ความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นทั่วทั้งเอเชียช่วงเช้านี้ (10 มีนาคม 2566) ปรับตัวลดลงทั่วทั้งภูมิภาค โดย ณ เวลา 11.30 น. ดัชนีหุ้นที่ลดลงหนัก ได้แก่ Hang Seng ฮ่องกง -2.6%, Nikkei 225 ญี่ปุ่น -1.7%, Taiwan Weighted ไต้หวัน -1.6%, BSE Sensex อินเดีย -1.5%, PSEi Composite ฟิลิปปินส์ -1.3%, KOSPI เกาหลีใต้ -1.1%, Shanghai จีน -1.1% ส่วนดัชนี SET ของไทย -0.5% อยู่ที่ประมาณ 1,605 จุด ลดลง 9 จุด จากวันก่อนหน้า
ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า แรงกดดันต่อตลาดหุ้นในเอเชียวันนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงแรงเมื่อวานนี้ประมาณ 2% จากความกังวลต่อหุ้นกลุ่มธนาคารของสหรัฐฯ ที่ร่วงลงหนัก
หลังจากที่ธนาคารที่เน้นปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าในอุตสาหกรรมคริปโตอย่าง Silvergate Capital ประกาศปิดตัวลง ขณะเดียวกัน Silicon Valley Bank ซึ่งเน้นปล่อยสินเชื่อให้สตาร์ทอัพที่ประสบปัญหาด้านสภาพคล่อง ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าปัญหาสภาพคล่องของกลุ่มธนาคารอาจลุกลาม และกลับมาประเมินกันใหม่อีกครั้งว่าธนาคารใดบ้างที่มีสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อให้กับสตาร์ทอัพสูง
“แม้คนจะกังวลว่าปัญหาอาจจะลุกลาม แต่ส่วนตัวคิดว่าความเสี่ยงยังไม่มากนัก เพราะธนาคารอย่าง Silicon Valley Bank ที่มีปัญหานั้นปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าสตาร์ทอัพเป็นหลัก นอกจากนี้นักลงทุนอาจจะชะลอการลงทุนเพื่อรอดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ที่จะประกาศออกมาคืนนี้”
สำหรับหุ้นไทยถือว่าแข็งแกร่งกว่าภูมิภาค โดยดัชนี SET ลดลงราว 0.5-0.6% และการที่ดัชนีลดลงมาอยู่ในระดับเป็นจุดที่น่าทยอยสะสม โดยประเมินว่าตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ที่ตลาดคาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นราว 2 แสนตำแหน่ง น่าจะออกมาใกล้เคียงกับการคาดการณ์ นอกจากนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่จะรายงานวันที่ 14 มีนาคม คาดว่าจะใกล้เคียงคาดที่ 6.2% เช่นกัน
“มองว่าหุ้นกลุ่มที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศยังเป็นกลุ่มที่น่าจะโดดเด่นกว่าตลาด รวมทั้งหุ้นที่เชื่อมโยงกับโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกน่าจะโดดเด่นขึ้นมาได้ ก่อนที่จะมีการประกาศผลประมูลใบอนุญาตในวันที่ 5 เมษายน”
ด้าน บล.ทรีนีตี้ ประเมินว่า ดัชนี SET น่าจะปรับตัวแข็งแกร่งกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ หลังจากที่ระดับ Valuation เริ่มนิ่ง และยังไม่เห็นสัญญาณน่ากังวลเกี่ยวกับความชัน Yield Curve ซึ่งเป็นประเด็นที่กดดันหุ้นกลุ่มวัฏจักรในสหรัฐฯ ณ เวลานี้
ขณะเดียวกันการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ระยะยาวและราคาน้ำมันดิบล่าสุด เป็นปัจจัยสะท้อนความกังวลด้าน Recession ที่มากขึ้น แต่ในมุมกลับกันถือเป็น Sentiment เชิงบวกต่อหุ้นกลุ่ม Anti-Commodity เช่น SCC, SCGP, GPSC, SFLEX
ในเชิงกลยุทธ์นักลงทุนที่สะสมหุ้นในกรอบ 1,580-1,600 จุด สามารถถือครองหุ้นต่อไปได้ โดยประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามต่อในวันนี้คือภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ได้แก่ การจ้างงานนอกภาคเกษตรล่าสุดตลาดคาดการณ์เพิ่มขึ้น 2.25 แสนตำแหน่ง อัตราการว่างงานตลาดคาดการณ์ที่ 3.4% และอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงตลาดคาดขยายตัว 4.7% จากปีก่อน และ 0.3% จากเดือนมกราคม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไขคำตอบ…ทำไม หุ้นเวียดนาม ดิ่งเกือบจะหนักสุดของโลก ล้างภาพดาวรุ่งแห่งเอเชีย
- จับตา! หุ้นฮ่องกง ดีดกลับจริงหรือแค่ชั่วคราว หลังผู้นำจีนส่งสัญญาณหนุนตลาดหุ้นอีกครั้ง
- ส่อง 9 ตลาดหุ้นเอเชีย ‘อินโดนีเซีย’ แชมป์เงินไหลเข้ามากสุด และเป็นตลาดหนึ่งเดียวที่ยืนบวก