×

สัปดาห์สำคัญก่อนครบรอบ 52 ปีอาเซียน จับตาไทยในฐานะประธานอาเซียน

01.08.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • 29 กรกฎาคมถึง 2 สิงหาคมนี้จะมีการประชุมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกำหนดทิศทางของประชาคมอาเซียนมากกว่า 50 การประชุมภายในสัปดาห์เดียว และทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร 
  • หนึ่งในไฮไลต์สำคัญที่จะเกิดขึ้นในวาระครบรอบ 52 ปีอาเซียนคือการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 52 ซึ่งนอกจากจะเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีที่มีมาตั้งแต่แรกตั้งสมาคมอาเซียนในปี 1967 แล้ว การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้รัฐมนตรีของทั้ง 10 ประเทศได้พบปะพูดคุย แลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกันมากที่สุด 
  • อีกหนึ่งบุคคลที่ทั่วโลกจับตาดูนั่นคือ Secretary of State แห่งสหรัฐฯ ไมค์ ปอมเปโอ ซึ่งมีส่วนโดยตรงกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งจะมาปรากฏตัวในวาระสำคัญนี้ด้วย

อีก 1 สัปดาห์เราจะได้ร่วมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 52 ปีอาเซียนในวันที่ 8 สิงหาคมนี้ (1967-2019) และสัปดาห์นี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งสัปดาห์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งกับประชาคมอาเซียน เชื่อหรือไม่ครับว่าระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคมถึง 2 สิงหาคมนี้จะมีการประชุมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกำหนดทิศทางของประชาคมอาเซียนมากกว่า 50 การประชุมภายในสัปดาห์เดียว และทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร 

 

การประชุมสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นหลายรายการ เช่น การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 52 (ASEAN Foreign Ministers’ Meeting – AMM), การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (Post Ministerial Conferences – PCMs) การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน +3 ครั้งที่ 20 (APT FMM), การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 9 (EAS FMM) และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 26 (ASEAN Regional Forum – ARF) 

 

และยังมีการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอีกหลายนัด หลายกรอบ ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ กรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น, การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของอาเซียน +3, East Asia Summit ฯลฯ โดยรวมๆ แล้วจะมีการประชุมและกิจกรรมสำคัญๆ เกิดขึ้นรวม 45 รายการ โดยการประชุมและกิจกรรมทั้งหมดจะเกิดขึ้นที่เซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

 

ในการประชุมครั้งนี้จะมีบุคคลสำคัญระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส (ระดับปลัดกระทรวงและ/หรืออธิบดี) ของนานาประเทศเดินทางเข้ามาประชุมที่ประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย แคนาดา รัสเซีย สหภาพยุโรป นอร์เวย์ เกาหลีเหนือ ตุรกี ติมอร์-เลสเต

 

สำหรับตัวผมเอง ผมพิจารณาว่าการประชุมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องจับตามองและประเด็นที่สำคัญๆ ที่เราต้องพิจารณาคือ 1. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 52 (ASEAN Foreign Ministers’ Meeting – AMM) ซึ่งจะเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและสร้างความร่วมมือด้านการเมือง ความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นการประชุมเพื่อวางระเบียบวาระของการประชุมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในระหว่างกลไก 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียนในช่วงเวลาที่เหลืออีกครึ่งปีที่ไทยจะยังดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนและเป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียนในทุกมิติและทุกระดับ 

 

โดยนอกจากจะเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีที่มีมาตั้งแต่แรกตั้งสมาคมอาเซียนในปี 1967 แล้ว AMM ยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้รัฐมนตรีของทั้ง 10 ประเทศได้พบปะพูดคุย แลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกันมากที่สุด ในขณะที่การประชุมระดับรัฐมนตรีอื่นๆ ของอาเซียนอาจจะพบกันปีละครั้ง หรือบางการประชุมอาจจะปีเว้นปี แต่สำหรับ AMM รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสมาชิกอาเซียนจะพบกันอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง ทั้งในรูปแบบทางการ ไม่เป็นทางการ และแบบไซด์ไลน์ที่ไปเปิดเวทีประชุมกันระหว่างการประชุมระดับนานาชาติอื่น

 

2. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (Post Ministerial Conferences – PCMs) การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน +3 ครั้งที่ 20 (APT FMM ประกอบไปด้วยอาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเซียนกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 9 (EAS FMM ประกอบไปด้วยอาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ และรัสเซีย หรือ ASEAN+8) 

 

การประชุมชุดนี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะภายหลังจากที่ประชาคมอาเซียนได้ประกาศแนวคิดอินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on Indo-Pacific) จากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ผ่านมา และได้นำเสนออีกครั้ง ณ การประชุมกลุ่ม G20 ที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกมารวมตัวกัน นั่นทำให้การกำหนดวาระการประชุมที่จะมีการพูดคุยกันระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งอาเซียน +3 และ +8 มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการกำหนดว่าในการประชุมสุดยอดผู้นำช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ไทยจะได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ จะมีผู้นำจากประเทศมหาอำนาจใดบ้างที่จะมาเข้าร่วมประชุมที่ประเทศไทย และจะมีการพบปะพูดคุยกันในเรื่องอะไรบ้าง

 

โดยประเด็นสำคัญที่คงต้องดำเนินการต่อเนื่องจากสาระสำคัญของมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิกประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่

 

  • ความร่วมมือภาคพื้นมหาสมุทร (Maritime Cooperation) เพื่อเป็นการยืนยันจุดยืนของอาเซียนในเรื่องการกำหนดให้มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างและปลอดภัยสำหรับทุกฝ่ายที่จะเข้ามาแสวงหาประโยชน์ร่วมกัน โดยการเคารพการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UN Convention on the Law of the Sea – UNCLOS) และปฏิบัติตามประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea – COC) ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการปรามและป้องกันการเกิดปัญหาข้อพิพาทกับมหาอำนาจที่ขยายอิทธิพลในพื้นที่ โดยอาเซียนเสนอว่าหากใครจะเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนในมิติการเมือง ความมั่นคงนี้ต้องเข้ามาผ่านช่องทางที่อาเซียนมีสถาปัตยกรรมอยู่แล้ว นั่นคือการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ADMM+ ซึ่งมีทั้ง จีน ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐฯ และรัสเซียอยู่ในกรอบนี้) และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ ARF ที่จะกล่าวถึงต่อไป
  • เชื่อมโยงความเชื่อมโยงต่างๆ (Connecting the Connectivity) เนื่องจากมหาอำนาจไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ อินเดีย ฯลฯ ที่ต้องการเชื่อมโยงการค้าการลงทุนในพื้นที่ต่างก็มีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องการเชื่อมโยงภูมิภาค และเมื่ออาเซียนตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลาง อาเซียนยินดีที่จะเชื่อมกับทุกฝ่ายบนเงื่อนไขที่ว่าความเชื่อมโยงทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเส้นทางการเดินเรือ สายการบิน ถนน ราง ท่อก๊าซ ระบบโทรคมนาคม และกฎระเบียบ สิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าต่างๆ อาเซียนยืนยันที่จะให้ทุกฝ่ายต้องสร้างโครงการที่สอดคล้องกับแผนแม่บทความเชื่อมโยงอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity – MPAC) 
  • อาเซียนเน้นย้ำเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปี 2030 (Sustainable Development Goals – SDG 2030) ของสหประชาชาติ
  • ความร่วมมือในมิติอื่นๆ ซึ่งเน้นย้ำอย่างยิ่งถึง RCEP ดังนั้นการประชุมกับประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ในสัปดาห์นี้ในระดับรัฐมนตรีจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

 

3. การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 26 (ASEAN Regional Forum – ARF) คือหนึ่งในแพลตฟอร์มทางด้านการเมือง ความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดแพลตฟอร์มหนึ่งของโลกที่ไทยเป็นผู้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 1994 โดยปัจจุบันมีสมาชิกในกรอบ ARF ถึง 26 ประเทศกับอีก 1 องค์กร อันได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ร่วมกับประเทศคู่เจรจาอีก 10 ฝ่าย อันได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ รัสเซีย แคนาดา และสหภาพยุโรป และประเทศผู้สังเกตการณ์ของอาเซียน นั่นคือปาปัวนิวกินี ร่วมกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ได้แก่ บังกลาเทศ ศรีลังกา ปากีสถาน (เป็นหนึ่งในไม่กี่เวทีที่ทั้งอินเดียและปากีสถานอยู่ด้วยกันได้) มองโกเลีย ติมอร์-เลสเต ซึ่งเป็นประเทศน้องใหม่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอีกหนึ่งประเทศที่ทั่วโลกจับตานั่นคือเกาหลีเหนือ ซึ่งสถาปัตยกรรมของ ARF ที่ไทยออกแบบไว้มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง นั่นคือเวทีนี้จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันอย่างที่สุด โดยการประชุมแบบปิดห้องคุย อนุญาตเฉพาะรัฐมนตรีและผู้ติดตามเพียง 1 คนเท่านั้น การประชุมสามารถพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคง ทั้ง Traditional and Non-Traditional Securities คุยกันเรื่องการต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ การบริหารจัดการเมื่อเกิดภัยพิบัติ การเจรจาเพื่อลดและไม่ขยายอาวุธ การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางด้านความมั่นคง ฯลฯ 

 

โดย ARF จะเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเจรจาพูดคุยแลกเปลี่ยนได้อย่างเต็มที่ เพราะจะไม่มีการจดบันทึกการประชุม แต่จะมีเพียงแถลงการณ์ของประธานในที่ประชุมเท่านั้น โดยไม่มีการบอกว่าใครพูดว่าอะไร ตกลงอะไรกับใคร และนั่นทำให้เวทีนี้กลายเป็นเวทีที่มีการแลกเปลี่ยนได้อย่างเต็มที่ เปิดอกคุยและสบายใจด้วยกันทุกฝ่าย ซึ่งการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจเช่นนี้มีความสำคัญมากต่อสิ่งที่เรียกว่าการทูตเชิงป้องกัน

 

4. สิ่งที่ต้องจับตามองอีกประเด็นคือเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือได้ทำการทดลองยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้อีกครั้งเพื่อเรียกร้องให้เกาหลีใต้ยุติการสั่งซื้อเครื่องบินรบแบบล่องหน F-35 Stealth Jet Fighter และซ้อมรบร่วมกับสหรัฐฯ ซึ่งแน่นอนว่าอีกประเทศหนึ่งซึ่งกำลังไม่พอใจกับประเด็นเกาหลีเหนือคือญี่ปุ่น ที่อยู่ในพิสัยของจรวด Rodong Missile ที่รัศมีทำการครอบคลุมประเทศญี่ปุ่น และเพิ่งจะออกมาตรการทางการค้าห้ามส่งออกวัตถุดิบตั้งต้น 3 รายการไปยังเกาหลีใต้ โดยอ้างเรื่องการรั่วไหลของวัตถุดิบนี้ไปสู่เกาหลีเหนือ โดยญี่ปุ่นระงับการอนุญาตส่งออกแบบอัตโนมัติ (Automatic Licensing) การส่งออกสินค้าตั้งต้นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูงถึง 3 รายการสินค้า อันได้แก่ Photoresists ซึ่งเป็นสารสำคัญในการถ่ายแผนภาพร่างของวงจรต่างๆ ลงบนชิปคอมพิวเตอร์, Hydrogen Fluoride ซึ่งเป็นก๊าซสำคัญที่ต้องใช้ในกระบวนการผลิตชิปคอมพิวเตอร์ และ Fluorinated Polyimides ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ซึ่งถ้าเกาหลีจะนำเข้าสินค้าดังกล่าวที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าตลาดที่ผลิตสินค้าเหล่านี้มากกว่า 90% ของสินค้าที่ขายในตลาดโลกต้องขออนุญาตจากทางการญี่ปุ่นทุกครั้ง และใช้เวลาในการพิจารณาอนุญาตให้ส่งออกได้ยาวนานถึง 90 วัน ซึ่งการไม่ขายวัตถุดิบตั้งต้นนี้จะทำให้ผู้ผลิตอย่างเกาหลีและผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ทั่วโลกต้องเดือดร้อนจากการขาดแคลนวัตถุดิบตั้งต้นและวัตถุดิบขั้นกลาง และมีแนวโน้มว่าญี่ปุ่นอาจจะไม่เข้าร่วมการประชุม ARF ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยด้วย 

 

ดังนั้นนี่จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของไทยในฐานะประธานการประชุมในการสร้างบรรยากาศที่ดีและการโน้มน้าวให้ทุกฝ่ายเข้าร่วมการประชุมที่สำคัญในรอบนี้

 

5. อีกหนึ่งบุคคลที่ทั่วโลกจับตาดูนั่นคือ Secretary of State แห่งสหรัฐฯ ไมค์ ปอมเปโอ ซึ่งมีส่วนโดยตรงกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันมีรูปแบบไปในลักษณะคลั่งชาติ (Nationalism เห็นว่าชาติของตนดีเด่นเหนือประเทศอื่นๆ) การเกลียดกลัวและใช้ความรุนแรงกับต่างชาติ (Xenophobia, Radicalism) และนำไปสู่นโยบายการค้าแบบปกป้องคุ้มกัน (Protectionism) ซึ่งนำไปสู่ภาวะสงครามการค้าในที่สุด และเพิ่งจะครบรอบ 1 ปีการใช้มาตรการสงครามทางการค้ากับจีนไปเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา 

 

โดย ไมค์ ปอมเปโอ จะเดินทางถึงไทยในวันที่ 1 สิงหาคม จากนั้นจะเป็นประธานร่วมในการประชุมระดับรัฐมนตรีของกรอบอนุภูมิภาค Lower Mekong Initiative จากนั้นจะไปกล่าวปาฐกถาที่สยามสมาคมฯ ในวันที่ 2 สิงหาคมในหัวข้อ America’s Economic Engagement in the Asia Pacific Region ก่อนที่จะเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 9 (EAS FMM) และปิดท้ายด้วยการประชุมระดับทวิภาคีสองฝ่ายกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ซึ่งประเด็นที่เราต้องจับตาก็คือท่าทีของสหรัฐฯ ต่อไทยและอาเซียน ท่ามกลางสงครามการค้าและการแข่งกันขยายอิทธิพลในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

 

6. การประชุมครั้งนี้ก็ยังคงเป็นการประชุมภายใต้แนวคิด Green Meeting เช่นเดิมนะครับ ซึ่งการประชุมต้องประกอบไปด้วย

 

  • Green Venue ต้องเลือกสถานที่จัดประชุมที่มีมาตรฐานสูงด้านสิ่งแวดล้อมและได้รับการรับรอง โดยเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ ก็เป็นอีกหนึ่งโรงแรมและศูนย์ประชุมของไทยที่ได้รับมาตรฐาน ISO 20121: Event Sustainability Management System และเช่นเดียวกับสถานที่จัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่แล้วครับ นั่นคืออยู่ใกล้กับระบบขนส่งมวลชน เจ้าหน้าที่ที่ต้องเดินทางไปปฏิบัติงาน นักข่าว และผู้เข้าร่วมการประชุมน่าจะสามารถเดินทางได้สะดวก
  • Green Catering เที่ยวนี้ใช้อาหารที่มีวัตถุดิบในประเทศไทยทั้งหมด ผักส่วนใหญ่ใช้จากวิสาหกิจชุมชน ปลอดสาร
  • Green Arrangement ไม่มีโรงแรมไหนมีเก้าอี้เป็นพันๆ ตัวหรอกครับ ปกติต้องบรรทุกด้วยรถบรรทุกหลายเที่ยว แต่รอบนี้ใช้เก้าอี้กระดาษที่เยื่อกระดาษมาจากกระดาษใช้แล้ว รับน้ำหนักได้ 150 กิโลกรัม ที่สำคัญมันพับแล้วแบนและเบา ทำให้ประหยัดพลังงานและจำนวนเที่ยวรถในการขนส่ง ใช้เสร็จก็พับเก็บเพื่อใช้ต่อในการประชุมคราวหน้า และเมื่อจบงานประชุม เก้าอี้พวกนี้จะถูกนำไปบริจาค เช่นเดียวกับอุปกรณ์ตกแต่งต่างๆ ที่จริงๆ เป็นกล่องเก็บเอกสารครับ ที่สำคัญไม่ต้องใช้น้ำหรือผงซักฟอกจำนวนมหาศาลในการซักผ้าสำหรับคลุมเก้าอี้ด้วยครับ โดยทาง SCG เป็นผู้สนับสนุนอุปกรณ์เหล่านี้ และเป็นผู้เผยแพร่แนวคิดสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy ด้วยอีกทางหนึ่ง
  • Green Document เที่ยวนี้เริ่มต้นการเชิญและทำหนังสือต่างๆ เป็นไฟล์ดิจิทัลครับ
  • Carbon Footprint กิจกรรมท้ังหมดจดบันทึกครับว่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากน้อยแค่ไหน จากนั้นเมื่อเสร็จการประชุมจะมีการปลูกต้นไม้ทดแทน

 

 

7. นอกจากการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศที่กระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพแล้ว ในสัปดาห์เดียวกัน ภาคการศึกษาก็จัดการประชุมสำคัญแบบควบคู่กันไปด้วยครับ นั่นคือที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองก็มีการจัดงาน the 8th Chula ASEAN Week และ the 5th Parliamentary ASEAN Community Forum ภายใต้หัวข้อ Is ASEAN Really Sustainable in a Changing Global Future? ด้วยครับ 

 

โดยงานประชุมวิชาการ ปาฐกถา และสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคมถึง 2 สิงหาคมเช่นเดียวกัน งานนี้ร่วมจัดโดยศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักเลขาธิการรัฐสภา, สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน), สถาบันพระปกเกล้า และกระทรวงการต่างประเทศ 

 

การประชุมวิชาการและปาฐกถาที่น่าสนใจมากมายจะเกิดขึ้น ได้แก่ ในวันที่ 30 กรกฎาคม จะมีปาฐกถาหัวข้อ Thailand’s Perspective on Global Challenges and the Evolving Regional Architecture โดย อรรถยุทธ์ ศรีสมุทร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศและอดีตอธิบดีกรมอาเซียน ต่อด้วยปาฐกถาหัวข้อ ASEAN in a Changing Global Future โดย ศาสตราจารย์ฟุกุนาริ คิมูระ แห่งมหาวิทยาลัยเคโอ และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่ง Economic Research, Institute for ASEAN and East Asia (ERIA) ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองของประชาคมอาเซียน วันที่ 31 กรกฎาคม เปิดภาคเช้าโดยการปาฐกถาหัวข้อ Challenges for Thailand as ASEAN Chair for 2019 โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จากนั้นจะเป็นวงเสวนาเรื่องสำคัญ ASEAN in between China’s BRI and the Indo-Pacific ซึ่งจะนำการเสวนาโดย ศาสตราจารย์อมิตาฟ อาชาเรีย นักรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่ง American University, Washington DC ศาสตราจารย์ที่เข้าใจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียนดีที่สุดคนหนึ่งของสหรัฐฯ ตั้งวงคุยเรื่องอ่าวเบงกอล โอกาสการค้าและการลงทุนของไทย โดยทีมงานจากศูนย์อินเดียศึกษา ศูนย์เอเชียใต้ศึกษา และศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อด้วยปาฐกถาพิเศษหัวข้อ Advancing Political Partnership for Sustainable Community โดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ในช่วงเช้าของวันที่ 1 สิงหาคม และช่วงบ่ายในหัวข้อ Thailand ‘s Legacy and Ways Forward for AIPA โดย อิสรา สุนทรวัฒน์ เลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) ซึ่งนอกจากคำปราศรัยสำคัญๆ เหล่านี้แล้ว เรายังมีงานเสวนาอีกมากมายหลากหลายหัวข้อ เช่น Decoding Migration in ASEAN+3 and Policy Implications, Smart Cities: the Future of ASEAN Cities, E-Commerce in WTO and ASEAN, ASEAN’s Future Sustainability: Business Sector’s Contribution (รายละเอียดเพิ่มเติม www.asean.chula.ac.th/wp-content/uploads/2019/07/260719_Program-ASEAN-Week-8_ENG.pdf) โดยงานนี้ฟรีตลอดงานนะครับ บริการอาหารกลางวันด้วย ท่านผู้อ่านที่สนใจสามารถเข้าร่วมงานสัปดาห์จุฬาฯ-อาเซียนได้ที่ชั้น 7 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (goo.gl/maps/eQC7cBFMtjBVAQni9

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising