ปิดฉากลงแล้วสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมที่เกี่ยวข้องที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 2-4 พฤศจิกายน ภายใต้แนวคิดหลัก ‘Advancing Partnership for Sustainability’ หรือ ‘ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน’ ซึ่งความคืบหน้าสำคัญคือ การผลักดันข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจในกรอบ RCEP ระหว่างอาเซียนกับ 6 ประเทศคู่เจรจา จนใกล้ได้ข้อสรุป และคาดว่าจะสามารถลงนามอย่างเป็นทางการในปีหน้า ซึ่งไทย ในฐานะประธานอาเซียนปีนี้มองว่า การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง
ไฮไลต์ที่ถูกจับตาไปทั่วโลกสำหรับซัมมิตอาเซียนปีนี้หนีไม่พ้นการเจรจากรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ครั้งที่ 3 ซึ่ง 10 ชาติอาเซียน และประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมถึงความสำเร็จในการเจรจาครั้งนี้
ชาติสมาชิก RCEP ตอกย้ำจุดยืนในกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค ที่เริ่มต้นเจรจากันครั้งแรกที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อปี 2012 ตลอดจนเอกสารว่าด้วยหลักการทั่วไปและวัตถุประสงค์ของการเจรจา RCEP ที่มีการรับรองในปีเดียวกัน ด้วยพันธกิจที่จะจัดทำข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ทันสมัย ครอบคลุม มีคุณภาพ และเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
แถลงการณ์ระบุว่า ชาติสมาชิก RCEP 15 ประเทศ ได้บรรลุข้อสรุปของการเจรจาที่เป็นลายลักษณ์อักษรทั้ง 20 ข้อบท รวมถึงข้อตกลงในประเด็นการเปิดและเข้าถึงตลาดระหว่างประเทศสมาชิก โดยจะมีการลงนามในข้อตกลงอย่างเป็นทางการในปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่เวียดนามรับไม้ต่อเป็นประธานอาเซียนหมุนเวียนชาติถัดไป
สำหรับอินเดีย ซึ่งยังติดขัดในประเด็นการเปิดตลาดสำหรับประเทศสมาชิกนั้น ยังคงต้องเจรจากับประเทศที่เหลือต่อไป โดยชาติสมาชิก RCEP ประกาศว่า จะทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาที่ยังตกลงกันไม่ได้ในแนวทางที่สร้างความพึงพอใจแก่ทุกฝ่าย ซึ่งการตัดสินใจขั้นสุดท้ายของอินเดียจะขึ้นอยู่กับความพอใจในการหาทางออกเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้
ส่วนแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 35 นั้น อาเซียนได้เน้นย้ำความสำคัญของการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีความต่อเนื่องและยั่งยืน และให้คำมั่นว่า จะเดินหน้าส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืนภายในกลุ่มอาเซียน ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับประชาคมนานาชาติ
นอกจากนี้ชาติสมาชิกยังตอกย้ำพันธกิจที่จะทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคแห่งสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพ มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน กระจายความเจริญรุ่งเรืองอย่างทั่วถึง ตลอดจนมีความก้าวหน้าทางสังคม
ด้าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าในการประชุมปีนี้ว่า ผู้นำอาเซียนได้หารือกับภาคีภายนอก เพื่อต่อยอดการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาขยะทะเล ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัญหาหมอกควันข้ามแดน การส่งเสริมสิทธิต่างๆ และการศึกษาของเด็ก นอกจากนี้อาเซียนยังได้ลงนาม MOU กับฟีฟ่า เพื่อพัฒนากีฬาฟุตบอลในอาเซียน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเสนอตัวของประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก หรือฟีฟ่าเวิลด์คัพ ในปี 2577 ด้วย
ขณะเดียวกัน ไทยเห็นว่า ความมั่นคงที่ยั่งยืนจะเกื้อกูลการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีพลวัต ดังนั้น อาเซียนจึงมุ่งมั่นที่จะบรรลุผลลัพธ์ด้านเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม ซึ่งนอกจากกรอบความร่วมมือ RCEP ที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันถึง 32% ของ GDP โลกแล้ว อาเซียนยังเห็นความสำคัญของการพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อให้ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการอาเซียนจะได้รับประโยชน์จากการเชื่อมโยง ASEAN Single Window ได้ครบทั้ง 10 ประเทศด้วย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล