สำรวจความคิดเห็น ‘บลจ.’ ต่างระบุเป็นเสียงเดียวกันว่า ปีหน้าหุ้นไทยพุ่งต่อ รับ 2 อานิสงส์ ทั้งเศรษฐกิจโลกฟื้นและ Fund Flow เข้าตลาดหุ้น EM ระบุธุรกิจ ‘Old Economy’ ไม่หมดเสน่ห์
จากภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทยปีนี้ ดูเหมือนจะไม่ใช่ข่าวดีสำหรับนักลงทุนนัก สะท้อนจากดัชนีตลาดหลัททรัพย์ YTD (20 พฤศจิกายน 2563) ที่ -13.32% THE STANDARD จึงพาสำรวจมุมมองจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ ซึ่งคือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ต่างๆ ว่ามีมุมมองต่อหุ้นไทยในปี 2564 อย่างไรบ้าง และแนะนำการลงทุนอย่างไร
พรเทพ ชูพันธุ์ Executive Director กลุ่มวิเคราะห์การลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ ให้นิยามตลาดหุ้นปี 2564 ว่า ตลาดหุ้นปีหลังวิกฤตจะปรับตัวดีขึ้นเสมอ โดยประเมินว่าตลาดหุ้นไทยจะให้ผลตอบแทน 10% ต่อปี (ไม่รวมผลตอบแทนจากเงินปันผล) ในระยะ 2 ปีจากนี้ (2564 และ 2565) และในปี 2565 น่าจะปรับเพิ่มขึ้นไปที่ระดับ 1,600-1,700 จุดได้
แรงขับเคลื่อนหลักมาจาก 1. การค้นพบและพัฒนาวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้เกิดคาดหวังว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเดินหน้าและทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจฟื้นตัว 2. ภาคการท่องเที่ยวของไทยจะกลับมาขยายตัวอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองแรงขับเคลื่อนยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามต่อว่าจะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ตามที่หวังหรือไม่
พรเทพกล่าวว่า ธีมการลงทุนปีหน้าจะอิงกับเรื่อง Fund Flow เป็นหลัก สะท้อนจากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติในวันที่ Pfizer ประกาศว่าผลการทดลองวัคซีน ก็ทำให้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 28,000 ล้านบาทภายในวันเดียว จึงอนุมานได้ว่า ในปี 2564 ที่จะมีข่าวดีเรื่องวัคซีนและการผ่อนคลายล็อกดาวน์ออกมาเรื่อยๆ นักลงทุนต่างชาติก็จะเข้าลงทุนหุ้นไทยเรื่อยๆ เช่นกัน ซึ่งก็เป็นภาพเดียวกันทั้ง EM แต่ตลาดหุ้นไทยได้เปรียบตลาดหุ้นอื่นใน EM เนื่องจากยังปรับตัวขึ้นช้ากว่า
“ปีหน้ามองว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะเป็นกลุ่มที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยเป็นจุดสนใจอีกครั้ง เพราะตอนนี้นักลงทุนต่างชาติต่างก็เกาะกับธีมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและอุตสาหกรรมที่โดดเด่นของแต่ละประเทศเป็นหลัก และเมื่อมีเรื่องวัคซีนเข้ามาฟื้นความหวังด้านการเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกแล้ว แน่นอนว่าเรดาร์จะจับมาที่ตลาดหุ้นไทย เพราะเราเป็นจุดหมายด้านการท่องเที่ยวระดับโลก”
ฉะนั้นธีมการจัดพอร์ตลงทุนในปีหน้าจึงแนะนำให้ลงทุนในกลุ่มท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงหุ้น Commodity และหุ้นที่เกี่ยวเนื่องกับ Old Economy อาทิ ภาคการผลิตและพลังงาน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย มีมุมมองเป็นบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทยปีหน้า และคาดการณ์เป้าหมายดัชนีปีหน้าที่ 1,500 จุด เนื่องจากปัจจัยบวก 2 เรื่องหลักคือการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกันทั่วโลก ต่อเนื่องไปที่การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ทั้งภาคการเงินและการเดินทาง
อย่างไรก็ตาม ปี 2564 ตลาดหุ้นยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงในเรื่องการเมืองและศักยภาพของรัฐบาลด้วยเช่นกัน
สำหรับการจัดพอร์ตลงทุน แนะนำให้เน้นการลงทุนในหุ้นที่เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ (Quality Growth) เนื่องจากเชื่อว่าผลกระทบจากโควิด-19 อยู่กดดันการฟื้นตัวภาคเศรษฐกิจทั่วโลกอีกนาน โดยแนะนำให้ลงทุนใน 6 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่น่าจะได้รับอานิสงส์เป็นกลุ่มแรกๆ จากปัจจัยบวกดังกล่าวคือ
- กลุ่ม Utility ซึ่งจะได้รับผลบวกการความต้องการเชิงพื้นฐานที่จะฟื้นตัวขึ้นเร็วกว่ากลุ่มอื่น อาทิ ความต้องการน้ำ ไฟฟ้า ทั้งภาคครัวเรือนและภาคการผลิต
- กลุ่ม Commerce จากปัจจัยบวกเรื่องการคลายล็อกดาวน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจับจ่ายใช้สอยอีกครั้ง
- กลุ่ม Electronic ได้รับประโยชน์จากกระแสการใช้เทคโนโลยีทดแทนการทำกิจกรรมปกติ อาทิ การ Work from Home ซึ่งแม้จะมีวัคซีนและเริ่มทำกิจกรรมแบบเดิมได้ แต่ก็เชื่อว่าทิศทางการทำงานที่บ้านและการพึ่งพาเทคโนโลยีจะเป็นสิ่งจำเป็นอย่างต่อเนื่อง
- กลุ่ม Bank ซึ่งแม้จะมีปัจจัยน่ากังวลเรื่องหนี้เสียและการตั้งสำรอง แต่เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวและกลับมาเป็นปกติ หุ้นกลุ่มแบงก์มักจะได้รับอานิสงส์เสมอ
- กลุ่ม Transportation & Logistic รับอานิสงส์จากการคลายล็อกดาวน์
- กลุ่ม Tourism จะได้รับความคาดหวังว่าเมื่อกลับมาทำกิจกรรมตามปกติได้แล้ว ราคาหุ้นน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นรับความคาดหวังนี้ แม้ว่าการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาก็ตาม
กิตติคุณกล่าวเพิ่มว่า ในการจัดพอร์ตลงทุน ควรมีการกระจายความเสี่ยงอยู่เสมอ และการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โดยแนะนำให้จัดสรรเงินลงทุนไปยังตลาดหุ้นต่างประเทศ 30-50% ข้อดีของการไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศคือมีทางเลือกที่หลากหลาย เป็นการเพิ่มโอกาสการแสวงหาผลตอบแทน
ประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในปี 2564 มีความน่าสนใจเข้าลงทุนอย่างมาก เช่นเดียวกับตลาดหุ้นอื่นๆ ใน Emerging Market เนื่องจากได้รับอานิสงส์บรรยากาศการลงทุนและเศรษฐกิจทั่วโลกที่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีความชัดเจนไปแล้ว
หลังจากความไม่แน่นอนต่างๆ คลี่คลาย จึงเกิดปัจจัยบวกและความคาดหวังเพิ่ม 2 เรื่องคือ แผนการใช้มาตรากระตุ้นเศรษฐกิจของ โจ ไบเดน และการผ่อนคลายมาตรการทางการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก
“จากความคาดหวังในนโยบายใช้งบประมาณขาดดุลทางการคลังอย่างมหาศาลของ โจ ไบเดน และการผ่อนปรนทางนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง สวนทางกับสกุลเงินอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินหยวน แข็งค่าขึ้น ซึ่งก็จะมีผลกับกระแสเงินทุน”
อีกทั้งยังมีปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากการค้นพบและพัฒนาวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งประเทศไทย EM ก็จะได้รับอานิสงส์เช่นกัน โดยเฉพาะการการค้าระหว่างประเทศที่จะฟื้นตัวอย่างมาก
ธีมการลงทุนในปี 2564 ให้น้ำหนักไปที่หุ้น Value Stock หรือธุรกิจที่อยู่ใน Old Economy เพื่อให้สอดรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง รวมทั้งลงทุนของธุรกิจที่มีรอบวัฎจักร อาทิ กลุ่ม Commodity
มณฑล จุนชยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.วรรณ กล่าวว่า ปัจจัยขับเคลื่อนตลาดหุ้นไทยปีหน้าคือ 1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งยังคงต้องรอ โจ ไบเดน แถลงมาตรการอย่างเป็นทางการในต้นปีหน้าก่อน แต่เชื่อว่านโยบายที่ออกมาจะสอดคล้องกับนโยบายหาเสียง 2. ผลการพัฒนาและค้นพบวัคซีน ซึ่งแม้ทั่วโลกจะรับรู้ว่าต้องใช้เวลาในการขนส่งและกระจายให้ผู้คนเข้าถึงวัคซีนได้ แต่อย่างน้อยก็มีการค้นพบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“เมื่อสองปัจจัยนี้เกิดขึ้น จึงช่วยลดความกังวลของนักลงทุนและปลดล็อกความไม่แน่นอนที่กดดันตลาดหุ้นมาตลอด มุมมองของ บลจ.วรรณ ในช่วง 3 เดือนแรกปีหน้า บรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นทั้ง EM และ DM จะยังคงเป็นบวก”