การประชุมอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวานนี้ (13 พฤษภาคม) ซึ่งเป็นวันที่ 2 และวันสุดท้าย ปิดฉากลงด้วยข้อตกลงที่สหรัฐฯ และอาเซียนจะทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่การเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างครอบคลุม ภายในเดือนพฤศจิกายนของปีนี้ ซึ่งคล้ายกับข้อตกลงที่อาเซียนทำร่วมกับออสเตรเลียและจีนในช่วงปลายปีที่แล้ว
โดยการประชุมครั้งนี้ เป็นการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 45 ปี แห่งความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ และชาติอาเซียน ได้ออกแถลงการณ์ร่วม ระบุว่า การยกระดับไปสู่การเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกัน จะเป็นความร่วมมือที่ “มีความหมาย เป็นรูปธรรม และเป็นประโยชน์ร่วมกัน”
ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวในวาระการประชุมช่วงบ่ายวานนี้ โดยประกาศเปิดฉากศักราชใหม่แห่งความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และอาเซียน พร้อมยกย่องความสำคัญของอาเซียนว่าเป็นอนาคต และประวัติศาสตร์โลกจำนวนมากในอีก 50 ปีข้างหน้า จะถูกเขียนในประเทศอาเซียน
“เราไม่เพียงแต่เฉลิมฉลองความร่วมมือและมิตรภาพ 45 ปี ระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯ เท่านั้น แต่เรากำลังเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และอาเซียน การอภิปรายในวงกว้างของเราสะท้อนให้เห็นว่า ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกและอาเซียนมีความสำคัญต่อสหรัฐฯ เพียงใด ประวัติศาสตร์ของโลกเราจำนวนมากในอีก 50 ปีข้างหน้า จะถูกเขียนในประเทศอาเซียน และอนาคตของเรากับคุณ (อาเซียน) คืออนาคตในอีกหลายปีและอีกหลายทศวรรษจากนี้” ไบเดนกล่าว
นอกจากนี้ ไบเดนยังประกาศว่าจะเสนอชื่อ โยฮันเนส อับราฮัม เสนาธิการและเลขาธิการบริหารของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ให้รับตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำอาเซียน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ว่างลง นับตั้งแต่ยุครัฐบาลอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2017 โดยถือเป็นความเคลื่อนไหวที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำอาเซียน
ขณะที่ก่อนหน้านี้ ผู้นำสหรัฐฯ ยังประกาศคำมั่นในการสนับสนุนงบประมาณ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5.2 พันล้านบาท สำหรับประเทศอาเซียน เพื่อใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาดและความมั่นคงทางทะเล รวมถึงโครงการด้านสาธารณสุขและการศึกษา
สำหรับการประชุมอาเซียน-สหรัฐฯ รอบนี้ ถูกจับตามองว่า เป็นโอกาสของรัฐบาลวอชิงตันในการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือต่ออาเซียน ท่ามกลางความพยายามต่อต้านการขยายอำนาจของจีน แม้ว่าในระหว่างประชุมแทบไม่มีการกล่าวถึงท่าทีของจีน และในแถลงการณ์ร่วมที่ออกมา ไม่มีการระบุถึงจีนแม้แต่คำเดียว
ภาพ: Photo by BRENDAN SMIALOWSKI / AFP
อ้างอิง: