วันนี้ (2 มิถุนายน) นพดล ปัทมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร ได้พบปะหารือกับผู้แทนนักการทูตระดับสูงของประเทศฝรั่งเศสที่ดูแลภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในโอกาสเยือนไทยว่า ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยและฝรั่งเศสร่วม 170 ปีจะทำให้ความร่วมมือทวิภาคีหลายๆ ด้าน เช่น ด้านพลังงานสะอาด การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศและอื่นๆ แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นไปอีก
นอกจากนั้น กมธ. กังวลเกี่ยวกับปัญหาการสู้รบในเมียนมาที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย ซึ่ง กมธ. เคยเสนอให้ไทยเป็นหัวหอกร่วมกับอาเซียน จีน และอินเดีย ผลักดันการยุติการสู้รบและสร้างสันติภาพในเมียนมา โดยการหารือนี้ฝรั่งเศสสนใจปัญหาในเมียนมาอย่างมาก ตนได้เสนอให้ฝรั่งเศสและประเทศในยุโรปเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการร่วมคลี่คลาย-ยุติการสู้รบและสร้างสันติภาพในเมียนมา
ในส่วนของตนได้พูดคุยกับนักการทูตของประเทศมหาอำนาจที่มีที่นั่งถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างน้อย 4 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส เพื่อให้ประชาคมโลกได้ร่วมผนึกกำลังกันหาโรดแมปแก้ไขปัญหาในเมียนมาโดยเร็วที่สุด นอกจากนั้นตนได้ตอกย้ำข้อเสนอไปยังรัฐบาลว่า ประเทศไทยควรเป็นตัวกลางที่จะรับเอาความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมจากทั่วโลกส่งผ่านต่อไปยังประชาชนผู้เดือดร้อนในเมียนมา
นพดลกล่าวต่อว่า นอกจากประเด็นเมียนมาแล้วทาง กมธ. ได้ขอให้ฝรั่งเศสสนับสนุนการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีหรือ ATF ไทย-อียู ขอการสนับสนุนการที่ไทยขอยกเว้นวีซ่าเชงเก้นเข้ายุโรป และสนับสนุนความร่วมมือทางด้านซอฟต์พาวเวอร์ที่รัฐบาลนี้ได้ผลักดัน เพราะฝรั่งเศสเป็นซูเปอร์พาวเวอร์ทางด้านซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งจะทำให้ซอฟต์พาวเวอร์ไทย รวมทั้งสินค้าและบริการของไทยได้รับการความนิยมไปทั่วโลก และสุดท้าย กมธ.การต่างประเทศ ได้ขอเอาใจช่วยให้ฝรั่งเศสประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่จะถึงนี้
กระตุ้นทุกฝ่ายเร่งสร้างสันติภาพในเมียนมา
ก่อนหน้านี้ นพดลได้กล่าวถึงการสู้รบระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมาและชนกลุ่มน้อย และปัญหาผู้หนีภัยสงครามข้ามแดนมาไทยรวมถึงปัญหาการสร้างสันติภาพในเมียนมาว่า ตนเห็นว่าถ้าไม่แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เกาไม่ถูกที่คัน การสู้รบระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมาและชนกลุ่มน้อยก็จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทุกฤดูแล้งจะมีผู้อพยพหนีภัยสงครามเข้ามาฝั่งไทยและการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกปีต่อเนื่องไป นอกจากนั้นการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ข้ามแดน ปัญหายาเสพติด ปัญหากลุ่มคอลเซ็นเตอร์ตามแนวชายแดนก็คงแก้ไขได้ยากขึ้น
นพดลกล่าวต่อว่า กมธ.การต่างประเทศ เห็นว่าต้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง และยั่งยืน แก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือการสร้างสันติภาพในเมียนมาให้ได้ ซึ่งต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมาขึ้น ซึ่ง กมธ. เสนอไปตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม แก่นของปัญหาคือการที่ยังไม่มีสันติภาพอย่างยั่งยืนในเมียนมา โดยตนมีข้อเสนอดังนี้คือ
- รีบจัดประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเพื่อผลักดันและประเมินฉันทมติ 5 ข้อของอาเซียน และคิดหาเวทีหรือกลไกเพิ่มเติมที่จะขับเคลื่อนการสร้างสันติภาพในเมียนมาให้จริงจังมากขึ้น
- ไทยควรใช้โอกาสนี้เป็นหัวหอกในการผลักดันการสร้างสันติภาพในเมียนมา ทราบว่ากระทรวงการต่างประเทศใช้คำว่าทรอยก้าพลัส ซึ่ง กมธ.การต่างประเทศ เป็นคนแรกๆ ที่ใช้คำนี้ แต่ความหมายอาจแตกต่างกันบ้าง คือ กมธ. เห็นว่าทรอยก้าพลัสนั้นควรประกอบด้วยไทย ประธานอาเซียน จีน อินเดีย และอาจรวมบังกลาเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่มีชายแดนติดกับเมียนมา เพื่อหารือแนวทางและคิดโรดแมปในการสร้างสันติภาพในเมียนมาอย่างยั่งยืน
- เมื่อกลุ่มทรอยก้าพลัสมีโรดแมปในการสร้างสันติภาพที่ชัดเจนแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการจัดเวที พูดคุยกันกับกลุ่มต่างๆ ในเมียนมา เพราะการพูดคุยยุติปัญหาเท่านั้นที่จะลดการสูญเสียจากการสู้รบและปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในเมียนมา ซึ่งไม่ใช่ปัญหาภายในเท่านั้น แต่มีผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียนโดยรวม
“ผมคิดว่าไทยที่อยู่ในสถานะพิเศษ มีทั้งชายแดนติดเมียนมาและได้รับผลกระทบอย่างมากจากการสู้รบ ควรใช้โอกาสนี้ขับเคลื่อนการสร้างสันติภาพให้รวดเร็วและกระฉับกระเฉงมากขึ้น ควรใช้นโยบายการต่างประเทศเชิงรุก และประสานทุกฝ่าย เพราะยิ่งปล่อยเวลาเนิ่นช้าไป ผู้ได้รับผลกระทบคือพลเรือนผู้บริสุทธิ์ ปัญหาเมียนมาควรยุติโดยการเจรจาทางการทูตอย่างครอบคลุมและสร้างสรรค์ได้ แม้จะเป็นเรื่องยากเวลาที่ทุกฝ่ายจะเปลี่ยนแนวคิดและคำพูดไปเป็นการกระทำและผลสัมฤทธิ์ที่วัดผลได้ แต่หากมีเจตจำนงทางการเมืองและการทูตจะสำเร็จได้”