บริษัท AstraZeneca ระบุว่า ผลการทดสอบ ‘แอนติบอดีค็อกเทล’ หรือแอนติบอดีผสมในระยะที่ 3 ของทางบริษัท แสดงให้เห็นว่า ยาชนิดนี้ลดความเสี่ยงต่อโควิดที่มีอาการรุนแรงหรือการเสียชีวิตได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้นอนโรงพยาบาลและมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง เมื่อได้รับการรักษาภายใน 1 สัปดาห์หลังจากมีอาการครั้งแรก นอกเหนือจากการใช้เป็นยาฉีดป้องกันโควิดในผู้ที่ไม่ติดเชื้อ
โดย AstraZeneca เปิดเผยผลการทดสอบเบื้องต้นเมื่อวันจันทร์ว่า ยาดังกล่าวที่มีชื่อว่า AZD7442 ซึ่งเป็นการรวมกันของแอนติบอดี 2 ชนิด ช่วยลดความเสี่ยงของการนำไปสู่โควิดที่มีอาการรุนแรงหรือการเสียชีวิต (จากสาเหตุใดๆ) ได้ 50% ในผู้ป่วยที่ไม่ได้นอนโรงพยาบาลที่มีอาการมาเป็นเวลา 7 วัน หรือน้อยกว่า และการลดความเสี่ยงยังทำได้ดีกว่าในกลุ่มผู้ป่วยที่รับการรักษาภายใน 5 วันหลังมีอาการเริ่มแรก ซึ่งข้อมูลผลการทดสอบฉบับเต็มจะถูกส่งไปพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มีการตรวจสอบ (Peer-Reviewed Journal) ต่อไป
การทดสอบนี้ดำเนินการใน 13 ประเทศ และมีผู้ใหญ่ที่เข้าร่วมมากกว่า 900 คน ซึ่งผู้เข้าร่วมกว่า 90% มาจากกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงที่จะไปสู่โควิดแบบมีอาการรุนแรง ซึ่งรวมถึงผู้ที่มีโรคอื่นร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมีอีกการศึกษาหนึ่ง ซึ่งศึกษาการใช้ AZD7442 ในการรักษาผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาในขณะนี้
สำหรับความแตกต่างระหว่างยา AZD7442 และวัคซีนก็คือ ‘AZD7442’ มีแอนติบอดีที่ผลิตขึ้นในห้องปฏิบัติการ ซึ่งถูกออกแบบมาให้คงอยู่ในร่างกายเป็นเวลาหลายเดือน เพื่อยับยั้งไวรัสในกรณีที่มีการติดเชื้อ แต่ ‘วัคซีน’ นั้นอาศัยระบบภูมิคุ้มกันที่สมบูรณ์ เพื่อพัฒนาแอนติบอดีเป้าหมายและเซลล์ที่ต่อสู้กับการติดเชื้อ
เมเน แพนกาลอส ผู้บริหารของ AstraZeneca ระบุว่า ผลการรักษาจะเน้นย้ำถึงศักยภาพการใช้งานในอนาคตในฐานะ ‘การป้องกันที่ไม่ใช่วัคซีน’ เป็นหลัก โดยหากได้รับการอนุมัติให้ใช้งาน ยานี้ก็จะถูกนำไปใช้ในสถานที่รักษาเช่นกัน แต่สิ่งที่สร้างความแตกต่างสำหรับแอนติบอดีนี้ก็คือ มันสามารถนำไปใช้ในการป้องกันโรคได้ด้วย
ทั้งนี้ AstraZeneca ได้ยื่นขออนุมัติการใช้งานแอนติบอดีค็อกเทลนี้ในกรณีฉุกเฉินจากหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วในฐานะสิ่งฉีดเพื่อป้องกันโรค นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างยื่นข้อมูลการรักษาใหม่โดยใช้ AZD7442 ไปยังหน่วยงานกำกับดูแลด้านสุขภาพระดับโลก โดยยานี้ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันผู้ที่ไม่มีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนที่แข็งแรงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะหรือผู้ที่อยู่ในการดูแลมะเร็ง
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ยังมีการรักษาที่คล้ายกันด้วยกลุ่มของยาที่มีชื่อว่า Monoclonal antibodies ซึ่งก็กำลังถูกพัฒนาโดยบริษัทอีกหลายแห่ง อาทิ Regeneron, Eli Lilly และ GlaxoSmithKline ซึ่งพัฒนาร่วมกับหุ้นส่วนอย่าง Vir ซึ่งการรักษาด้วยยากลุ่มนี้ได้รับการอนุมัติให้ใช้งานในสหรัฐฯ เพื่อการรักษาโควิดที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางแล้ว นอกจากนี้ยังมีบริษัท Merck & Co ที่ผลิตยาเม็ดต้านโควิด ซึ่งลดความเสี่ยงในการเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ 50% ในการทดสอบกับผู้ป่วยระยะเริ่มต้นที่มีปัจจัยเสี่ยงอย่างน้อยหนึ่งอย่าง และได้ยื่นคำขอใช้ยาในกรณีฉุกเฉินต่อหน่วยงานกำกับดูแลในสหรัฐฯ แล้วเช่นกัน
ภาพ: Georg Wendt / Picture Alliance via Getty Images
อ้างอิง: