×

สำรวจ 6 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความพร้อมของกำลังแรงงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

30.06.2023
  • LOADING...
แรงงาน

แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตโรคระบาด แต่ธุรกิจยังต้องเผชิญกับความท้าทายในด้านต่างๆ ที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความท้าทายด้านการเงิน สังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้ธุรกิจทั่วทุกภูมิภาค รวมถึงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต้องเร่งปรับตัว เพื่อเปลี่ยนความไม่แน่นอนให้เป็นโอกาส และเปลี่ยนปัญหาให้เป็นศักยภาพในการเติบโต

 

แต่การจะเปลี่ยนผ่านธุรกิจใดๆ เพื่อให้สามารถเอาตัวรอดและเติบโตได้ท่ามกลางความไม่แน่นอน องค์กรจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากพนักงานที่ก็ต้องมีความกระตือรือร้นและมีความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กันด้วย ซึ่งคำถามสำคัญในวันนี้คือ “แล้วพนักงานมีความพร้อมที่จะปรับตัวไปพร้อมกับองค์กรแล้วหรือยัง?” 

 

รายงานผลสำรวจ Asia Pacific Workforce Hopes and Fears Survey 2023: Is the workforce ready for reinvention? ได้รวบรวมความคิดเห็นของกำลังแรงงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จำนวนกว่า 19,500 คน ซึ่งมีผู้ตอบแบบสำรวจจากประเทศไทยรวมอยู่ด้วยถึง 1,000 ราย ได้นำเสนอ 6 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงของพนักงาน ไว้ได้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

 

  1. มุมมองต่อความสามารถในการอยู่รอดของธุรกิจ รายงานพบว่า 51% ของพนักงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเชื่อว่า บริษัทที่ตนทำงานอยู่จะไม่สามารถอยู่รอดได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า หากยังดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิม ใกล้เคียงกับแรงงานไทยที่ 49% โดยยังพบด้วยว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง มิลเลนเนียล (47%) มีมุมมองเชิงบวกต่อความสามารถในการอยู่รอดของธุรกิจน้อยกว่า กลุ่ม Gen X (62%) 

 

  1. ความรู้สึกของพนักงาน พนักงานในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในงานที่ทำอยู่ โดย 57% แสดงความพึงพอใจในงานปัจจุบัน ในขณะที่ 79% ของกำลังแรงงานไทยมีความพึงพอใจในงานของตน ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่ความพึงพอใจของกำลังแรงงานในประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่ 29% ถึง 45% 

 

อย่างไรก็ดี พนักงานมากกว่า 40% ในภูมิภาคนี้ ต้องการขอขึ้นเงินเดือนและเลื่อนตำแหน่งในอีก 12 เดือนข้างหน้า เช่นเดียวกับกำลังแรงงานไทยที่ 47% นอกจากนี้ 28% ของกำลังแรงงานในภูมิภาคก็กำลังมองหางานใหม่มากขึ้นกว่าปีก่อนที่ 18% สำหรับแรงงานไทยมี 30% ที่ต้องการเปลี่ยนงาน เปรียบเทียบกับปีก่อนที่ 13% ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น

 

แรงงาน

 

  1. ทักษะแรงงาน 70% ของกำลังแรงงานไทยเชื่อว่า ทักษะที่จำเป็นในการทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในอีก 5 ปีข้างหน้า สูงกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ 44% และสูงที่สุดในภูมิภาคนี้ โดยทักษะในการทำงานร่วมกัน (Collaborative Skills) มีความสำคัญเป็นอันดับแรกที่ 84% ตามมาด้วยทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic Skills) และทักษะความเป็นผู้นำ (Leadership Skills) ที่ 83% เท่ากัน อย่างไรก็ดี ทักษะด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (Green Skills) ยังคงถูกมองว่ามีความสำคัญน้อยที่สุดทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก 

 

  1. เทคโนโลยีเกิดใหม่ แรงงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่มีมุมมองเชิงบวกต่อผลกระทบของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีต่องานของตน โดยมองว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ได้ โดย 47% ของกำลังแรงงานไทยเชื่อว่า AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน และ 44% มองว่า AI จะสร้างโอกาสในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ อย่างไรก็ดี ยังมีแรงงานอีกส่วนหนึ่งที่ขาดความมั่นใจในการเรียนรู้ทักษะเกี่ยวกับ AI สำหรับทักษะด้านดิจิทัลนั้นๆ มากกว่า 50% ของแรงงานในภูมิภาคนี้เชื่อว่า ทักษะดิจิทัลจะมีความสำคัญต่อการทำงานในอนาคต เช่นเดียวกับแรงงานไทยที่ 77%

 

  1. สภาพแวดล้อมในการทำงาน กำลังแรงงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความคิดเห็นและความรู้สึกต่อสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ แต่โดยรวมยังมีข้อแนะนำที่องค์กรสามารถปรับปรุงได้ในหลายๆ ด้าน เช่น การสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ทันสมัย สนับสนุนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ให้ความสำคัญกับความหลากหลายและการมีส่วนร่วม และการสร้างความเชื่อมั่นให้กับพนักงาน

 

เป็นที่น่าสนใจว่า 71% ของกำลังแรงงานไทยกล่าวว่า ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมจากหัวหน้างาน ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในภูมิภาค และ 42% กล่าวว่า ได้รับการสนับสนุนให้แสดงความคิดเห็นและโต้แย้งได้ อย่างไรก็ดี แม้ว่าการให้ข้อเสนอแนะ (Feedback) จะถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาการทำงาน แต่มีเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของกำลังแรงงานในภูมิภาคเท่านั้นที่มีความกระตือรือร้นในการได้รับข้อเสนอแนะและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน

 

  1. แนวปฏิบัติด้านสภาพภูมิอากาศขององค์กร แม้ว่าในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นหนึ่งในกระแสสำคัญของโลกที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของทุกภาคส่วน แต่รายงานพบว่า กำลังแรงงานในภูมิภาคยังคงไม่มีความกระตือรือร้นในการผลักดันให้นายจ้างหันมาให้ความสำคัญในประเด็นนี้ โดยมีเพียง 41% ของกำลังแรงงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเท่านั้นที่มองว่า นายจ้างมีหน้าที่ความรับผิดชอบต่อการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม เปรียบเทียบกับแรงงานไทยที่ 56% ขณะที่ 61% เชื่อว่านายจ้างของตนมีการปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมในระดับที่เพียงพอ

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising