×

ผู้นำ-ผู้แทนชาติในอาเซียนบรรลุ ‘ฉันทมติ 5 ข้อ’ เพื่อยุติความรุนแรงในเมียนมา และปูทางสู่การเจรจา

25.04.2021
  • LOADING...
ผู้นำ-ผู้แทนชาติในอาเซียนบรรลุ ‘ฉันทามติ 5 ข้อ’ เพื่อยุติความรุนแรงในเมียนมา และปูทางสู่การเจรจา

ที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนวาระพิเศษ ที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียนในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เห็นชอบฉันทมติ 5 ข้อในการหาทางออกจากวิกฤตความรุนแรงในเมียนมา ท่ามกลางการจับตาการให้สัมภาษณ์ของบรรดาผู้นำที่เข้าร่วมการประชุมถึงท่าทีของ มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้นำรัฐประหารที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย

 

โดยหลังการประชุมเมื่อวานนี้ที่มีสมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ แห่งบรูไนทรงเป็นประธานการประชุม ก็มีแถลงการณ์ออกมาจากบรูไนในฐานะประธานอาเซียน มีเนื้อหารวม 9 ข้อ แต่ข้อที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์หลังการรัฐประหารในเมียนมาคือข้อ 8 ซึ่งมีใจความว่า อาเซียนได้มีการหารืออย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับพัฒนาการล่าสุดในเมียนมา และ ‘แสดงความกังวลอย่างยิ่ง’ ต่อสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งรวมไปถึงการมีรายงานการเสียชีวิตและการทวีความรุนแรงของสถานการณ์ อาเซียนรับทราบถึงบทบาทในเชิงบวกและสร้างสรรค์ในการอำนวยความสะดวกในการแก้ปัญหาอย่างสันติเพื่อผลประโยชน์ ตลอดจนการดำรงชีวิตของประชาชนเมียนมา จึงได้เห็นชอบกับฉันทมติ 5 ข้อที่แนบมากับแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว

 

และ ‘ฉันทมติ 5 ข้อ’ ดังกล่าวโดยบรรดาผู้นำและผู้แทนชาติในอาเซียน มีดังนี้

 

  1. จะต้องยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที และทุกฝ่ายจะต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่
  2. การเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเริ่มต้นขึ้น เพื่อหาทางออกอย่างสันติเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน
  3. ทูตพิเศษของประธานอาเซียนจะอำนวยความสะดวกเป็นสื่อกลางของกระบวนการเจรจาโดยความช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน
  4. อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านทางศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้านการจัดการภัยพิบัติ (AHA)
  5. ทูตและคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางไปเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

 

ทั้งนี้ฉันทมติ 5 ข้อ­นี้ไม่มี ‘การปล่อยนักโทษการเมือง’ รวมอยู่ด้วย แต่เรื่องนี้ไปปรากฏอยู่ในส่วนของแถลงการณ์ของประธานอาเซียนด้วยข้อความที่ว่า “พวกเรายังได้ยินเสียงเรียกร้องให้มีการปล่อยนักโทษทางการเมืองทั้งหมด รวมถึงชาวต่างชาติ”

 

ส่วนอีกข้อที่เกี่ยวกับเมียนมาโดยตรงในแถลงการณ์นี้คือข้อ 9 ที่ว่าด้วยสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ซึ่งอาเซียนเน้นย้ำถึงการส่งตัวผู้พลัดถิ่นกลับรัฐยะไข่โดยสมัครใจ ปลอดภัย และให้เกียรติ ตามข้อตกลงทวิภาคีกับบังกลาเทศโดยเร็ว รวมถึงการแก้ไขต้นเหตุของสถานการณ์ในรัฐยะไข่ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวต่างประเทศรายงานการให้สัมภาษณ์ของผู้นำมาเลเซียและสิงคโปร์ถึงท่าทีที่รับฟังของ มิน อ่อง หล่าย และการยอมรับในการยุติความรุนแรง ทว่า มิน อ่อง หล่าย ก็ไม่ได้ตอบสนองต่อความต้องการให้มีการหยุดการสังหารผู้ประท้วงออกมาอย่างชัดเจน 

 

ทั้งนี้ผู้นำชาติในอาเซียนต้องการคำมั่นจากมิน อ่อง หล่าย ในการยับยั้งกองกำลังความมั่นคง ซึ่งถูกระบุโดยกลุ่มนักกิจกรรมที่จับตาสถานการณ์ในเมียนมาว่าได้สังหารประชาชนไปแล้ว 745 คน นับตั้งแต่เกิดการเคลื่อนไหวแบบอารยะขัดขืนหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา และท่าทีก่อนหน้านี้ของบรรดาผู้นำชาติอาเซียนยังรวมถึงการปล่อยตัวนักโทษการเมืองอีกด้วย

 

มูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซียระบุว่า ปฏิกิริยาของมิน อ่อง หล่าย เป็นเรื่องที่เกินความคาดหมาย โดยที่ประชุมได้เน้นย้ำว่าความรุนแรงจำเป็นต้องยุติ แม้ว่าจะไม่พยายามกล่าวหาฝ่ายกองทัพเมียนมาจนเกินไป ยัสซินบอกว่าสำหรับมิน อ่อง หล่าย ปัญหาที่เกิดขึ้นในเมียนมานั้นมาจากฝ่ายอื่นๆ เป็นผู้ก่อ แต่มิน อ่อง หล่าย เองก็เห็นชอบว่าความรุนแรงต้องยุติลง

 

“เขาไม่ได้ปฏิเสธในสิ่งที่ถูกเสนอโดยผมและผู้ร่วมงานคนอื่นๆ” ยัสซินระบุ

 

นอกจากนี้ยังมีท่าทีของ ลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ที่เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทหารยุติการใช้กำลังอย่างรุนแรงต่อพลเรือนที่ไม่มีอาวุธ และปล่อยผู้ที่ถูกคุมตัวทางการเมือง ซึ่งรวมถึง ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และประธานาธิบดีวิน มินต์ ซึ่งจะเป็นก้าวแรกในการเริ่มต้นการเจรจาอย่างสร้างสรรค์ระหว่างผู้มีส่วนได้เสียในเมียนมาอีกครั้ง

 

ลีเซียนลุง ยังระบุว่า มิน อ่อง หล่าย ได้เล่าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและปูมหลังของสถานการณ์ในเมียนมา จากนั้นผู้นำชาติอาเซียนคนอื่นๆ ก็ได้กล่าวต่อที่ประชุมทีละคน ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันในมุมมองของผู้นำค่อนข้างสูง เขาระบุด้วยว่ามิน อ่อง หล่าย ได้ยินเสียงจากบรรดาผู้นำ และจะนำไปพิจารณาถึงจุดที่จะเป็นประโยชน์ นอกจากนี้มิน อ่อง หล่าย ก็ไม่ได้ต่อต้านอาเซียนที่แสดงบทบาทในเชิงสร้างสรรค์ ตลอดจนการไปเยือนของคณะผู้แทนหรือความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม

 

อย่างไรก็ตาม ลีเซียนลุง ก็แสดงความเห็นว่า กระบวนการนี้ยังต้องดำเนินต่อไปอีกนาน เพราะมีอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำให้สำเร็จ นั่นคือการยุติความรุนแรงและการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง เขายังแสดงความเห็นว่าแผนระยะยาวจะขึ้นอยู่กับเมียนมา เพราะนี่คือปัญหาที่ต้องถูกแก้ไขโดยชาวเมียนมาเอง และเป็นไปไม่ได้ที่กลุ่มต่างชาติจะแก้ปัญหาในนามของต่างชาติแม้จะมีเจตนาที่ดี

 

ส่วน ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่เข้าร่วมการประชุมในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี ทวีตข้อความว่าได้มีการเสนอตั้งกลุ่ม ‘เพื่อนประธาน’ เพื่อช่วยประสานงานในความพยายามของอาเซียนเพื่อจัดการสถานการณ์ในเมียนมา และได้แนะนำหลักการ D4D เป็นหนทางในการเดินหน้าของเมียนมา โดยหลักการดังกล่าว ได้แก่ การลดระดับความรุนแรง, การส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม, การปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังทางการเมือง และการเจรจา

 

และปฏิกิริยาจากฝ่ายอื่นๆ อาทิ รายการข่าวภาคกลางคืนของสถานีโทรทัศน์เมียวดี ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ของกองทัพ รายงานการเข้าร่วมประชุมของมิน อ่อง หล่าย และระบุว่าเมียนมาจะประสานงานอย่างใกล้ชิดกับอาเซียนในหลายประเด็น รวมถึง ‘การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมา และกระบวนการที่จะดำเนินการในอนาคต’ ส่วน ชาร์ลส์ ซานติอาโก หัวหน้ากลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองของเมียนมา และบอกว่าอาเซียนต้องแสดงออกอย่างรวดเร็วในการกำหนดเส้นเวลา (Timeline) ของมิน อ่อง หล่าย สู่การยุติความรุนแรง หรือพร้อมที่จะบอกให้มิน อ่อง หล่าย รับผิดชอบ และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ที่จัดตั้งและผลักดันโดยคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ (CRPH) ระบุว่ายินดีกับการบรรลุฉันทมติของผู้นำชาติในอาเซียน แต่กองทัพต้องยึดมั่นในคำสัญญา

 

“เราตั้งตารอคอยการดำเนินการอย่างหนักแน่นของอาเซียนในการติดตามผลจากการตัดสินใจ และรอคอยที่จะฟื้นฟูประชาธิปไตยของพวกเรา” โฆษกของ NUG ระบุ

 

ภาพ: Indonesian Presidential Secreteriat / Anadolu Agency via Getty Images

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising