ตามกำหนดการเดิม การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 36 ซึ่งมีเวียดนามเป็นประธานและเป็นเจ้าภาพควรจะต้องเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่แล้วด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การประชุมต้องเลื่อนออกไป และมีการจัดประชุมแบบทางไกล (Teleconference) นัดพิเศษที่เรียกว่า Special ASEAN Summit and Special ASEAN Plus Three Summit on COVID-19 ขึ้นเมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา
การเลื่อนประชุมครั้งนี้ทำให้การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้องซึ่งปกติจะจัดขึ้นปีละ 2 ครั้งถูกเลื่อนออกไป และกำลังจะเกิดขึ้นในรูปแบบ Teleconference ในระหว่างวันที่ 22-26 มิถุนายนนี้แทน
โดยการประชุมสุดยอดผู้นำจะเกิดขึ้นในวันที่ 26 มิถุนายน และพวกเราชาวไทยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนคงต้องจับตาดูด้วยว่าการประชุมในครั้งนี้จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และหลายๆ เรื่องที่ประเทศไทยริเริ่มเอาไว้ในฐานะประธานอาเซียนในปีที่แล้วจะได้รับการต่อยอดไปในทิศทางใด โดยประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในรอบกลางปีมีดังต่อไปนี้
- แผนรับมือโควิด-19 และโรคระบาดระยะยาวของอาเซียน
สิ่งที่น่าจับตามองอย่างแรกคือความร่วมมือของอาเซียนในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการในระยะยาวหากมีการแพร่ระบาดของโรคระบาดในลักษณะนี้เกิดขึ้นในอนาคต
โดยเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสืบเนื่องจากที่มีการประชุมออนไลน์ในระดับผู้นำ 10 ประเทศอาเซียน และการประชุมร่วมกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี โดยจากการประชุมครั้งก่อน อาเซียนและคู่เจรจาบรรลุความร่วมมือใน 6 ประเด็น ได้แก่
- ความร่วมมือทางการแพทย์และสาธารณสุข
- ความร่วมมืออาเซียนในการช่วยเหลือประชาชนอาเซียนทั้งที่อยู่ในประเทศสมาชิกและนอกประเทศสมาชิก
- ร่วมกันรับมือข่าวลวงและข้อมูลบิดเบือน
- ความร่วมมือในการฟื้นฟูและเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในภาวะวิกฤต เพื่อทำให้คนอาเซียนสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นได้
- สนับสนุนคณะทำงานภายใต้คณะมนตรีประสานงานอาเซียนด้านสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉิน
- จัดหางบประมาณเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนรับมือโควิด-19 ‘ASEAN Response Fund’
ดังนั้นในวาระการประชุมสุดยอดอาเซียน เราคงต้องจับตาดูว่าเวียดนามในฐานะประธาน กัมพูชาในฐานะผู้ประสานงานด้านสาธารณสุข และประเทศสมาชิกอาเซียนได้เดินหน้าต่อยอดผลการประชุมอย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่ อย่างไร (อ่านเพิ่มเติม จับตาประชุมสุดยอดอาเซียน +3 สมัยพิเศษ กับปฏิญญาสร้างความร่วมมือสู้โควิด-19)
- การเดินหน้าของข้อตกลง RCEP
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน มีการประชุมระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิก RCEP ครั้งที่ 10 (10th Regional Comprehensive Economic Partnership Intersessional Ministerial Meeting) ซึ่งแน่นอนว่านี่คือสิ่งที่ประเทศไทยเราทำงานอย่างหนักตลอดทั้งปี 2019 เพื่อในที่สุดเราสามารถบรรลุข้อสรุปของข้อตกลงการค้าที่มีมูลค่าการค้าสูงที่สุดในโลกได้ในวาระที่ไทยเป็นประธานเมื่อปีที่แล้ว ในระหว่าง 15 ประเทศ จากทั้งหมด 16 ประเทศสมาชิก (อ่านเพิ่มเติม RCEP ความสำเร็จของไทย ความก้าวไกลของเอเชีย และความถดถอยของสหรัฐฯ)
สถานะปัจจุบันของ RCEP คือการขัดเกลาข้อความทางกฎหมายที่ 15 ประเทศร่วมกันหาข้อสรุป (อาเซียน 10 ประเทศ ร่วมกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) ได้สำเร็จลุล่วงจนเกือบครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว (น่าจะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกรกฎาคม 2020)
สิ่งที่เราต้องจับตาดูการสานงานต่อของเจ้าภาพเวียดนามก็คือการลงนามในข้อตกลง RCEP ทั้ง 20 ข้อบทให้ได้ภายในปีนี้ และสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือท่าทีของอินเดียว่าจะเข้าร่วมเป็นภาคีของ RCEP หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้คงต้องถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในระหว่างผู้นำทั้ง 10 ประเทศของอาเซียน
- ประเด็นสหราชอาณาจักรขอเข้าเป็นคู่เจรจาของอาเซียน
สหราชอาณาจักรได้ยื่นเอกสารต่อสำนักงานเลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Secretariat) ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย เมื่อวันศุกร์ที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อสมัครเข้ารับการพิจารณาเป็นประเทศคู่เจรจา (Dialogue Partner) รายใหม่ของอาเซียน
คำถามที่ฝั่งอาเซียนจะต้องพิจารณาต่อไปก็คือ
- อาเซียนเคยมีข้อตกลงกันเอาไว้แล้วในลักษณะ Moratorium หรือการประกาศพัก ประกาศหยุดชั่วคราวเอาไว้แล้วว่าอาเซียนจะยังไม่มีการรับเพิ่มประเทศคู่เจรจา เราจะยกเลิก Moratorium ที่เคยให้กันไว้หรือไม่
- การยกสถานะสหราชอาณาจักรขึ้นมาเป็นคู่เจรจาจะมีความเหมาะสมทางการทูตและมีผลกระทบต่อระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือไม่ อย่างไร
- หากยกเลิก Moratorium ไป แล้วเปิดรับคู่เจรจาใหม่เฉพาะสหราชอาณาจักรเท่านั้น จะถือเป็นสิ่งที่เหมาะสมทางการทูตหรือไม่ ประเทศอื่นๆ จะคิดกับอาเซียนอย่างไร ดุลอำนาจในระดับภูมิภาคจะเปลี่ยนไปหรือไม่
- หากเราจะเปิดความสัมพันธ์ในระดับคู่เจรจากับสหราชอาณาจักร เราอยากเห็นอะไรบ้าง อาทิ สหราชอาณาจักรจะต้องมีท่าทีที่ให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของอาเซียนในเวทีประชาคมโลก
- สหราชอาณาจักรจะต้องยอมรับในหลักการ ASEAN Centrality หรืออาเซียนเป็นจุดศูนย์กลาง และเป็นพลังขับเคลื่อนหลักในการเจรจาและการดำเนินนโยบายกับประเทศคู่เจรจา
- สหราชอาณาจักรเข้ามาแล้วจะไม่เข้าไปวิพากษ์วิจารณ์ สนับสนุน แทรกแซงในปัญหาที่เป็นเรื่องเปราะบางในภูมิภาค เช่น กรณีทะเลจีนใต้ เหตุการณ์ความไม่สงบในรัฐยะไข่ ฯลฯ หรือไม่
- เป็นไปได้หรือไม่ที่สหราชอาณาจักรจะให้สิทธิพิเศษกับประชาคมและประชาชนอาเซียนในหลากหลายมิติ
ประเด็นเหล่านี้คือประเด็นที่อาเซียนต้องคำนึงถึง เพราะอย่าลืมว่าหลังออกจากสหภาพยุโรป ความสัมพันธ์ในหลากหลายมิติของสหราชอาณาจักรกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และสหราชอาณาจักรเองก็ต้องการที่จะสร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบที่ลึกซึ้งและกว้างขวางมากยิ่งขึ้นกับนานาประเทศทั่วโลก เพื่อชดเชยกับสิทธิประโยชน์ที่เสียไปจากการออกจากสหภาพยุโรป (อ่านเพิ่มเติม เมื่อสหราชอาณาจักรต้องการเป็นประเทศคู่เจรจาอาเซียน โจทย์ใหญ่ที่ไทยและชาติสมาชิกควรคำนึงถึง)
- การประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นอกจาก 3 ประเด็นสำคัญที่กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น การประชุมของผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ก็มีน่าสนใจอย่างยิ่งอีกด้วย
โดยในวันที่ 26 มิถุนายน ต่อจากการประชุมสุดยอดผู้นำทั้ง 10 ประเทศ ยังต้องประชุมออนไลน์ร่วมกับคณะผู้แทนจากฝ่ายนิติบัญญัติของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนในการประชุม ASEAN Leaders’ Interface with Representatives of ASEAN Inter-Parliamentary Assembly (AIPA)
ประชุมร่วมกับตัวแทนเยาวชนอาเซียนในการประชุม ASEAN Leaders’ Interface with Representatives of ASEAN Youth
การประชุมร่วมกับตัวแทนภาคธุรกิจเอกชนในการประชุม ASEAN Leaders’ Interface with Representatives of ASEAN Business Advisory Council
และอีกการประชุมที่น่าสนใจคือความพยายามของอาเซียนในการเสริมสร้างศักยภาพของสุภาพสตรีในยุค 4.0 ในการประชุม ASEAN Leaders’ Special Session at the 36th ASEAN Summit on Women’s Empowerment in the Digital Age
- การประชุมแบบ New Normal
หลายๆ ฝ่ายเริ่มวิเคราะห์ถึงรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ของการประชุมสุดยอดอาเซียน โดยพิจารณาถึงข้อดีของการประชุมทางไกลระหว่างผู้นำที่ประหยัดทั้งเวลา ต้นทุน และจำนวนคณะทำงาน จากเดิมที่ต้องมีคณะทำงานของผู้นำ 10 ประเทศที่ต้องเดินทางระหว่างประเทศ งบประมาณการจัดการประชุม ทั้งสถานที่ อาหาร ที่พัก การเดินทาง และความปลอดภัยที่ใช้งบประมาณสูง รวมทั้งระยะเวลาที่ต้องใช้ในการเดินทาง เทียบกับการที่ผู้นำแต่ละประเทศอยู่ในที่ตั้งของตนและประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกลที่ต้นทุนต่ำกว่ามาก
บางฝ่ายพิจารณาไปถึงขนาดที่ว่า หรือผู้นำควรจะประชุมออนไลน์ปีละ 1 ครั้ง และประชุมแบบเจอตัวอีก 1 ครั้ง บางฝ่ายอาจจะคิดต่อไปว่า หรือการประชุมระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการไปจนถึงระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและระดับรัฐมนตรีก็ควรจะใช้การประชุมทางไกลไปด้วย
ในขณะที่อีกหลายฝ่ายก็วิเคราะห์ว่า ในทางปฏิบัติ หลายๆ เรื่อง หลายๆ ครั้งที่อาเซียนสามารถผลักดันจนเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเกิดขึ้นได้จากการการพูดคุยหารืออย่างไม่เป็นทางการ และอาศัยความสนิทสนมของผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นเพื่อนกัน เป็นคนที่ใกล้ชิดกัน เนื่องจากเดินทางไปประชุมด้วยกัน รับประทานอาหารด้วยกัน รวมทั้งการสังสรรค์ร่วมกัน รูปแบบความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการ แต่ใกล้ชิดกันขนาดเรียกชื่อหน้า ติดต่อกันผ่านโซเชียลมีเดีย กลายเป็นความโดดเด่นอย่างหนึ่งของวิถีอาเซียน (ASEAN Way) ที่ลดความตึงเครียด ผลักดันเรื่องยากให้ง่ายขึ้นจากการที่ตัวแทนของแต่ละประเทศสนิทสนมกัน
คำถามคือการประชุมแบบออนไลน์จะสามารถสร้างเครือข่ายเหล่านี้ได้หรือไม่ หรือแม้แต่การประชุมแบบไม่เป็นทางการ (Retreat) ที่เปิดโอกาสให้ผู้นำและรัฐมนตรีสามารถหารือกันได้แบบเปิดอกคุย ผลักดันเรื่องต่างๆ ที่บางครั้งอาจจะไม่เหมาะหากต้องทำอย่างเป็นทางการ แต่กลับเป็นเวทีที่ในหลายๆ ครั้งผลักดันเรื่องสำคัญๆ ได้สำเร็จก็ไม่อาจจะทำได้ผ่านระบบการประชุมแบบออนไลน์
เป็นอีกหนึ่งมิติที่หลายๆ ฝ่ายจับตาดูพัฒนาการของอาเซียนในมิติเหล่านี้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์