×

จุดประกาย ‘คน’ อาเซียน เปลี่ยนอนาคต เสวนาแลกเปลี่ยนมุ่งสู่วิสัยทัศน์ 2045 [ADVEROTIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
20.11.2024
  • LOADING...

เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับงานเสวนา ‘OUR ASEAN VISION: FROM PEOPLE TO POWER จุดประกาย ‘คน’ อาเซียน เปลี่ยนอนาคต’ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็น 2 ช่วง (Session)

 

เวทีแรกเสวนาในหัวข้อ ‘Empowering People for ASEAN Beyond 2025 แผนพัฒนาคนเพื่อรองรับอาเซียนภายหลังปี 2568’ ดำเนินการเสวนาโดย ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว THE STANDARD โดยมี วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย, พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน พร้อมด้วย จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด และ อเล็กซ์ เรนเดลล์ ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาประเทศไทย ร่วมพูดคุย

 

บางช่วงของการพูดคุย วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ชี้ว่า ไทยกำลังประสบปัญหาใหญ่ เนื่องจากขณะนี้ประชากรไทยราว 20% อายุเกิน 60 ปี และกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย ซึ่งคนกลุ่มนี้จะกลายเป็นฐานประชากรที่สำคัญของไทย อีกทั้งอุตสาหกรรมที่ไทยต้องการดึงนักลงทุนเข้ามาก็ต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถ ดังนั้นการพัฒนาคนจึงเป็นกุญแจสำคัญของทั้งไทยรวมถึงอาเซียนด้วย 

 

ด้าน พริษฐ์ วัชรสินธุ ระบุว่า ในประเด็นเรื่องของคน ไทยมีปัญหาในมิติเชิงปริมาณรวมถึงคุณภาพและทักษะ เนื่องจากคนเกิดใหม่น้อย ทักษะแข่งขันไม่ได้ กลายเป็นสังคมแก่ก่อนรวย อีกทั้งการศึกษาไทยก็ไม่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยพริษฐ์ยังเสนอการแก้ไขปัญหาทักษะของคนผ่านกลไกอาเซียน เช่น Teacher Swaps แลกเปลี่ยนคุณครูในอาเซียน เพื่อส่งเสริมทักษะภาษาอังกฤษ, High Tech – High Touch ผ่านการแลกทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะในมิติเทคโนโลยี และ Care Economy ผ่านการดึงบุคลากรที่มีความสามารถจากประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อแก้ไขปัญหาความต้องการทางการแพทย์ที่มีมากกว่าบุคลากรทางการแพทย์ภายในประเทศ

 

ขณะที่ จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา กล่าวว่า โอกาสของสิ่งที่เป็นไปไม่ได้จะเป็นไปได้มากขึ้น โดยอายุเฉลี่ยของคนทำงานจะยาวขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนอายุยืนขึ้น ทำให้ 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัยอาจไม่เพียงพอที่จะเตรียมตัวสู่โลกการทำงานในอีกหลายสิบปีข้างหน้า ดังนั้นการเพิ่มทักษะใหม่ๆ และการฟื้นฟูทักษะต่างๆ จำเป็นสำหรับทุกๆ คน และภายใต้กรอบ DEFA ตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป จะเกิดการเคลื่อนย้ายของคนและ Payment ทั่วอาเซียน สิ่งหนึ่งที่ไทยต้องเตรียมพร้อมคือ การเดินหน้าสนับสนุนสินค้าที่จับต้องไม่ได้ เช่น AI หรือ Digital Trade ให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากภาคเศรษฐกิจดิจิทัลเหล่านี้จะเติบโตขึ้นและสร้างเม็ดเงินมหาศาล

 

ส่วน อเล็กซ์ เรนเดลล์ ชี้ว่า โลกกำลังประสบ 3 วิกฤตใหญ่ ทั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและวิกฤตมลพิษ ซึ่งล้วนสร้างความท้าทายต่อการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) อย่างมาก และกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงจุดแข็งของอาเซียนที่มีความสวยงามทางระบบนิเวศ อาเซียนจึงควรเป็นผู้นำการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (Sustainable Tourism)

 

ส่วนเวทีที่ 2 เป็นการเสวนาในหัวข้อ ‘Positioning Thailand Amidst Changes and Opportunities ทิศทางไทยท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและโอกาส’ ดำเนินการเสวนาโดย ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ผู้ดำเนินรายการ 8 Minute History และ Morning Wealth โดยมี รศ. ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิอาเซียน, ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย ดร.ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ Fellow สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานมูลนิธิสุรินทร์ พิศสุวรรณ และ ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move), ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและความยั่งยืน และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน

 

โดย รศ. ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ชี้ว่า โลกในยุคสงครามเย็น 2.0 มีความท้าทายต่างๆ มากมาย เกิดการแข่งขันกันระหว่างโลกเหนือและโลกใต้ ภายใต้การนำของสองมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและจีน โดยเฉพาะในมิติของภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ รวมถึงมิติที่เป็นดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น แรงกระเพื่อมนี้ส่งผลต่อประชาคมโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยทักษะสำคัญที่ทุกคนพึงมีท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงไปนี้คือทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)

 

ด้าน ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร แสดงความเห็นว่า ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ จะทำให้สถานการณ์การเมืองโลกเปลี่ยนไปอย่างมาก โดยเฉพาะต้นปี 2025 ในยุคทรัมป์ 2.0 โดยอาเซียนอาจเป็นภูมิภาคที่ ‘เจ็บหนัก’ และได้รับผลกระทบมากที่สุดจากความเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะกำลังจะถูก 3 แรงบีบ ได้แก่ แรงบีบจากตลาดสหรัฐฯ ที่กำลังจะดำเนินนโยบายขึ้นภาษีบรรดาประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือไทย (อันดับที่ 12), แรงบีบจากตลาดจีนที่เตรียมมุ่งเน้นตลาดภายในประเทศมากยิ่งขึ้น ทำให้ไทยและอาเซียนเข้าไปแบ่งส่วนแบ่งทางการตลาดได้ยาก และแรงบีบจากตลาดอื่นๆ ทั่วโลกที่จะทำให้เกิดโลกาภิวัตน์ใหม่ที่ไม่นับรวมสหรัฐฯ และจีน ดังนั้นการสร้างความสัมพันธ์กับตลาดใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยตลาดอาเซียนอาจกลายเป็นหัวใจของโลกาภิวัตน์ที่เหลืออยู่

 

ขณะที่ ดร.ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ระบุว่า ปัญหาเมียนมาเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับไทยและอาเซียน จึงเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) เช่น การไม่มองปัญหานี้เป็นภัยคุกคาม แต่มองหาจุดที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน และการมองปัญหาเมียนมาในเชิงปัญหาด้านมนุษยธรรมมากขึ้น นอกจากนี้ ดร.ฟูอาดี้ ยังมองว่า การวางตัวเองเป็น Adapter จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างประโยชน์ให้ไทยและอาเซียนท่ามกลางการแข่งขันของมหาอำนาจได้ โดยไทยเป็นมหาอำนาจขนาดกลางที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน แต่ไทยมักมองตนเองเป็นรัฐขนาดเล็ก การปรับเปลี่ยนมุมมองจุดนี้อาจช่วยให้ไทยกล้าที่จะแสดงจุดยืนในเรื่องต่างๆ มากยิ่งขึ้น อย่างที่สิงคโปร์กล้าแสดงความเห็นต่างต่อจุดยืนของมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีน

 

ส่วน ผศ.ชล บุนนาค ชี้ว่า เทคโนโลยีสีเขียวเป็นคีย์สำคัญในการสร้างสังคมที่ยั่งยืน โดยเน้นย้ำถึงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) มาสู่พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาเซียนขณะนี้กำลังมุ่งส่งเสริมเรื่องพลังงานทดแทน แต่การลงทุนยังค่อนข้างน้อย เนื่องจากคำว่า ‘สีเขียว’ (Green) มีราคาแพงและมีต้นทุนสูง การทำสิ่งนี้ให้ถูกลงและเข้าถึงผู้คนกลุ่มต่างๆ ได้มากขึ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยใช้องค์กรอาเซียน (ASEAN) เป็นกลไกสำคัญในการปฏิรูปและเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่มีความยั่งยืนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นในอนาคต ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ

 

ย้อนชมงานเสวนา ‘OUR ASEAN VISION: FROM PEOPLE TO POWER จุดประกาย ‘คน’ อาเซียน เปลี่ยนอนาคต’ ได้ที่: https://www.facebook.com/ThaiMFA/videos/584837757558684 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising