×

ที่ประชุมสภาถกร่าง #ปลดอาวุธคสช ยิ่งชีพ ชี้ต้องยกเลิก เพื่อให้กลับคืนสู่ระบบกฎหมายที่ออกโดยตัวแทนของประชาชน

โดย THE STANDARD TEAM
08.12.2021
  • LOADING...
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

วันนี้ (8 ธันวาคม) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. …. หรือร่าง #ปลดอาวุธคสช ที่เข้าชื่อเสนอโดยประชาชน 13,409 คน ร่างกฎหมายนี้เสนอให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวม 35 ฉบับ ที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ หนึ่งในผู้ชี้แจงร่างกฎหมายกล่าวต่อที่ประชุมว่า ภายใต้ระยะเวลากว่า 5 ปี ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติทำรัฐประหาร ประเทศไทยถูกปกครองภายใต้ระบบกฎหมายแบบพิเศษ คือระบบที่มีประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารเป็นใหญ่อยู่เหนือกฎหมายทั้งปวง

 

ในระยะเวลาอันสั้น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามออกประกาศและคำสั่ง นับได้ 556 ฉบับ แบ่งเป็น คำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งออกตามมาตรา 44 211 ฉบับ ประกาศ คสช. นับตามราชกิจจานุเบกษาเมื่อวานนี้ได้ 129 ฉบับ และคำสั่ง คสช. 163 ฉบับ ทั้งหมดออกมาโดยอำนาจเบ็ดเสร็จที่ขาดการมีส่วนร่วม ขาดการตรวจสอบ เมื่อประกาศใช้ก็มีผลบังคับทันที

 

ขณะที่เรามีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ใช้งานอยู่ 800 กว่าฉบับ แต่กลับมีประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารมาบังคับใช้พร้อมๆ กันกว่า 500 ฉบับ เราไม่ได้อยู่ในระบบกฎหมายที่ปกติแน่นอนครับ

 

“เป็นเวลาเกือบ 5 ปีครับ ที่เราอยู่ภายใต้ข้อห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ทั้งโดยประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ไม่เพียงแค่การชุมนุมบนถนนที่หายไป การรวมตัวประชุมในห้องปิด การจัดเสวนาวิชาการ การนัดพบปะพูดคุยประชุมกันก็ต้องห้ามไปด้วย มีคนถูกดำเนินคดีฐานชุมนุมทางการเมืองไปอย่างน้อย 421 คน

 

“เป็นเวลาเกือบ 5 ปีครับ ที่ คสช. มีอำนาจเรียกใครก็ได้ไปรายงานตัว ถ้าไม่ไปตามที่เรียกก็มีความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 ถ้าใครไปรายงานตัวแล้วก็ต้องเซ็น MOU ว่าจะไม่เคลื่อนไหว ถ้ายังเคลื่อนไหวต่อก็มีโทษเช่นเดียวกัน ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 40/2557 มีคนถูกดำเนินคดี 2 ข้อหานี้อย่างน้อย 15 คน 

 

“เป็นเวลาเกือบ 5 ปีครับ ที่สื่อมวลชนไม่ได้มีเสรีภาพ แต่เนื้อหาถูกจำกัดภายใต้ประกาศ คสช. 97-103/2557 ที่ห้ามวิจารณ์ คสช. ห้ามนำเสนอข้อมูลที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง แต่กลับบังคับให้ทุกสื่อต้องถ่ายทอดรายการที่ คสช. ประสานงานไป ก็ออกมาเป็นคนนั่งพูดคนเดียวอยู่ทุกวันตอนเย็น ยังไม่พอ ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 41/2559 ให้ กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) เข้ามาลงโทษสื่อ โดยคุ้มครองให้ กสทช. ไม่ต้องรับผิด ไม่ต้องถูกฟ้อง ซึ่งมีสื่อถูกสั่งลงโทษไปแล้วอย่างน้อย 59 ครั้ง 

 

“เป็นเวลาเกือบ 5 ปีครับ ที่พรรคการเมืองทุกพรรคถูกสั่งห้ามทำกิจกรรม ภายใต้ประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 แต่พอมีกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายเลือกตั้งออกมา และก็เป็นหัวหน้า คสช. ที่จะลงสมัครแข่งขันในสนามเลือกตั้ง ก็ยังต้องมีคำสั่งหัวหน้า คสช. อีก 2 ฉบับ ค่อยๆ ให้พรรคอื่นทำกิจกรรมได้ทีละนิดตามที่ คสช. อนุญาต

 

“เสรีภาพการแสดงออก เสรีภาพการชุมนุม เสรีภาพสื่อ ในยุคของ คสช. จึงไม่มีอยู่เลย หรือมีอยู่บ้างก็เพียงเท่าที่ คสช. อนุญาตให้มีได้เท่านั้น” ยิ่งชีพกล่าว

 

ยิ่งชีพกล่าวอีกว่า หลังการรัฐประหาร สิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนก็ไม่มีอยู่ แต่ได้กลับมาหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ เราเริ่มทำกิจกรรมเพื่อรวบรวมรายชื่อประชาชนให้ครบ 10,000 รายชื่อ ตั้งแต่ปี 2561 ใช้เวลาไปถึงปีครึ่ง ถูกทหารเข้าขัดขวาง ห้ามทำกิจกรรม ห้ามรวบรวมรายชื่ออยู่ก็หลายครั้ง จนนำรายชื่อประชาชน 13,409 รายชื่อมายื่นต่อรัฐสภาได้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 และรออยู่อีกถึง 2 ปีครึ่งกว่าที่ร่างนี้จะได้เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมในวันนี้

 

ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปีเต็มของการเรียกร้อง และรอคอยให้สภาจากการเลือกตั้งมาทบทวนประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหาร บางฉบับก็สิ้นผลไปด้วยตัวของมันเอง บางฉบับก็ถูกแปลงร่างไปอยู่ในกฎหมายอื่น และบางฉบับ คสช. ก็ยกเลิกเองไปแล้ว แต่หลายฉบับก็ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ และอีกหลายฉบับที่เป็นมรดกของกฎหมายยุคการรัฐประหารที่เราไม่ได้ยื่นขอยกเลิกมาในครั้งแรกด้วยก็ยังคงอยู่ เพราะเมื่อเราเริ่มทำกิจกรรมรวบรวมรายชื่อและยื่นมานั้นเราไม่มีอำนาจแก้ไขร่างได้อีก ถ้าหากประกาศคำสั่งที่ยังคงตกค้างอยู่ ไม่มีการออกกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติมายกเลิก ก็จะยังคงอยู่ในระบบกฎหมายและบังคับใช้ได้จนกระทั่งรุ่นลูกรุ่นหลานสืบไป

 

ดังนั้นหาก ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งเห็นสมควรว่า ถึงเวลาที่มรดกของ คสช. จะต้องถูกนำมาศึกษา ทบทวน และรื้อถอนสิ่งที่ตกยุคหมดสมัยออกเสีย ก็ขอให้วันนี้ลงมติรับร่างฉบับนี้ที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอกันมา หากตัวร่างที่เสนอในวันนี้ยังไม่ได้อัปเดตถึงที่สุด หรือมีความไม่สมบูรณ์ทางเทคนิคบ้าง เพราะต้องรอเวลาจนผ่านมาเนิ่นนาน เราก็หวังว่าจะได้ไปช่วยกันแก้ไขตกเติมให้สมบูรณ์ขึ้นในวาระที่ 2 ต่อไป 

 

“ไม่ว่า คสช. จะอ้างเหตุผลอะไรในการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 หรืออ้างเหตุผลอะไรที่ออกประกาศคำสั่งมาเพิ่มอำนาจให้ทหารและจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในช่วง 5 ปีนั้น บัดนี้เหตุผลทั้งหมดผ่านไปแล้ว เหลือเพียงคำถามที่ตั้งอยู่ตรงหน้าของทุกท่านว่าสังคมไทยจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร จะอยู่กันโดยใช้ประกาศคำสั่งของคณะรัฐประหารเป็นหลักในการปกครองต่อไป หรือจะกลับคืนสู่ระบบกฎหมายที่ออกโดยตัวแทนของประชาชน ผ่านการคิดและถกเถียงอย่างรอบคอบ ผ่านการมีส่วนร่วม และอยู่ภายใต้ระบบตรวจสอบถ่วงดุล

 

เพื่อให้กฎหมายเป็นกฎเกณฑ์และกลไกที่สัมพันธ์กับประชาชน ออกโดยองค์กรที่มีความชอบธรรมจากประชาชน เพื่อที่จะใช้บังคับกับประชาชน ไม่ใช่เป็นแต่ข้อห้ามและบทลงโทษที่สั่งออกมาโดยคนถืออำนาจเท่านั้น” ยิ่งชีพกล่าวในท้ายที่สุด 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X