×

ต้นฉบับงานวิจัยระบุ วัคซีน AstraZeneca เข็ม 3 ทำให้ระดับแอนติบอดีเพิ่มขึ้น และหากเว้นระยะเข็ม 1 กับ 2 เพิ่ม ระดับแอนติบอดีก็จะสูงขึ้น – ‘ศ.นพ.มานพ’ ชี้การเพิ่มระยะเว้นระหว่างเข็ม 1-2 อาจยังใช้ไม่ได้ตอนนี้

29.06.2021
  • LOADING...
AstraZeneca

ต้นฉบับการศึกษาใหม่ที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาตรวจสอบ (Peer Review) ที่เผยแพร่โดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในสหราชอาณาจักรระบุว่า การให้วัคซีน Oxford-AstraZeneca เข็มที่ 3 หลังจากเข็มที่ 2 มากกว่า 6 เดือน ทำให้ระดับของแอนติบอดีเพิ่มขึ้นมาก ส่วนระดับแอนติบอดีลบล้างฤทธิ์ต่อเชื้อสายพันธุ์แอลฟา เบตา และเดลตา หลังการรับวัคซีนเข็มที่ 3 ก็สูงกว่าในเข็มที่ 2 เช่นกัน การศึกษาในครั้งนี้ระบุว่ามีผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 จำนวน 90 ราย

 

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว Reuters รายงานความเห็นของผู้เกี่ยวข้องเสริมไว้ด้วย โดย เซอร์ แอนดรูว์ พอลลาร์ด ศาสตราจารย์ด้านการติดเชื้อและภูมิคุ้มกันในเด็ก และหัวหน้าผู้ตรวจสอบการทดลองวัคซีนของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าวถึงกรณีที่สหราชอาณาจักรกำลังมองหาแผนสำหรับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง โดยระบุว่าจากหลักฐานที่แสดงว่าวัคซีนสามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งนั้นหมายถึงอาจยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้วัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose)

 

“ณ จุดนี้ ที่มีการป้องกัน (โรค) ระดับสูงในหมู่ประชากรสหราชอาณาจักร และไม่มีหลักฐานว่าการป้องกันดังกล่าวเกิดการสูญเสียไป การให้วัคซีนเข็มที่ 3 ตอนนี้ในสหราชอาณาจักร ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ยังมีปริมาณวัคซีนเป็นศูนย์ ถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้” เขาระบุ

 

ส่วนข่าวที่เผยแพร่โดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกล่าวเพิ่มเติมว่า จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อติดตามผลกับผู้เข้าร่วมการศึกษาที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 เกินไปจากระยะเวลาที่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตั้งต้นด้วย

 

ต่อมาผลการศึกษาดังกล่าวยังรายงานว่า การรับวัคซีน Oxford-AstraZeneca เข็มที่ 2 เว้นจากเข็มแรกนานขึ้น ระดับของแอนติบอดีหลังรับวัคซีนเข็มที่ 2 ไป 28 วันก็จะสูงขึ้นด้วย โดยในการศึกษาดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมการศึกษาที่เว้นระยะการฉีดวัคซีนตั้งแต่ 8-12 สัปดาห์, 15-25 สัปดาห์, และ 44-45 สัปดาห์ ซึ่งใน 3 กลุ่มนี้ กลุ่มหลังสุดที่เว้นระยะยาวนานที่สุดพบระดับแอนติบอดีคิดเป็น 4 เท่าของกลุ่มแรก หลังรับวัคซีนเข็มที่ 2 ครบ 28 วันเท่ากัน โดยจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ที่ระยะ 44-45 สัปดาห์มี 30 คน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่ระบุว่า แม้ว่าระดับแอนติบอดีหลังการรับวัคซีน Oxford-AstraZeneca เพียง 1 เข็มจะค่อยๆ ลดลงระหว่างช่วงเวลาราว 1 ปีหลังการรับวัคซีน แต่ก็ยังอยู่เหนือระดับที่เป็นแนวฐาน (Baseline) ส่วนการตอบสนองของที-เซลล์หลังรับวัคซีน 1 เข็มก็อยู่เหนือระดับแนวฐานเช่นกัน ณ วันที่ 182 หลังการรับวัคซีน

 

ส่วนเรื่องผลข้างเคียงจากวัคซีนพบว่า วัคซีนทนต่อผลข้างเคียงได้ดี มีการเกิดผลข้างเคียงหลังรับวัคซีนเข็มที่ 2 และ 3 ต่ำกว่าเข็มแรก และข้อมูลด้านอายุพบว่า ผู้เข้าร่วมการศึกษาเหล่านี้ทั้งหมดมีอายุระหว่าง 18-55 ปี

 

จากผลการศึกษาเหล่านี้ คณะผู้ศึกษาระบุไว้ในส่วนอภิปรายผลการศึกษาถึงปัญหาการขาดแคลนวัคซีนในระดับโลก และอ้างถึงข้อมูลจากการศึกษาครั้งก่อนหน้าที่ระบุว่า การป้องกันโควิด-19 แบบมีอาการจากการรับวัคซีน Oxford-AstraZeneca เพียงเข็มเดียวจะอยู่ได้อย่างน้อย 3 เดือน แม้ว่าระดับแอนติบอดีจะลดลงบ้าง และการศึกษานี้ก็ทำให้เห็นว่าระดับแอนติบอดีจากวัคซีน Oxford-AstraZeneca เพียงเข็มเดียวสามารถอยู่เหนือระดับแนวฐานได้ถึง 1 ปี และระบุว่า “ข้อมูลเหล่านี้สำคัญสำหรับประเทศต่างๆ ที่การฉีดวัคซีนเข็มที่สองล่าช้าออกไป อันเนื่องมาจากการขาดแคลนวัคซีน”

 

สอดคล้องกับศาสตราจารย์พอลลาร์ด ที่กล่าวไว้ในข่าวประเด็นนี้ที่เผยแพร่โดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดว่า “นี่ควรเป็นข่าวที่สร้างความมั่นใจให้กับประเทศที่มีวัคซีนจำนวนน้อยกว่า ซึ่งอาจกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการฉีดวัคซีนครั้งที่ 2 ให้กับประชากรของพวกเขา”

 

Reuters ยังรายงานว่า การศึกษานี้ยังช่วยบรรเทาความกังวลที่ว่าวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ เช่น วัคซีนของ Oxford-AstraZeneca หรือ Johnson and Johnson จะสูญเสียกำลังของวัคซีนไป หากมีความจำเป็นจะต้องมีการฉีดวัคซีนเป็นรายปีจากความเสี่ยงที่ร่างกายจะสร้างการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่ต่อต้านส่วนที่เป็น ‘พาหะ’ ที่นำส่งข้อมูลทางพันธุกรรมของวัคซีนอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม หากถามว่าผลการศึกษานี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในบริบทของประเทศไทยได้มากน้อยเพียงใด THE STANDARD สอบถามไปยัง ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะ​แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่าผลการวิจัยเรื่องการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 นั้นเป็นข้อมูลที่ดี เพราะเป็นข้อมูลที่ทำให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ยังกระตุ้นแอนติบอดีได้อีก ซึ่งไม่ใช่วัคซีนทุกตัวที่จะกระตุ้นได้

 

ส่วนการมองไปถึงเข็มที่ 3 ของประเทศไทย ศ.นพ.มานพ ระบุว่าเป็นเรื่องที่ควรมอง เนื่องจากแม้วัคซีน Oxford-AstraZeneca สองเข็มจะให้ผลที่ดี แต่วัคซีน Sinovac สองเข็มยังให้ผลที่ไม่ดีอยู่

 

“ถามว่า AstraZeneca เข็ม 3 มันอาจจะต้องเอามาใช้ก็ได้นะ เราก็รู้ว่าจริงๆ ตัว AstraZeneca มันกระตุ้นภูมิได้ไม่สูงนัก มันอาจจะกลางๆ เพราะฉะนั้นมันอาจจะยังไม่มีเพดาน (ในการกระตุ้นภูมิ) มันก็ต้องฉีดไปถึงสามเข็ม มันถึงจะขึ้นได้ดีขึ้นไปอีก ซึ่งอันนี้มันจะไม่เหมือนกับ Pfizer เราเห็น Preprint (ต้นฉบับงานวิจัย) ที่ออกมาก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ที่เทียบกันระหว่างการสลับเข็มระหว่าง Pfizer กับ AstraZeneca เห็นเลยว่า Pfizer 2 เข็มเหนือกว่า AstraZeneca 10 เท่า เพราะฉะนั้นมันมีโอกาสเหมือนกันที่กระตุ้นเข็มสามด้วย Pfizer มันอาจจะไม่ขึ้นไปกว่าเดิมแล้ว คือมันตันแล้ว อย่างนี้มีโอกาส ขณะที่ AstraZeneca มันยังมี Room of Improvement คือมันยังมีที่พัฒนา มันก็เลยฉีดเข็มสามได้” ศ.นพ.มานพ ระบุ

 

ส่วนกรณีผลการศึกษาอีกส่วนหนึ่งที่กล่าวถึงการเว้นระยะระหว่างวัคซีน Oxford-AstraZeneca เข็มแรกและเข็มที่ 2 ศ.นพ.มานพ ระบุว่านี่เป็นการวิจัยที่บอกว่าเราจะยืดเวลาระหว่างเข็มแรกและเข็มที่ 2 ได้นานเพียงใด และจะส่งผลอย่างไรหรือไม่ ซึ่งการยืดระยะเวลาเข็มสองออกไปจะทำให้ระดับแอนติบอดีหลังเข็มที่ 2 นั้นดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าเราจะสามารถนำองค์ความรู้นี้มาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันได้

 

“เพราะว่าการวัดที่เขาไปวัดตอนผลสุดท้าย คือเขาวัดหลังฉีดเข็มสอง แต่เราต้องมองอีกด้านหนึ่งก็คือ การทิ้งช่วงอย่างนั้นแปลว่าคนที่ฉีดเข็มหนึ่งแต่ยังไม่ได้เข็มสอง ระดับภูมิคุ้มกันในช่วงเวลาระหว่างนั้นจะต่ำมากนะ เขาอาจจะติดเชื้อหรือว่าป่วยเป็นโควิดไปก่อน เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นเหตุผลแหละว่าถ้าเราดูตามสถานการณ์ การย่นระยะเวลากลับได้ผลดีกว่า ก็คือเราต้องป้องกันกับปัญหาเฉพาะหน้าก่อน ก็คือการระบาด”

 

เมื่อถามว่าทางผู้วิจัยชี้ว่ามีผลการศึกษาก่อนหน้าที่ระบุว่าการฉีดวัคซีนเข็มเดียวสามารถป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้ ศ.นพ.มานพระบุว่านั่นเป็นบริบทของเชื้อดั้งเดิม และการวัดดังกล่าวเป็นการวัดในห้องปฏิบัติการเท่านั้น

 

“การวัดเป็นการวัดในห้องแล็บว่ามันน่าจะพอต่อต้านได้ แต่ว่าการวัดในห้องแล็บมันก็เป็นไกด์ ว่าแล้วถ้าอย่างนั้นเราไปพิสูจน์ในสถานการณ์จริง ดูการใช้จริง ตกลงเป็นไปตามนั้นหรือเปล่า เราก็เห็นเลยว่าสถานการณ์จริงโดยเฉพาะกับการระบาดของเดลตา การฉีดเข็มเดียวผลมันแย่มาก เพราะฉะนั้นไม่ได้แปลว่าผลที่เราเห็นจากห้องแล็บ มันจะสอดคล้องไปกับการศึกษาทางคลินิกจริงหรือการใช้จริงเสมอ” เขากล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.มานพยังระบุเพิ่มเติมว่า แม้ว่าผลการศึกษาเรื่องการเว้นระยะเข็มแรกกับเข็มสองอาจยังไม่มีประโยชน์ในการใช้จริงกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ก็อาจจะมีประโยชน์ในอนาคต

 

“ถามว่าจะมีประโยชน์ต่อไปในอนาคตไหม อาจจะมีก็ได้ครับ หรืออาจจะใช้ในกรณีเช่น พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่ไม่ระบาด หรือคนคนนี้ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ณ ตอนนี้ เช่น อาจจะเป็นคนในพื้นที่ห่างไกล ไม่ได้พบปะผู้คน อย่างนี้ ก็อาจจะฉีดเข็มเดียวไว้ก่อน ทิ้งไว้ก่อน หลังจากนั้นเราก็กระจายไปให้คนอื่นก่อนที่ได้รับความจำเป็นมากกว่า แล้วค่อยกลับมาฉีดเข็มสองให้เขาทีหลังได้”

 

และเมื่อถามถึงจำนวนผู้เข้าร่วมในการวิจัยครั้งนี้ ศ.นพ.มานพชี้ว่าเนื่องจากเป็นการวัดเพียงแค่ระดับแอนติบอดี ไม่ใช่การวัดผลการศึกษาทางคลินิกจริง เช่น ป่วย-ไม่ป่วย, ติด-ไม่ติด ที่มีตัวแปรต่อผลการศึกษาสูงกว่า จึงไม่จำเป็นต้องใช้อาสาสมัครจำนวนมากนัก

 

ภาพ: Dipayan Bose / NurPhoto via Getty Images

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

 อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X