

  • มีการตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสาร Lancet เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 สำหรับผู้ฉีดวัคซีน AstraZeneca ระยะห่างระหว่างเข็มนาน 12 สัปดาห์ (คณะผู้วิจัยระบุในเอกสารเลยว่ามี “การจัดหาวัคซีนมีแนวโน้มที่จะขาดแคลนอย่างน้อยในขั้นต้น ผู้กำหนดนโยบายจะต้องตัดสินใจว่าจะกระจายวัคซีนที่มีอยู่อย่างไรให้ดีที่สุด”) พบว่ายิ่งเพิ่มระยะห่างระหว่างเข็ม ‘นานขึ้น’ ยิ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้ ‘เพิ่มขึ้น’ โดยเฉพาะเมื่อเว้นห่างมากกว่า 12 สัปดาห์ จะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 81.3%

 

  • อย่างไรก็ตาม การขยายระยะเวลาเพิ่มเป็น 16 สัปดาห์ยังไม่มีหลักฐานรองรับมากนัก โดยในงานวิจัยข้างต้นไม่ได้ระบุว่าอาสาสมัครในกลุ่ม ‘มากกว่า 12 สัปดาห์’ ได้รับการติดตามไปนานถึง 16 สัปดาห์คิดเป็นร้อยละเท่าใด ถึงแม้ว่าโดยหลักการแล้วน่าจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เหมือนกัน แต่ระหว่างที่รอฉีดเข็มที่ 2 ระดับภูมิคุ้มกันและประสิทธิภาพอาจลดลงได้

 

  • ที่สหราชอาณาจักรมีการปรับลดระยะห่างลงจาก 12 เป็น 8 สัปดาห์ในกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง 9 กลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 เพราะความกังวลต่อสายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ โดยจากการศึกษาของหน่วยงานด้านสาธารณสุขของอังกฤษพบว่า วัคซีนเข็มแรก (วิเคราะห์รวมทุกยี่ห้อ) มีประสิทธิผล 33.5% ต่อสายพันธุ์อินเดีย (B1.617.2) ในขณะที่มีประสิทธิผล 51.1% ต่อสายพันธุ์อังกฤษ แต่ถ้าฉีดเข็มที่ 2 แล้วจะมีประสิทธิผลมากกว่า 80% ต่อทั้งสองสายพันธุ์

 

  • ล่าสุดวันนี้ (26 พฤษภาคม) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. สาธารณสุข ไม่ยืนยันว่าวันดีเดย์ฉีดวัคซีน 7 มิถุนายนนี้ประชาชนจะได้ฉีดวัคซีน AstraZeneca หรือไม่ แต่ได้ฉีดวัคซีนแน่นอน พร้อมบอกว่าอย่าเน้นยี่ห้อ 

 

  • อนุทินเลี่ยงการชี้แจงว่าวัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง โดยระบุว่าคู่สัญญาคือบริษัท AstraZeneca ไม่ใช่สยามไบโอไซเอนซ์ 

 

  • การขยายระยะเวลาฉีดวัคซีน AstraZeneca เพิ่มเป็น 16 สัปดาห์ ทั้งที่ยังไม่มีหลักฐานรองรับมากนัก รวมทั้งความไม่แน่นอนของการได้รับวัคซีนจาก AstraZeneca ที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลมั่นใจว่าการมีฐานผลิตวัคซีนในประเทศไทยจะทำให้ไทยมีวัคซีนเพียงพอ ยิ่งเพิ่มความเด่นชัดในสัญญาณความไม่พร้อมของวัคซีนมากขึ้นไปอีก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X