×

สุริยะโต้ฝ่ายค้านปมเหมืองอัครา ไม่ได้เอาทรัพยากรชาติไปแลกเอกชนถอนฟ้อง ย้ำอนุญาตมาตั้งแต่ยุคทักษิณ ประยุทธ์มาแก้ปัญหา

โดย THE STANDARD TEAM
18.02.2022
  • LOADING...
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

วันนี้ (18 กุมภาพันธ์) ที่อาคารรัฐสภา สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลุกขึ้นชี้แจงต่อการอภิปรายของ จิราพร สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ถึงกรณีการเจรจาระหว่างฝ่ายไทยและบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด และการเลื่อนการออกคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหลายครั้งว่า 

 

สำหรับกรณีการเจรจาระหว่างฝ่ายไทยและบริษัทคิงส์เกต ฝ่ายไทยไม่ได้เป็นผู้เริ่มขอเจรจา แต่เป็นคำแนะนำของคณะอนุญาโตตุลาการในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ณ ประเทศสิงคโปร์ และเริ่มมีการเจรจากันในเดือนมิถุนายน 2563 และสำหรับเหตุผลในการเลื่อนออกคำชี้ขาดทั้งสามครั้ง ส่วนหนึ่งมาจากการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้การเจรจาเกิดความลำบาก และการเลื่อนแต่ละครั้งเป็นการตกลงระหว่างสองฝ่าย ถึงแม้จะไม่ได้ข้อยุติและการเจรจาระหว่างสองฝ่ายถือว่ามีความคืบหน้าและจะเกิดประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย เมื่อตกลงกันได้แล้วว่าจะขอเลื่อนคำชี้ขาดจึงแจ้งไปยังคณะอนุญาโตตุลาการทราบ ดังนั้นข้อกล่าวหาที่ว่ารัฐบาลเลื่อนแต่ละครั้งเป็นการตกลงเรื่องสิทธิประโยชน์นั้นเป็นความเท็จ ยืนยันว่าการเลื่อนคำชี้ขาดไม่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์หรือการอนุญาตใดๆ

 

สำหรับการกล่าวหาว่ารัฐบาลปกปิดข้อมูลนั้น สุริยะกล่าวว่า ตราบใดที่ยังไม่มีคำชี้ขาดทั้งสองฝ่ายนั้นไม่สามารถที่จะเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอนุญาโตตุลาการได้ และสำหรับข้อมูลที่บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ได้ออกมาเปิดเผยนั้นเป็นข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีหรือข้อมูลเกี่ยวกับการไต่สวน และทุกครั้งในการเลื่อนคำชี้ขาด ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำเป็น Press Release ทุกครั้ง 

 

สำหรับกรณีการอภิปรายว่าทางบริษัทคิงส์เกตเตรียมถอนฟ้องและสู้คดีจนถึงที่สุด และฝ่ายไทยอาจแพ้และจะต้องเสียค่าโง่กว่า 30,000 ล้านบาทนั้น สุริยะกล่าวว่า หากมองบัญชีการเงินของบริษัทอัคราที่ได้กำไรปีละ 800 ล้านบาท เมื่อนำมาเทียบกับค่าปรับ 30,000 ล้านบาท บริษัทอัคราจะต้องมีผลประกอบการไม่น้อยกว่า 38 ปี และหากบริษัทคิงส์เกตมั่นใจว่าจะชนะคดีและได้รับเงินจากฝ่ายไทยถึง 30,000 ล้านบาทนั้น จะเกิดการเจรจาระหว่างสองฝ่ายได้อย่างไร

 

ส่วนกรณีการอนุญาตและให้สิทธิสำรวจแร่ 44 แปลง และการนำผงทองคำออกมาจำหน่าย เป็นการประนีประนอมระหว่างสองฝ่ายนั้นก็ไม่เป็นความจริง ซึ่งการอนุญาตสำรวจแร่ 44 แปลงแก่บริษัทอัครานั้นเริ่มตั้งแต่ปี 2544 ในสมัยที่ ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี จนถึงปี 2550 ในสมัย พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้มีมติให้ชะลอการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำไปก่อน เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีนโยบายทองคำที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศ และต่อมาอีกหลายรัฐบาลได้มีการปรับปรุงนโยบายทองคำอย่างต่อเนื่อง จนถึงปี 2557 ที่มีเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ว่าประชาชนประสบปัญหาทางสุขภาพเกี่ยวกับการทำเหมือง ขณะที่ประชาชนในพื้นที่มีทั้งฝ่ายค้านและสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขณะนั้นจึงได้ส่ง 4 กระทรวงที่เกี่ยวข้องลงไปตรวจสอบ และมีข้อเสนอกลับมาว่าขอให้ยุติการทำเหมืองไว้ก่อน พล.อ. ประยุทธ์ จึงออกคำสั่ง คสช.ที่ 72/2559 ให้ระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชั่วคราว โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมกลับไปปรับปรุงนโยบายใหม่ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การขออนุญาตสำรวจแร่ การขอประทานบัตรทำเหมือง และจะต้องมีมาตรการป้องกันปัญหาสุขภาพด้วย 

 

กระทั่งวันที่ 1 สิงหาคม 2560 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบนโยบายทองคำ จึงทำให้บริษัทอัคราสามารถยื่นขออาชญาบัตรพิเศษที่เคยยื่นค้างไว้เมื่อปี 2560 ซึ่งกรณีนี้ฝ่ายค้านได้ตั้งคำถามว่า รัฐบาลมีผลประโยชน์หรือผลได้เสียในการต่ออาชญาบัตรพิเศษหรือไม่นั้น สุริยะกล่าวว่า ข้อเท็จจริงคือยังมีการฟ้องร้องคดีอยู่ และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นเกือบ 2 เท่า จึงเป็นเหตุให้บริษัทอัครากลับมาขอสำรวจแร่ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง จนอนุญาตอาชญาบัตรสำรวจแร่ให้ในเดือนพฤศจิกายน 2563 หากสำรวจเจอแหล่งแร่และประกอบการทำเหมืองทองคำได้ รัฐจะได้ประโยชน์จากค่าภาคหลวงและค่าภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมถึงมีการจ้างงานในพื้นที่ ที่สำคัญการออกอาชญาบัตร 4 แสนไร่เป็นการให้สิทธิสำรวจแร่ในพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่าไม่อนุญาตให้มีการสำรวจ 

 

สุริยะยืนยันว่า การอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษพื้นที่ 44 แปลง เป็นการดำเนินการตามระเบียบกฎหมายทุกประการ ไม่มีการแทรกแซง เร่งรัด แลกเปลี่ยนกับการถอนฟ้องคดีแต่อย่างใด

 

นอกจากนั้นสุริยะยังกล่าวอีกว่า ส่วนที่กล่าวหาว่าการอนุญาตให้บริษัทอัคราเอาผงทองไปขายเพื่อแลกเปลี่ยนการถอนฟ้องคดีนั้น ในอดีตบริษัทอัคราจะนำผงทองคำและเงินที่ได้จากการทำเหมืองมาหลอมเป็นแท่งโลหะทองผสมเงินส่งออกต่างประเทศ แต่ช่วงที่ คสช. ระงับการทำเหมืองตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 บริษัทอัครามีผงทองและผงเงินค้างอยู่ ต่อมาวันที่ 9 สิงหาคม 2560 มีการยกเลิกการระงับการประกอบกิจการชั่วคราว ดังนั้นในหลักการบริษัทอัคราสามารถนำผงทองคำและเงินที่เหลือไปหลอมส่งออกต่างประเทศได้ ซึ่งไม่ใช่การนำทรัพยากรของชาติไปแลกแต่อย่างใด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising