วันนี้ (22 สิงหาคม ) เวลา 11.20 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ในฐานะโฆษก บช.น. พร้อมด้วย พล.ต.ต. จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น., พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.), แถลงสรุปสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ทางการเมือง
พล.ต.ต. ปิยะ กล่าวว่า วันนี้มีการประกาศนัดชุมนุม 2 กลุ่ม คือ กลุ่มหมู่บ้านทะลุฟ้า บริเวณแยกคอกวัว เวลา 15.00 น. และเดินทางมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และกลุ่มทะลุแก๊ส มีการนัดหมายเวลา 17.00 น. บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง การชุมนุมดังกล่าว ทาง บช.น. ขอแจ้งเตือนว่า พื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวด การกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่มีลักษณะการรวมตัว มีการกระทำที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรค จะเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ควบคุมโรค
ส่วนการชุมนุมเมื่อวานนี้ เวลา 16.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการรวมตัวบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง จากนั้นได้เคลื่อนตัวมาที่บริเวณถนนวิภาวดีขาออก ปิดการจราจรหน้าโรงพยาบาลทหารผ่านศึก กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนได้นำลูกแก้ว ลูกหิน ระดมยิงเข้าไปในพื้นที่หน่วยราชการทหารคือ กรมดุริยางค์ทหารบก เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมีความจำเป็นต้องเข้าพื้นที่ดังกล่าว เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และแจ้งเตือนให้กลุ่มผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้ขว้างปาประทัดยักษ์ ไปป์บอมบ์ ใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บจำนวน 8 นาย บางส่วนเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ
นอกจากนี้มีการทำให้ทรัพย์สินราชการ เอกชน และสาธารณประโยชน์เสียหาย โดยเฉพาะทางการพิเศษแห่งประเทศไทย ถูกทุบทำลายเสียหาย อาทิ เครื่องมือที่ใช้ในงานควบคุมจราจร กรณีดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งหมด 13 คน พร้อมของกลาง ระเบิดปิงปอง 53 ลูก ระเบิดแสวงเครื่อง 10 ลูก เครื่องกระสุนปืนอีกจำนวนหนึ่ง ข้อหาความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.อาวุธปืน
ส่วนการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ดำเนินคดีทั้งสิ้น 90 คดี มีผู้ต้องหาที่จะถูกดำเนินคดี 481 คน จับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย 224 คน คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน บช.น. จะออกหมายเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมและกระทำผิดต่างๆ ภายใน 2 สัปดาห์ ออกหมายเรียกไปแล้วทั้งหมด 118 หมาย แบ่งเป็นกลุ่มแกนนำทั้งหมด 16 หมาย กลุ่มผู้ชุมนุมอื่นๆ 102 หมาย
ทั้งนี้ กรณีที่มีการใช้ความรุนแรงตามที่มีภาพปรากฏออกมา มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอั้งยี่ซ่องโจร การวางเพลิงเผาทรัพย์ และการสมคบกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดเหตุความรุนแรงในบ้านเมือง ทางพนักงานสอบสวนจะออกหมายจับกุมผู้ต้องหาที่ก่อเหตุดังกล่าว
เมื่อถามว่า กรณีที่มีการปรับกำลังวันแรกหลังยกสิ่งกีดขวางออกจากบริเวณถนนวิภาวดีรังสิตขาออกเป็นอย่างไรนั้น พล.ต.ต. ปิยะ กล่าวว่า ในส่วนการปรับยุทธวิธี พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้เฝ้าติดตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และให้มีการทบทวนการปฏิบัติและสั่งการให้นำสิ่งกีดขวางออกจากบริเวณถนนวิภาวดีรังสิต โดยคาดว่าจะไม่มีการกระทำรุนแรงแต่อย่างใด ปรากฏว่า กลุ่มผู้ชุมนุม กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ยังคงเข้ามาบริเวณดังกล่าว ขว้างปาสิ่งของ ทุบทำลายสิ่งของราชการเสียหาย
เมื่อถามต่อว่า ตำรวจจะต้องมีการปรับกำลังดูแลบริเวณสามแยกดินแดงในวันนี้หรือไม่ พล.ต.ต. ปิยะ กล่าวว่า ต้องมีการทบทวนการปฏิบัติในแต่ละครั้ง
เมื่อถามอีกว่า จะมีการใช้วิธีการเดิมทั้งแก๊สน้ำตาและกระสุนยางอีกหรือไม่นั้น พล.ต.ต. ปิยะ กล่าวว่า การใช้อุปกรณ์ระงับเหตุเป็นอุปกรณ์มาตรฐานทั่วไปอยู่แล้ว คงจะต้องมีการใช้ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ แต่เว้นระยะห่างระหว่างผู้ปฏิบัติหน้าที่กับกลุ่มผู้กระทำผิด เมื่อถามถึงการตั้งแนวตู้คอนเทนเนอร์ จะมีการขยับเข้าไปมากกว่าเดิมในพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดงหรือไม่ พล.ต.ต. ปิยะ กล่าวต่อว่า เมื่อวานได้เอาสิ่งกีดขวางดังกล่าวออกไปแล้ว หลายที่ก็มีการทดลองเอาออก แต่ถ้ารักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ต่างๆ ได้ ก็จะปรับการดำเนินการตามสถานการณ์และการข่าว
เมื่อถามถึงกรณีการตรวจสอบคลิปตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ที่นำอาวุธปืนจ่อยิงระยะประชิดใส่ประชาชนที่ขับรถจักรยานยนต์ผ่านเป็นอย่างไรนั้น พล.ต.ต. ปิยะ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวได้มีการสั่งให้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ต้องให้คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวให้เสร็จสิ้นก่อน
ถามต่อว่า ได้มีการเรียกตำรวจมาคุยบ้างหรือไม่ พล.ต.ต. ปิยะ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ในส่วนนี้จะต้องมีการดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ พอมีข้อมูลเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ส่วนจะต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ตำรวจรายดังกล่าวก่อนหรือไม่นั้น เนื่องจากการตัดสินใจดำเนินการกับเหตุเฉพาะหน้าอาจจะเป็นอันตรายเกินกว่าสิ่งที่ควรกระทำนั้น ต้องอาศัยการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นหลัก หากผลยังไม่ผิด ก็ยังปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ
เมื่อถามต่อว่า ถ้าใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุแบบนี้ต้องขีดเส้นตายตั้งกฎระเบียบการลงโทษหรือไม่ พล.ต.ต. ปิยะ กล่าวว่า ต้องรอผลของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ส่วนการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่อื่นที่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ตามมาตรฐาน พล.ต.ท. ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ได้เน้นย้ำทุกครั้งในการปฏิบัติอยู่แล้ว มีการประชุมปล่อยแถวเป็นสัดส่วนระดับกองร้อย ระดับหมวด ระดับหมู่ ซึ่งมีการเน้นย้ำตามปกติว่าให้คำนึงถึงความเดือดร้อนทั้งตัวประชาชนอื่นๆ และผู้ชุมนุม รวมถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติด้วย
ส่วนกรณีชาวแฟลตดินแดงที่ยังคงถูกลูกหลงอยู่นั้น พล.ต.ต. ปิยะ กล่าวว่า ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา แทบจะไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น แต่อาจจะเกิดกรณีที่มีการติดตามตัวผู้กระทำความผิดระยะกระชั้นชิด ทั้งนี้ ผบช.น. เน้นย้ำว่า ถ้าความผิดไม่ปรากฏต่อหน้าและมีผลกระทบอื่นๆ กรณีผู้กระทำผิดหลบไปบริเวณพื้นที่ส่วนบุคคล ก็ให้เก็บรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีภายหลัง
เมื่อถามต่อว่า มีความจำเป็นต้องติดตั้งเป็นตาข่ายบริเวณดังกล่าวหรือไม่ เบื้องต้นตำรวจได้ประสานการเคหะแห่งชาติ จะดำเนินการติดตั้งประตูเหล็กแยกกลุ่มผู้ชุมนุมกับชาวแฟลตดินแดงอย่างชัดเจน มีการปรับปรุงบางอย่างเพื่อป้องกันผลกระทบ
ส่วนกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมมาทำเพื่อความสะใจและมีการโพสต์เฟซบุ๊กนั้น ทาง พล.ต.ต. ปิยะ กล่าวว่า ทาง ผบ.ตร. เน้นย้ำว่า กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ให้สืบสวนดำเนินคดีการชักชวนหรือการโพสต์ขายวัตถุสิ่งผิดกฎหมาย การชักชวนผลิตแจกจ่ายกับผู้ชุมนุม ซึ่งห้วงที่ผ่านมาได้มีการสืบสวนประสานงานตำรวจท้องที่จับกุมตัวแล้ว
ส่วนกรณีเยาวชนอายุ 14 ปี และ 15 ปี ถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส พล.ต.ต. ปิยะ กล่าวว่า การสืบสวนสอบสวนคืบหน้าไปเยอะมาก ได้นำตัวผู้เสียหาย ผู้อยู่ในเหตุการณ์ มาสอบสวน ได้ข้อเท็จจริงประกอบคดี บางอย่างที่เป็นรายละเอียดขอสงวนไว้ก่อน แต่ในภาพรวมมีความคืบหน้าไปมากแล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างการพิสูจน์ทราบตัวบุคคล บางส่วนพอจะทราบตัวแล้ว แต่ขอรอภาพรวมทั้งหมดเพื่อความกระจ่าง ซึ่งจะมีการขอศาลออกหมายจับในข้อหาพยายามฆ่าเร็วๆ นี้
ด้าน พล.ต.ต. จิรสันต์ กล่าวว่า สำหรับการนัดรวมตัวในวันนี้มี 2 จุดหลัก ได้แก่ สี่แยกคอกวัว บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและสามเหลี่ยมดินแดง จึงอยากขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนให้เลี่ยงเส้นทางที่จะได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ดังนี้
- ถนนราชดำเนินใน
- ถนนราชดำเนินกลาง
- ถนนราชดำเนินนอก
- ถนนตะนาว
- ถนนดินสอ
- ถนนลูกหลวง
- ถนนหลานหลวง (แยกหลานหลวงถึงแยกผ่านฟ้า)
- ถนนประชาธิปไตย
- ถนนนครราชสีมา
- ถนนนครสวรรค์
- ถนนพิษณุโลก
- ถนนศรีอยุธยา
- ถนนพระราม 5
- สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า
ส่วนที่จะมีการรวมตัวกันบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ขอให้หลีกเลี่ยงเส้นทาง ดังนี้
- ถนนราชวิถี
- ถนนดินแดง
- ถนนวิภาวดี
- ถนนพหลโยธิน บริเวณพหลโยธิน ซอย 2
- ถนนพญาไท
นอกจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจะต้องควบคุมการจราจร โดยปิดบริเวณทางลงด่วนดินแดงและทางลงด่วนอนุสาวรีย์ชัย
ส่วนตามสี่แยกต่างๆ ที่ตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจรได้รับความเสียหายหลายแห่งนั้น เบื้องต้นได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไปคอยอำนวยความสะดวกตามสี่แยกต่างๆ ในช่วงเวลาเร่งด่วน เพื่อไม่ให้การจราจรตามแยกต่างๆ ติดขัด ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะประสานเร่งดำเนินการซ่อมสัญญาณไฟจราจรให้แล้วเสร็จ หากพี่น้องประชาชนมีข้อสงสัยหรือสอบถามเพิ่มเติม ให้ติดต่อได้ที่หมายเลข 1197 หรือเว็บไซต์ trafficpolice.go.th หรือเฟซบุ๊ก 1197 ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ พล.ต.ต. จิรสันต์ ยังชี้แจงถึงการจัดการจราจรในช่วงที่มีการชุมนุม โดยเฉพาะบริเวณถนนดินแดงและวิภาวดีรังสิตของกลุ่มทะลุแก๊ส ที่มักมีประชาชนและผู้ใช้รถใช้ถนนที่ไม่ทราบว่าเริ่มมีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือมีการรวมตัวของกลุ่มผู้ชุมนุม แล้วขับรถเข้าไปภายในจุดดังกล่าวเป็นจำนวนมาก จนเกิดการร้องเรียนกับสื่อมวลชนหลายครั้ง
เบื้องต้นในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการจราจรของเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ละจุดพบว่า ได้มีการนำแผงเหล็กมากั้นปิดการจราจรแล้ว และให้ตำรวจจราจรยืนประจำการในแต่ละจุด แต่เมื่อการชุมนุมรุนแรงขึ้นพบว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปพยายามทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจและนำแผงเหล็กที่นำมากั้นไว้ออก จนทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดและขับรถเข้าไปในจุดดังกล่าว
ทั้งนี้ การทำงานยังต้องประสานกับฝ่ายความมั่นคงเพื่อทราบความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมและนำไปปรับใช้กับการปิดการจราจรในพื้นที่ ทำให้เกิดข้อจำกัดในการทำงานค่อนข้างมาก แต่หลังจากนี้จะนำข้อมูลความต้องการของประชาชนไปปรับแก้ให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด