หุ้นเอเชีย ดูเหมือนว่าจะยังถูกปัจจัยลบปกคลุมอยู่ต่อเนื่อง หลังจากประเด็นความขัดแย้งบนเกาะไต้หวัน ล่าสุดนักวิเคราะห์ต่างมองว่ากำไรของบริษัทโดยรวมในเอเชียจะลดลงมากที่สุดนับแต่ช่วงเริ่มต้นโควิด
จากการรวบรวมความเห็นของนักวิเคราะห์โดย Bloomberg Intelligence คาดการณ์ว่ากำไรต่อหุ้นของบริษัทใน MSCI Asia Pacific Index ลดลง 16% ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา (เดือนเมษายน-มิถุนายน) ถือเป็นไตรมาสที่กำไรลดลงมากที่สุดใน 8 ไตรมาสที่ผ่านมา
คาดการณ์กำไรที่เกิดขึ้นตรงข้ามกับบริษัทใน S&P 500 ที่คาดว่าจะมีกำไรเพิ่มขึ้น 9% แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)
การคาดหวังต่อกำไรที่ลดลงเป็นปัจจัยที่กดดันเพิ่มเติมให้ MSCI Asia Pacific Index ลดลงเกือบ 16% ในปีนี้ และทำให้ปีนี้มีโอกาสที่ผลประกอบการของบริษัทเหล่านี้แย่สุดนับแต่ปี 2018
Rajat Agarwal นักกลยุทธ์หุ้นเอเชียของ Societe Generale SA กล่าวว่า ด้วยองค์ประกอบทั้งหมดสะท้อนถึงการพื้นตัวที่ไม่ยั่งยืนของหุ้น ทั้งกำไรที่ยังไม่ได้เข้าสู่ขาขึ้นรอบใหม่ ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ดูเหมือนจะถูกรับรู้เข้ามาในราคามากขึ้น และนโยบายการเงินที่ยังเข้มงวด
การชะลอตัวของจีนเป็นหนึ่งในปัจจัยกดดันที่สำคัญ โดยเฉพาะบริษัทในจีนแผ่นดินใหญ่ที่คิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของ MSCI Asia โดยกำไรของ MSCI China คาดว่าจะลดลง 12% ในไตรมาส 2 จากผลของการล็อกดาวน์ วิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ และปัญหาห่วงโซ่อุปทาน
ขณะที่ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ต่างถูกกระทบเช่นกัน โดยบริษัทอย่าง Samsung Electrics และ SK hynix ถูกปรับประมาณการกำไรลง 16% และ 34% ตามลำดับ จากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลงทั่วโลก เช่น สมาร์ทโฟน และพีซี
อย่างไรก็ตาม ยังมีสัญญาณบวกสำหรับหุ้นเอเชียอยู่บ้าง คือ ค่าเงินดอลลาร์ที่เริ่มหยุดแข็งค่า ทำให้กระแสเงินลงทุนเริ่มไหลกลับเข้าเอเชีย โดยภาพรวมนักลงทุนทั่วโลกกลับมาเพิ่มสัดส่วนหุ้นในเอเชียที่นอกเหนือไปจากจีนตลอดช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
ในขณะที่ Haider Ali ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนของบริษัทด้านการลงทุนในฮ่องกง กล่าวว่า “ขณะนี้ยังเร็วเกินไป และเราต้องรอดูแนวโน้มของเงินเฟ้อพื้นฐานในสหรัฐฯ รวมทั้งตัวเลขการว่างงานในเดือนนี้ ว่าจะช่วยเสริมความมั่นใจว่าแนวโน้มจะเป็นเช่นนี้จริงหรือไม่”
อ้างอิง: