วันนี้ (14 พฤศจิกายน) เวลา 13.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอด ASEAN+3 ครั้งที่ 23 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำและผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 10 ประเทศ พร้อมประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และนายกรัฐมนตรีจีน เข้าร่วมด้วย ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปผลการประชุม ดังนี้
เหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวถึงการประชุมว่า เป็นการประชุมเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และความร่วมมือในกรอบ ASEAN+3 โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อหาแนวทางการตอบสนองและบรรเทาผลกระทบ รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศร่วมกัน
ส่วนประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลีกล่าวว่า ทุกประเทศต้องร่วมมือกันบนพื้นฐานประสบการณ์ความร่วมมือของ ASEAN+3 ซึ่งเป็นกลไกสำคัญเพื่อความเจริญร่วมกัน นอกจากนี้ได้ย้ำถึงความร่วมมือด้านสาธารณสุขที่ต้องร่วมมือกัน ร่วมพัฒนาวัคซีนให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงได้ และต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคระบาดอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ควบคู่กับการดำเนินนโยบายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 ด้วย โดยเฉพาะการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเชื่อมั่นว่าการหารือในวันนี้จะเป็นการยกระดับความร่วมมือของ ASEAN+3 ในอนาคตต่อไป
ด้านนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวว่า ASEAN+3 มีความร่วมมือจนเห็นผลการพัฒนาในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ครั้งนี้พร้อมร่วมมือกันเพื่อเอาชนะความท้าทายต่างๆ โดยเฉพาะโควิด-19 ญี่ปุ่นย้ำ พร้อมให้ความร่วมมือและให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ด้านสาธารณสุข เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงการฟื้นฟูที่ให้เป็นเงินกู้กับประเทศสมาชิก ด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน ได้บริจาคเงินเข้ากองทุน ASEAN+3 เพื่อรับมือโควิด-19 ด้วย
ด้านนายกรัฐมนตรีจีนกล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อปัญหาทางด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ การประชุม ASEAN+3 สมัยพิเศษเมื่อต้นปี ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในการออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อร่วมรับมือ รักษาห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ กลไก ASEAN+3 มีความเข้มแข็ง ตอบสนองต่อความท้าทายต่างๆ ในยามที่เราเดือดร้อน เราต้องช่วยเหลือกัน สะท้อนถึงมิตรภาพที่มีต่อกัน เราจะร่วมมือเดินหน้าหากต้องเผชิญการระบาดรอบ 2 ต้องรักษาห่วงโซ่อุปทานให้มั่นคง จีนยินดีช่วยเหลือและร่วมมือกับอาเซียนในการทำงานเพื่อแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ รวมทั้งจะสร้างสันติภาพความมั่นคงด้วยความร่วมมือที่จริงใจต่อกัน
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกและประชาคมเอเชียตะวันออกที่แข็งแกร่ง มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ พร้อมเสนอ 3 แนวทาง ดังนี้
- เสริมสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขอย่างยั่งยืน โดยไทยสนับสนุนให้ประเทศบวกสามสนับสนุนกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 และใช้ประโยชน์จากกองทุนฯ อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการจัดหาและจัดสรรอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่จำเป็น รวมทั้งการพัฒนาวัคซีนและยาที่ทุกประเทศสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ทั้งนี้ ไทยยินดีต่อข้อเสนอของจีนในการจัดตั้งคลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์ ASEAN+3 สำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และไทยเสนอให้ใช้ประโยชน์จากศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนร่วมกับกลไกเหล่านี้ด้วย
- สร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้โดยเร็ว และมีรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการเติบโตต่อไปในระยะยาว นายกรัฐมนตรีกล่าวเชิญชวนประเทศบวกสามให้ร่วมสนับสนุนกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน และที่ประชุมฯ ควรทบทวนและพัฒนากลไกความร่วมมือที่มีอยู่แล้วให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งควรเร่งต่อยอดกลไกมาตรการ ‘ริเริ่มเชียงใหม่’ ไปสู่การเป็นพหุภาคีผ่านการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจและเทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากนี้ควรใช้ประโยชน์จากองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของ ASEAN+3 ซึ่งเป็นแบบอย่างสำคัญของการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะในการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 และภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ
ทั้งนี้ ไทยยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะที่จำเป็นให้แก่ MSMEs และ Start-Ups เพื่อให้สามารถฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 และพร้อมรับมือกับความท้าทายในยุค 4IR ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- สานต่อการเสริมสร้างความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งไทยสนับสนุนความร่วมมือในด้านความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคโดยรวม และส่งเสริมการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย
ในช่วงท้าย ไทยเน้นย้ำเจตนารมณ์ที่จะร่วมกับทุกประเทศในภูมิภาคในการส่งเสริมสันติภาพที่ยั่งยืนบนคาบสมุทรเกาหลี พร้อมสนับสนุนกระบวนการแก้ปัญหาอย่างสันติ และหวังที่จะเห็นการเจรจามีความคืบหน้า บนพื้นฐานของการปฏิบัติตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน
ขณะที่ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลีเชื่อมั่นว่า การหารือจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม สาธารณรัฐเกาหลีจะสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านโควิด-19 อีกทั้งจะให้ความช่วยเหลือผ่านความร่วมมือกับสถาบันวัคซีนในเกาหลีใต้ ช่วยเหลือด้านการแจกจ่ายวัคซีนให้ทั่วถึง รวมทั้งการร่วมช่วยรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนให้ประชาชนเดินทางระหว่างกันผ่านระบบ Fast Track ยินดีส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อร่วมกันส่งเสริมการพัฒนา ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ส่วนนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ย้ำว่า การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อการเติบโตบนพื้นฐานการค้าเสรี ขอให้มีการดำเนินการอย่างเร็วขึ้น เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน มีการพัฒนาบนพื้นฐานความยั่งยืน สนับสนุนให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยา และแก้ไขประเด็นปัญหาขยะทะเล
ส่วนนายกรัฐมนตรีจีนได้กล่าวถึงความร่วมมือ ASEAN+3 เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาของเศรษฐกิจตะวันออก นายกรัฐมนตรีจีนเสนอให้
- ร่วมมือเพิ่มขีดความสามารถด้านสาธารณสุขเพื่อควบคุมโควิด-19 สู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ จีนพร้อมร่วมมือด้านวัคซีน
- ต้องพัฒนาความร่วมมือเศรษฐกิจและเขตการค้าเสรี RCEP จะได้มีการลงนามจากทุกภาคส่วน เพื่อบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและการฟื้นฟู
- อำนวยความสะดวกห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้เศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงและบูรณาการกัน โดยเชื่อมั่นว่า จะต้องส่งเสริมการผลิตที่ปลอดภัย ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจออนไลน์ที่มีความทั่วถึง MSMEs ให้เข้ามามีส่วนร่วมควบคู่ไปกับเศรษฐกิจออฟไลน์ ตลอดจนการลดอัตราความยากจน การจัดการขยะทะเล และรูปแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อความมั่งคั่งควบคู่ไปกับเสถียรภาพ
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล