×

สำรวจท่าทีสมาชิกอาเซียนต่อปัญหาเมียนมาก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน ไทยควรวางตัวอย่างไร

22.04.2021
  • LOADING...
การประชุมสุดยอดอาเซียน

HIGHLIGHTS

  • 3 ประเทศที่ผลักดันให้เกิดการประชุมสุดยอดผู้นำนัดพิเศษครั้งนี้คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งต่างต้องการให้คณะรัฐประหารเมียนมาไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และยอมรับผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 โดยยอมให้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่มี ออง ซาน ซูจี เป็นแกนนำได้จัดตั้งรัฐบาลเป็นวาระที่ 2 
  • บรูไน ลาว และเวียดนาม เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถออกตัวแรงในการเป็นผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาได้ เพราะทั้ง 3 ประเทศมีระบอบการปกครองที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย การที่จะแสดงท่าทีสนับสนุนการขับเคลื่อนประชาธิปไตยในเมียนมาอาจทำให้เกิดปัญหาความมั่นคงภายในของแต่ละประเทศได้
  • สำหรับกัมพูชาและฟิลิปปินส์ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับจีนในรูปแบบพิเศษที่ซับซ้อน ทำให้พวกเขาคงยังไม่สามารถแสดงจุดยืนได้ว่า ตกลงท่าทีของพวกเขาในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งนี้จะเป็นอย่างไรกันแน่ เพราะผู้นำของ 2 ประเทศนี้ต่างถูกโจมตีเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งคู่ ดังนั้นการจะออกมาเรียกร้องเรื่องนี้จึงดูย้อนแย้ง
  • ไทยควรใช้เวทีนี้ผลักดันให้ผ่านมติใช้ประโยชน์จากกลไกของอาเซียนในการช่วยเหลือผู้อพยพเมียนมา รวมถึงดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแบบเจาะจงกับบุคคลระดับสูงของกองทัพเมียนมาเพื่อตัดท่อน้ำเลี้ยง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องทำผ่านกลไกหรือมติของอาเซียน เพื่อไม่ให้ผิดใจต่อกันและลดความบาดหมาง

ประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนทั้ง 10 ประเทศตกลงจะมีการประชุมสุดยอดผู้นำนัดพิเศษ เพื่อหาทางออกร่วมกันต่อกรณีรัฐประหารในเมียนมาที่นำโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย และคณะรัฐประหารในนาม State Administration Council (SAC) ซึ่งถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากประชาชนเมียนมา และมีการใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชน จนมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 700 ราย และมีผู้ถูกควบคุมตัวไปแล้วมากกว่า 3,000 ราย

 

ซึ่งสถานการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความสัมพันธ์ต่อประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน เกินกว่าระดับที่ถือเป็นสถานการณ์ภายใน (Domestic Affairs) ของประเทศเมียนมาไปแล้ว โดยการประชุมสุดยอดผู้นำนัดพิเศษนี้จะเกิดขึ้น ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในวันที่ 24 เมษายน 2021 และสำหรับประเทศไทย ผู้ที่เข้าร่วมประชุมในฐานะตัวแทนนายกรัฐมนตรีคือ ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

 

บทความนี้เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนต่อท่าทีของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 9 ประเทศ เกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาและสิ่งที่เราสามารถคาดหวังจากท่าทีของแต่ละประเทศสมาชิกในการประชุมสุดยอดผู้นำนัดพิเศษในครั้งนี้

 

การประชุมสุดยอดอาเซียน



กลุ่มที่ 1 อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์

กลุ่มนี้คือผู้ผลักดันให้เกิดการประชุมสุดยอดผู้นำนัดพิเศษ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย เรตโน มาร์ซูดี ซึ่งเดินสายไปเกือบทุกประเทศสมาชิกเพื่อขอความร่วมมือให้เกิดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนนัดพิเศษในครั้งนี้ และการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นไปแล้วก่อนหน้านี้

 

โดยทั้ง 3 ประเทศมีความต้องการร่วมกันคือ ต้องการเห็นการหยุดเข่นฆ่าประชาชนในเมียนมา และปล่อยตัวอดีตประธานาธิบดี วิน มินต์ และ ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ รวมทั้งปล่อยกลุ่มผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกจับไปแล้วกว่า 3,000 คนโดยทันที (เช่นเดียวกับทั้ง 9 ประเทศสมาชิกอาเซียน) แต่ที่เพิ่มเติมคือต้องการให้กองทัพเมียนมาภายใต้การนำของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย และคณะรัฐประหารในนาม State Administration Council (SAC) กลับเข้ากรมกอง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ยอมรับผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 โดยยอมให้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่มี ออง ซาน ซูจี เป็นแกนนำได้จัดตั้งรัฐบาลเป็นวาระที่ 2 (ซึ่งในส่วนนี้คือสิ่งที่ไม่เห็นตรงกันกับสมาชิกอาเซียนที่เหลือ)

 

แน่นอนว่าทั้ง 3 ประเทศนี้กล้าที่จะออกมาปะทะกับกองทัพเมียนมาโดยตรง ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญก็คือ เดิมพันที่ 3 ประเทศจะเสียหายหากกองทัพเมียนมาปิดประเทศหรือไม่คบค้าสมาคมกับโลกภายนอกนั้นมีต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เพราะ 3 ประเทศนี้ไม่มีพรมแดนติดกันกับเมียนมา ผลกระทบจึงอาจมีน้อยกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ความมั่นคง หรือแม้แต่ในมิติสังคม (โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยซึ่งมีพรมแดนติดกันกับเมียนมา)

 

และหากแยกเป็นรายประเทศ แรงจูงใจสำคัญของอินโดนีเซียในการออกมาเรียกร้อง เดินหน้าประชาธิปไตย ไม่เอากองทัพ น่าจะมีแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากการที่อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จและก้าวหน้าอย่างยิ่งในระดับภูมิภาคด้านการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปกองทัพ แยกทหารออกจากการเมือง ได้สำเร็จตั้งแต่สมัยของประธานาธิบดี ซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน และพอมาถึงรุ่นของประธานาธิบดี โจโก วิโดโด อินโดนีเซียก็ต้องการขึ้นเป็นผู้นำอาเซียน และมีบทบาทเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้นในเวทีโลก ในฐานะที่ประเทศมีขนาดเศรษฐกิจที่จะขยายตัวเป็น 1 ใน 5 เขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกในช่วงกลางศตวรรษที่ 21 การแสดงบทบาทผู้นำทางการเมืองในระดับภูมิภาคที่ขับเคลื่อนประชาธิปไตย ขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการเสนอตัวเป็นเวทีในการจัดการประชุมในครั้งนี้ (ทั้งที่ประธานหมุนเวียนของอาเซียนปีนี้คือบรูไน) จะเสริมสร้างสถานะการเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคและในเวทีโลกได้เป็นอย่างดี 

 

สำหรับสิงคโปร์ แน่นอนในฐานะนักลงทุนรายใหญ่ที่สุด ติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศที่เข้าไปลงทุนมากที่สุดในเมียนมา ย่อมต้องการรักษาผลประโยชน์ทางธุรกิจ โดยสิงคโปร์เริ่มเข้าไปลงทุนอย่างจริงจังในเมียนมาในทศวรรษ 2010 ซึ่งเป็นช่วงที่เมียนมาเริ่มต้นกระบวนการปฏิรูปการเมืองไปแล้ว และลงทุนมากที่สุดในช่วงของรัฐบาล NLD ในปี 2015 

 

นั่นหมายความว่า การสนับสนุน NLD ให้เป็นรัฐบาลน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าสำหรับฝ่ายสิงคโปร์ เช่นเดียวกับที่สิงคโปร์รู้ว่าในที่สุดแล้วเสียงของประชาชนซึ่งก็คือลูกค้าหลักของธุรกิจที่สิงคโปร์ลงทุนในเมียนมาคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ดังนั้นการทำนโยบายที่สนับสนุนและถูกใจลูกค้าของตนจะเป็นแนวทางการทำธุรกิจที่ยั่งยืนมากกว่า ประกอบกับการที่กองทัพเข้ามาควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจสิงคโปร์ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่ตอบโจทย์ในเรื่องการบริหารจัดการที่มีธรรมาภิบาลสูง อันเป็นมาตรฐานของประเทศสิงคโปร์ 

 

ดังนั้นการสนับสนุนแนวทางประชาธิปไตย เรียกร้องให้ยอมรับผลการเลือกตั้ง และให้พรรค NLD กลับมาจัดตั้งรัฐบาล คือทางเลือกที่ดีที่สุดของสิงคโปร์

 

อีกประเด็นที่คงจะต้องจับตาดูท่าทีของสิงคโปร์ด้วยคือ การดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแบบเจาะจง หรือ Targeted Sanction เฉพาะกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพเมียนมา ซึ่งคำถามคือจะรวมไปถึงการยับยั้งการเข้าถึงบัญชีเงินฝากของพวกเขาที่อยู่ในสิงคโปร์ด้วยหรือไม่ เพราะในสิงคโปร์การเปิดบัญชีเงินฝากจะได้รับการคุ้มครองและไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการฝากเงิน ถือเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่เงินฝากจำนวนมากซึ่งไม่สามารถแสดงที่มาที่ไปได้ถูกนำไปฝากไว้ที่ศูนย์กลางทางการเงินแห่งนี้ ดังนั้นถ้าสิงคโปร์ต้องการแสดงความจริงใจในการเดินหน้าต่อต้านรัฐประหารในเมียนมา การตัดท่อน้ำเลี้ยงของผู้นำกองทัพโดยการยับยั้งการเข้าถึงบัญชีเงินฝากของพวกเขาจะเป็นสิ่งที่เราต้องจับตา

 

กรณีของมาเลเซียเอง รัฐบาลเสียงข้างน้อยของนายกรัฐมนตรี มูห์ยิดดิน ยาสซิน ก็เผชิญข้อครหาเรื่อยมาว่า จริงๆ แล้วตัวเองและกลุ่มการเมืองของเขาสนับสนุนแนวทางประชาธิปไตยอย่างแท้จริงหรือไม่ หรือต้องการเล่นเกมการเมืองในมาเลเซียในลักษณะของการกีดกัน และหวงแหนรักษาอำนาจของตนและกลุ่มของตนเท่านั้น

 

โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และไม่ให้มีการประชุมรัฐสภา (ซึ่งอาจจะเดินหน้ากระบวนการเปลี่ยนขั้วการเมืองอีกรอบ โดยใช้เสียงข้างมาก ซึ่งอยู่คนละฟากกับรัฐบาล) โดยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและไม่ให้มีการประชุมรัฐสภานี้กินเวลาต่อเนื่องยาวนานหลายเดือนแล้ว นับตั้งแต่เริ่มประกาศในช่วงกลางเดือนมกราคม 2021 และบังคับใช้ล่วงหน้าไปจนถึงอย่างน้อยวันที่ 1 สิงหาคม 2021 ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดลง หากแต่ทำให้การประชุมรัฐสภาเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้นการแสดงท่าทีสนับสนุนแนวทางประชาธิปไตยในเมียนมาจะเป็นการสร้างภาพให้ประชาคมนานาชาติได้เห็นว่า นายกรัฐมนตรีและกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนยังคงยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย และยังมีบทบาทนำในเวทีระดับภูมิภาคในลักษณะที่สอดคล้องกับปทัสถานสากลที่นิยมหลักการประชาธิปไตยและการรักษาสิทธิมนุษยชน

 

การประชุมสุดยอดอาเซียน



กลุ่มที่ 2 บรูไน สปป.ลาว และเวียดนาม

บรูไนในฐานะประธานหมุนเวียนของประชาคมอาเซียนตลอดปี 2021 ทำหน้าที่สนับสนุนให้เกิดการประชุมนัดพิเศษในครั้งนี้ แต่บรูไน สปป.ลาว และเวียดนามเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถออกตัวแรงในการเป็นผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาได้ เพราะทั้ง 3 ประเทศนี้มีระบอบการปกครองที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย

 

บรูไนอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่บังคับใช้กฎหมายอิสลาม (Unitary Islamic Absolute Monarchy) ในขณะที่ สปป.ลาว และเวียดนามอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบสาธารณรัฐสังคมนิยม (Unitary Marxist–Leninist One-Party Socialist Republic) ที่ควบคุมทุกอำนาจอธิปไตยของประเทศโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งแน่นอนว่าในสายตาของประชาคมโลกระบอบการปกครองในกลุ่มนี้ถือเป็นระบอบที่ค่อนไปในทิศทางอำนาจนิยม

 

ดังนั้นประเทศในกลุ่มที่ 2 นี้คงไม่สามารถจะสนับสนุนการขับเคลื่อนประชาธิปไตยในประเทศเมียนมาได้มากนัก เพราะหากแสดงท่าทีเช่นนั้นออกไป อาจจะทำให้เกิดปัญหาความมั่นคงภายในของแต่ละประเทศได้

 

และหากพิจารณาเฉพาะในกรณีของเวียดนาม เวียดนามคือประเทศที่ลงทุนในเมียนมาสูงที่สุดอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2012 และปัจจุบันถือเป็นประเทศที่ลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับที่ 7 ในเมียนมา โดยหลังจากเวียดนามปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจในช่วงกลางทศวรรษ 1980 ก็เริ่มเปิดตลาดสู่ประชาคมโลกในช่วงทศวรรษ 1990 และเริ่มเห็นผลของการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษ 2000 ดังนั้นเมื่อเริ่มต้นทศวรรษ 2010 เวียดนามจึงเริ่มสนับสนุนให้นักลงทุนของตนออกไปลงทุนในต่างประเทศ

 

สำหรับเวียดนามที่พรรคคอมมิวนิสต์มีอิทธิพลสูงในการชี้นำและควบคุมแนวทางการดำเนินนโยบายของภาคเอกชน ได้กำหนดเป้าหมายไว้ว่า เนื่องจากเงินทุนและทรัพยากรของเวียดนามในการออกไปลงทุนในต่างประเทศยังมีจำกัด ดังนั้นการโฟกัสการนำเงินออกไปลงทุนในพื้นที่เป้าหมายและออกไปในทิศทางเดียวกันแบบเป็นกลุ่มเป็นก้อน โดยยกเอาทั้งเครือข่ายธุรกิจของเวียดนามไปลงทุนในที่เดียวกัน จะสามารถสร้างอิมแพ็กจากการลงทุนในต่างประเทศได้มากกว่า ดังนั้นรัฐบาลเวียดนามโดยพรรคคอมมิวนิสต์จึงสนับสนุนให้เอกชนไปลงทุนในพื้นที่ที่เวียดนามเป็นพี่เอื้อยอยู่ นั่นคือในกลุ่มสมาชิกใหม่ของประชาคมอาเซียนที่นิยมเรียกรวมกันว่า CLMV อันได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา ซึ่งเวียดนามเองก็มีอิทธิพลในกลุ่มนี้อยู่มิใช่น้อย 

 

ต้องอย่าลืมว่าในเมียนมานั้นการจะปฏิรูปการเมือง, ร่างรัฐธรรมนูญ, เดินหน้าให้มีการเลือกตั้ง, ยอมให้ NLD จัดตั้งรัฐบาล และล้มรัฐบาล ก็ล้วนแล้วแต่ถูกกำหนดหรือได้รับการยินยอมโดยกองทัพทั้งสิ้น และในช่วงเริ่มต้นทศวรรษ 2010 ก็เช่นกัน ในเมียนมาเองกองทัพซึ่งเป็นผู้นำในการตัดสินใจทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศอย่างต่อเนื่องมาตลอดประวัติศาสตร์สมัยใหม่ก็ริเริ่มการปฏิรูปการเมือง และเล็งเห็นแล้วว่าบทบาทและอิทธิพลทางการเมืองของกองทัพจะลดลง ดังนั้นกองทัพและเครือข่ายของคนในกองทัพต้องเร่งสร้างบทบาทและอิทธิพลทางเศรษฐกิจขึ้นมาทดแทน และในเมื่อกองทัพและนายทหารเมียนมาไม่เคยไว้ใจจีนพอๆ กับที่ไม่เคยไว้ใจตะวันตก ด้วยเหตุนี้สายสัมพันธ์พิเศษระหว่างบุคคลระดับนำในกองทัพเมียนมากับบุคคลระดับนำในพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจึงเกิดขึ้น เพราะทั้งสองฝ่ายต่างมีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างลงตัว

 

ดังนั้น ณ ปัจจุบัน กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่เช่น Hoang Anh Gia Lai Group (HAGL) ก็กลายเป็นเจ้าของพื้นที่ธุรกิจขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดในนครย่างกุ้งในนาม Myanmar Plaza ซึ่งมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่อยู่ในโครงการเดียวกันกับโรงแรม 5 ดาว และอาคารสำนักงานที่ทันสมัยและมีพื้นที่มากที่สุดในย่างกุ้ง และอยู่ในทำเลที่ดีที่สุดคือริมทะเลสาบอินยา ระหว่างเขตเมืองเก่ากับสนามบินนานาชาติ

 

โดยทุนส่วนใหญ่ที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาจะใช้บริการธนาคารของเวียดนามคือ Bank for Investment and Development of Vietnam (BIDV) และมีสโมสรธุรกิจเวียดนามในเมียนมาเป็นกลไกประสานงานร่วมกันระหว่างนักธุรกิจเวียดนามด้วยกันเองกับกลุ่มธุรกิจเมียนมา (ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีเส้นสายกับกองทัพ) และกลุ่มธุรกิจที่แสดงให้เห็นสายสัมพันธ์อย่างแนบแน่นระหว่างกองทัพและบุคคลระดับสูงของเวียดนามคือ ธุรกิจให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตในนาม Mytel ซึ่งเกิดจากการร่วมลงทุนระหว่างเครือข่ายธุรกิจของผู้นำกองทัพเมียนมากับบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของเวียดนามอย่าง Viettel (เมียนมามีผู้ให้บริการ 5 รายคือ MPT (รัฐวิสาหกิจไปรษณีย์ของเมียนมา), Mytel (ผู้นำกองทัพและ Viettel), Ooredoo (กลุ่มทุนจากกาตาร์) และ Telenor (กลุ่มทุนจากนอร์เวย์)) จนถึงปัจจุบันมีบริษัทของเวียดนามเข้าไปลงทุนและดำเนินธุรกิจในเมียนมามากกว่า 200 บริษัท (บริษัทใหญ่ๆ ของเวียดนามที่ลงทุนในเมียนมาคือ HAGL, BIDV, Viettel, Lioa, Hanvico, Dien Quang, Vietnam Airlines) มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ 25 โครงการ เงินทุนมากกว่า 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับนักลงทุนเวียดนาม พวกเขามองว่าเมียนมาคือแผ่นดินทองคำแหล่งสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่สำหรับการลงทุน

 

เห็นแบบนี้แล้วคงเข้าใจได้ว่า ท่าทีของเวียดนามคือไม่สนับสนุนการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับเมียนมาแล้วทุบหม้อข้าวของตนเองอย่างแน่นอน และในทางตรงกันข้าม หากเมียนมาปิดประเทศจริง และกองทัพควบคุมทุกสิ่งในเมียนมาอย่างเบ็ดเสร็จ ถอยหลังประเทศไปสู่การเป็นฤาษีแห่งเอเชีย สายสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและพรรคจะทำให้ธุรกิจเวียดนามกลายเป็นผู้เล่นหลักที่ยังดำเนินธุรกิจต่อไปได้



กลุ่มที่ 3 กัมพูชาและฟิลิปปินส์

แม้เราจะเห็นท่าทีที่ตรงกันของผู้นำกัมพูชา ที่ต้องการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนนัดพิเศษในครั้งนี้ ถึงขนาดที่ จอมพล สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน ต้องเร่งกระบวนการและระยะเวลาในการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 2 เข้ามาก่อนกำหนดเพื่อเตรียมตัวไปร่วมการประชุม ในขณะประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตร์เต แห่งฟิลิปปินส์แสดงทีท่าว่าอาจจะไม่ไปเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ 

 

แต่สองเรื่องที่กลับเป็นลักษณะร่วมของสองประเทศนี้คือ ทั้งสองผู้นำต่างก็ถูกกล่าวหาในเวทีโลกในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้นการออกตัวแรงสนับสนุนเรียกร้องให้กองทัพเมียนมายุติการใช้ความรุนแรงกับประชาชนของตนก็คงพูดได้ แต่คงพูดได้ด้วยเสียงไม่ดังนัก เพราะอาจจะถูกตั้งคำถามขึ้นมาว่าออกมาเรียกร้องสิทธิมนุษยชนให้กับประเทศอื่นๆ แล้วประเทศตัวเองล่ะ

 

ส่วนอีกประเด็นที่เป็นลักษณะร่วมกันของสองประเทศนี้คือความสัมพันธ์กับจีน ถึงแม้จีนจะมีจุดยืนชัดเจนว่าในกรณีเมียนมา จีนให้การสนับสนุน 3 ประการ นั่นคือ 1) สนับสนุนให้ทุกฝ่ายในเมียนมาหารือเพื่อแก้ปัญหาความแตกต่างอย่างปรองดองภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและกฎหมาย 2) จีนสนับสนุนให้อาเซียนยึดมั่นในหลักการฉันทามติ และการไม่แทรกแซงกิจการภายใน และ 3) จีนสนับสนุนการประชุมสุดยอดอาเซียนนัดพิเศษ ร่วมกับจีนต้องการให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยง 3 ประการ นั่นคือ 1) หลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่จะนำไปสู่ความรุนแรงและการบาดเจ็บล้มตายของพลเรือน 2) หลีกเลี่ยงการแทรกแซงที่ไม่เหมาะสมโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และ 3) หลีกเลี่ยงกำลังภายนอกที่จะทำให้สถานการณ์เมียนมาย่ำแย่ลง เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว นั่นคือจีนต้องการบอกว่า นี่คือเรื่องภายในที่มหาอำนาจตะวันตกไม่ควรไปยุ่ง

 

และสำหรับผู้ติดตามสถานการณ์ในเมียนมาก็จะทราบว่า กองทัพเมียนมาไม่เคยไว้ใจจีน และต้องการลดอิทธิพลของจีนภายในประเทศอยู่ตลอดเวลา หากแต่กับประชาคมนานาชาติ และคนเมียนมาที่ต่อต้านกองทัพ พวกเขากลับมองว่าจีนให้การสนับสนุนกองทัพเมียนมา

 

ดังนั้นสำหรับกัมพูชาและฟิลิปปินส์ซึ่งมีความสัมพันธ์กับจีนในรูปแบบพิเศษที่ซับซ้อน ทำให้พวกเขาคงยังไม่สามารถแสดงจุดยืนได้ว่า ตกลงท่าทีของพวกเขาในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งนี้จะเป็นอย่างไรกันแน่ 

 

กลุ่มที่ 4 ประเทศไทย

ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไทยและประชาคมอาเซียนต้องเร่งดำเนินการ 4 เรื่อง นั่นคือ

 

1. สำคัญที่สุดและเร่งด่วนที่สุด คือ การให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะกับประชาชนเมียนมาที่หนีภัยความรุนแรงเข้ามาในบริเวณชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตามการรับผู้อพยพเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเปราะบางมาก เพราะหากให้องค์การระหว่างประเทศในระดับโลกเข้ามาบริหารจัดการ ไทยอาจจะไม่มีภาระมากนักในเรื่องงบประมาณ แต่นั่นเท่ากับว่าการบังคับใช้กฎหมายไทยในบริเวณที่เป็นค่ายผู้อพยพในประเทศไทยก็จะทำไม่ได้อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งบางครั้งอาจถูกตีความได้ว่า เราสูญเสียอำนาจอธิปไตยในบางระดับ ในทางตรงกันข้าม หากประเทศไทยเป็นตัวตั้งตัวตีออกหน้ารับผู้อพยพโดยไทยดำเนินการเองทั้งหมด ความเปราะบางด้านความมั่นคงในบริเวณชายแดนก็จะเกิดขึ้น เพราะกองทัพเมียนมาก็จะไม่พอใจประเทศไทย ต้องอย่าลืมว่าความสัมพันธ์ที่ดีของกองทัพที่อยู่คนละฝั่งของชายแดนมีความสำคัญมาก ทั้งต่อกองทัพเมียนมา และกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งต่างก็มีฐานที่มั่นกระจายตัวกันอยู่ตลอดแนวชายแดน และไทยจำเป็นต้องมีความสัมพันธ์อันดีด้วยโดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระยะยาวที่เราต้องรักษาเสถียรภาพและความสัมพันธ์ดังกล่าวไว้

 

สายสัมพันธ์ที่ผู้นำกองทัพทั้งในส่วนกลางและส่วนหน้าที่มีความสนิทสนมในระดับที่สามารถพูดคุย แลกเปลี่ยนข่าวสารด้านความมั่นคงระหว่างกันถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหรือความเข้าใจผิดในบริเวณชายแดน ซึ่งเกิดขึ้นได้ง่าย และเปราะบางมากยิ่งขึ้นหากพิจารณาถึงภัยคุกคามด้านความมั่นคงแบบองค์รวม (Comprehensive Security) เช่น ไทยต้องการปราบปรามกลุ่มผู้ลักลอบค้ายาเสพติดบริเวณชายแดน แต่อาจถูกกองทัพของอีกฝ่ายตีความเป็นการรุกราน หากมีการยิงและกระสุนไปตกในอีกฝั่งของชายแดน ดังนั้นการต่อสายชี้แจงข้อมูลและความสัมพันธ์อันดีของกองทัพที่อยู่คนละฝั่งของชายแดนจึงสำคัญมาก หากไม่มีกลไกเหล่านี้อุบัติเหตุเล็กๆ อาจขยายตัวกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ต้องใช้กองกำลังเข้าโจมตีซึ่งกันและกัน

 

อีกทั้งยังมีประเด็นเรื่องการค้าพลังงานระหว่างประเทศที่ไทยเราเองพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจำนวนมากจากเมียนมา ดังนั้นการกระทำอันใดที่เป็นการถนอมน้ำใจ รักษาความสัมพันธ์ในระยะยาวจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ดังนั้นหากประเทศไทยจะเปิดประเทศเป็นที่ลี้ภัย (Asylum) ให้กับกลุ่มคนที่กองทัพเมียนมามองว่าเป็นภัยคุกคามด้วยตนเองคงไม่ดีแน่

 

ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือ ใช้กลไกของอาเซียน ใช้มติของอาเซียนที่ผ่านการประชุมระดับสุดยอดผู้นำที่เป็นกลไกสูงสุดที่มีอำนาจตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาด ซึ่งไทยเราสมควรเข้าร่วม และผลักดันให้มีมติให้ใช้ประโยชน์จากกลไกของอาเซียนในการช่วยเหลือผู้อพยพเมียนมา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ไทยสามารถดำเนินการได้ และในขณะเดียวกันก็ให้ผู้นำกองทัพของไทยและเมียนมาซึ่งน่าจะสามารถติดต่อกันได้ชี้แจงว่าไทยต้องดำเนินการ เพราะนี่คือมติของอาเซียน และไทยเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน เราจึงต้องรับหน้าที่เช่นนั้นเช่นนี้ในภารกิจนี้

 

โดยกลไกสำคัญของอาเซียนที่ไทยสามารถผลักดันได้ทันทีคือ ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on Disaster Management (AHA Centre) หรือศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ ที่จะเป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมทรัพยากรจากทุกประเทศสมาชิกเพื่อช่วยเหลือคนเมียนมา โดยชุดปฏิบัติการที่จะลงไปในพื้นที่เพื่อสำรวจความต้องการและให้ความช่วยเหลือกับประชาชนเมียนมาคือ One ASEAN One Response ซึ่งสามารถส่งทีมลงพื้นที่ได้ทันทีภายใต้ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเป็นหนึ่งเดียวกันด้านการตอบโต้ภัยพิบัติทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรม

 

ในขณะที่อุปกรณ์ให้ความช่วยเหลือต่างๆ ก็ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้วตั้งแต่สมัยที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2019 นั่นคือ เต็นท์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ห้องน้ำ และระบบสาธารณสุขเคลื่อนที่ ตลอดจนเครื่องมือช่วยเหลือต่างๆ ที่เราเก็บเอาไว้ในคลังสินค้าขนาดใหญ่ที่จังหวัดชัยนาท ภายใต้โครงการระบบโลจิสติกส์ฉุกเฉินสำหรับใช้ในกรณีเกิดภัยพิบัติของอาเซียน (Disaster Emergency Logistics System for ASEAN: DELSA) รวมทั้งให้การสนับสนุนด้านบุคลากรทางการแพทย์จากศูนย์การแพทย์ทหารอาเซียน (ASEAN Centre of Military Medicine: ACMM) ซึ่งมีกรมการแพทย์ทหารบกของไทยเป็นกำลังสำคัญ เพราะต้องอย่าลืมว่าขณะนี้ทั้งไทยและเมียนมาก็ยังอยู่ในภาวะเปราะบางต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือและคัดกรองผู้ป่วยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

 

ฝ่ายไทยเราเองก็ต้องให้กองทัพภาคที่ 1 และกองทัพภาคที่ 3 ร่วมกับหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาเข้ามาทำหน้าที่ในลักษณะผู้ช่วยกับกลไกของอาเซียนนี้ โดยต้องคำนึงถึงมิติในด้านรัฐศาสตร์มากกว่ามิติด้านนิติศาสตร์ เน้นการช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

 

2. ร่วมกันผลักดันกับประเทศสมาชิกให้ดำเนินการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแบบเน้นเป้าหมาย หรือ Targeted Sanction ไม่ใช่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในลักษณะของการลงโทษแบบเหมารวมที่จะทำให้คนเมียนมาเดือดร้อน แต่เน้นเป้าหมายในการหยุดและตัดท่อน้ำเลี้ยง เส้นทางการเข้าถึงและการใช้เงินของผู้นำกองทัพของเมียนมา

 

ซึ่งแน่นอนว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจของเหล่าผู้นำกองทัพเมียนมาและเครือข่าย รวมทั้งเงินฝากมีอยู่ในทั่วโลก (สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป รวมทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ดำเนินการยุติเส้นทางทางการเงินไปแล้ว) และในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในไทยและสิงคโปร์ ดังนั้นการผลักดันเรื่องนี้ในเวทีอาเซียนเพื่อให้ได้มติจากส่วนรวมแล้วจึงให้แต่ละสมาชิกไปดำเนินการ จะเกิดขึ้นได้คงต้องผ่านการดำเนินการในทางลับ คุยกันนอกรอบ ไม่เป็นทางการระหว่าง ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย 

 

โดยในที่สุดอินโดนีเซียในฐานะประเทศใหญ่ และไม่ได้มีพรมแดนติดกับเมียนมา ไม่มีความสุ่มเสี่ยงที่กองทัพจะผิดใจซึ่งกันและกันต้องเป็นผู้เสนอเรื่องนี้สู่ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน โดยไทยคงต้องล็อบบี้กับสิงคโปร์ว่าถ้าจะมีมติแบบนี้ สิงคโปร์จะดำเนินการหรือไม่ เพราะการฝากเงินในสิงคโปร์ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเงินของโลก มีประเด็นในเรื่องของการปกปิดข้อมูลผู้ฝากเงิน และการยับยั้งการเข้าถึงบัญชีของผู้ฝากเงินในประเทศสิงคโปร์ก็มีกฎระเบียบที่ซับซ้อน ดังนั้นถ้าต้องการเห็นสันติภาพและการเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในระดับภูมิภาคดังที่ผู้นำระดับสูงของสิงคโปร์ออกมาเรียกร้อง การตัดท่อเงินของผู้นำกองทัพเมียนมาต้องได้รับความร่วมมือจากสิงคโปร์ด้วย และถ้าขนาดสิงคโปร์ยังเอาด้วย ไทยเราเองก็พร้อมที่จะทำตาม เพราะนี่คือมติของอาเซียน

 

3. ไทยต้องร่วมผลักดันผู้นำอาเซียนออกแถลงการณ์ร่วมกัน ไปยังประเทศคู่เจรจาหลักของอาเซียน (Dialogue Partners) ทั้ง 10 ประเทศ อันได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ให้ยุติการขายอาวุธ และการให้ความร่วมมือทางการทหารกับเมียนมา รวมทั้งต้องไม่แทรกแซงกิจการภายในของเมียนมา แน่นอนว่าเราต้องการพุ่งเป้าไปที่ 4 ประเทศสำคัญ นั่นคือ รัสเซีย จีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา แต่การชี้นิ้วไปแค่ที่ 4 ประเทศนี้ก็คงไม่เหมาะ ดังนั้นต้องแสดงท่าทีต่อทุกประเทศคู่เจรจาอย่างเท่าเทียมกัน อาเซียนต้องแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า เราไม่ต้องการการแทรกแซงจากมหาอำนาจภายนอก ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และในขณะเดียวกันอาเซียนที่มีพรมแดนติดกับเมียนมาก็ต้องควบคุมไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายอาวุธจากประเทศของตนเข้าไปในเมียนมาด้วย

 

4. ไทยต้องมีมาตรการที่ชัดเจนว่าการค้าขายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการค้าชายแดนเพื่อส่งสินค้าอุปโภคบริโภคเข้าไปในเมียนมายังต้องทำได้อย่างปกติ เพราะหากสินค้าเหล่านี้ไม่สามารถส่งเข้าไปค้าขายในเมียนมาได้ คนที่เดือดร้อนไม่ใช่ผู้นำกองทัพเมียนมา หากแต่เป็นประชาชน

 

แน่นอนถึงแม้ปัจจุบันราคาสินค้าบางอย่างในเมียนมาจะปรับสูงขึ้นแล้ว เช่น น้ำมันพืชราคาเพิ่มขึ้นกว่า 20% แต่ผู้ผลิตและผู้ค้าชาวไทยต้องเร่งส่งสินค้าเหล่านี้ และเจ้าหน้าที่ของรัฐในฝ่ายไทยคงต้องดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้สินค้าเหล่านี้ออกไปถึงมือประชาชนเมียนมาได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด (หยุดการเก็บผลประโยชน์เข้าตัวในเวลาที่ประชาชนเมียนมาเขาเดือดร้อนเช่นนี้ อย่าให้ต้นทุนสินค้ามันสูงขึ้นไปอีกเลย) เราต้องการให้ประชาชนเมียนมาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ไม่เดือดร้อนจนเกินไป เข้าถึงสินค้าและบริการได้ เพราะในเมียนมานอกจากวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำอยู่แล้ว วิกฤตทางการเมืองยิ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกอย่างเป็นอัมพาต หากประชาชนไม่สามารถเข้าถึงสินค้าในการดำรงชีพได้ นั่นเท่ากับเรายิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ในเมียนมา

 

ภาพ: AFP

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising