วันนี้ (10 สิงหาคม) ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กลุ่มสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยตัวแทนจากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้นัดหมายจัดชุมนุมในรอบ 2 ปี หลังจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ได้อ่านแถลงการณ์ 10 ข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ กระทั่งในเวลาต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าว เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และสั่งให้เลิกการกระทำนั้น
สำหรับการชุมนุมในวันนี้ เริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 17.00-21.00 น. มีแกนนำหลายคนได้ขึ้นปราศรัยในการชุมนุมครั้งนี้ เช่น ครูใหญ่-อรรถพล บัวพัฒน์, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เป็นต้น โดยเนื้อหาการปราศรัยส่วนใหญ่เป็นการขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึงเรียกร้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งครั้งหน้าในช่วงเดือนมีนาคม 2565 ด้วยส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ ไม่ใช่เพียงการลงคะแนนเสียงเท่านั้น และการเรียกร้องให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
นอกจากนี้ ยังพบกลุ่มแกนนำกลุ่มราษฎร เช่น ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ เบนจา อะปัญ เข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้ อดีตแกนนำทั้ง 2 ราย เป็นเพียงผู้เข้าร่วมเท่านั้น
ในช่วงท้ายของการปราศรัย แกนนำได้ขึ้นอ่านแถลงการณ์พร้อมกัน เพื่อประกาศเจตจำนง ยึดมั่น และยืนยันใน 3 ข้อเรียกร้องคือ
- พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและองคาพยพ ต้องลาออก
- ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
- ปฏิรูปสถาบันฯ ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย
พร้อมทั้งกล่าวเชิญชวนประชาชนให้พิจารณาการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วยมุมมองที่แตกต่างออกไป การเลือกตั้งในครั้งหน้าไม่ได้เป็นเพียงการออกมาใช้สิทธิเลือกผู้แทน หรือการเปลี่ยนแปลงตัวแสดงในสภา แต่ขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันมองการเลือกตั้งในครั้งหน้าในฐานะปฏิบัติการทางการเมือง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ที่สุด ที่ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทุกคนจะออกมารวมพลังพร้อมกัน พื่อเป็นประตูบานแรกสู่การอภิวัฒน์ทางสังคมการเมืองอย่างแท้จริง จึงได้ขอประกาศหลักคิด 6 ประการ เพื่อเป็นรากฐานแก่ฝ่ายประชาธิปไตย ในการนำเราสู่ชัยชนะในสนามการต่อสู้ครั้งหน้า
- การเลือกตั้งในครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงการเลือกตั้งทั่วไป แต่มันคือจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดในการเคลื่อนไหวต่อสู้ระลอกปัจจุบัน
- การเลือกตั้งในครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงการออกไปใช้สิทธิใช้เสียงทั่วๆ ไป แต่มันคือปฏิบัติการทางการเมืองในการแสดงอำนาจในเชิงจำนวนที่แท้จริงของประชาชนฝ่ายประชาธิปไตย
- การเลือกตั้งในครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงการลงคะแนนเสียง แต่คือตัวชี้วัดความเปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อโดยรวมทั้งหมดของสังคมการเมืองไทย
- การเลือกตั้งในครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงการเลือกผู้แทน แต่มันคืออาวุธในการกลับขั้วอำนาจทางการเมืองที่ทรงพลังที่สุด ซึ่งไม่มีอาวุธใดสามารถทดแทนได้
- การเลือกตั้งในครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงการเลือกตั้ง แต่เป็นการเปิดโครงสร้างโอกาสทางการเมือง และเป็นประตูบานแรกสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
- การเลือกตั้งในครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงการเลือกตั้ง แต่มันคือหนทางเดียวที่จะนำไปสู่การปฏิรูปในทุกองคาพยพของสังคมอย่างแท้จริง
บางช่วงของแถลงการณ์ระบุด้วยว่า “ดังนั้น การเลือกตั้งในครั้งนี้จึงไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการต่อสู้ แต่มันคือจุดเริ่มต้น คือหลักชัยแรกที่พวกเราฝ่ายประชาธิปไตยจำเป็นต้องได้มา เพื่อให้ความมุ่งหวังของพวกเราในการสร้างสรรค์สังคมแห่งประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค สามารถเกิดขึ้นได้จริงบนแผ่นดินแห่งนี้”
หลังจากเสร็จสิ้นการปราศรัยลง กลุ่มศิลปินวงสามัญชนได้ขึ้นแสดงดนตรี เพื่อสร้างความผ่อนคลายให้แก่กลุ่มผู้ชุมนุม ก่อนประกาศสิ้นสุดการชุมนุม