×

เปิดประชุมผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลีย จับตาประเด็นร้อน ‘จีน-เมียนมา’

04.03.2024
  • LOADING...
อาเซียน-ออสเตรเลีย

การประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปีที่ออสเตรเลียกลายเป็นหุ้นส่วนอย่างเป็นทางการรายแรกของอาเซียน เปิดฉากขึ้นในวันนี้ (4 มีนาคม) ที่นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย โดยมีนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เดินทางไปร่วมการประชุม พร้อมกับผู้นำชาติอาเซียนอีก 8 ประเทศ ยกเว้นเมียนมาที่ยังไม่ได้รับเชิญ เนื่องจากความล้มเหลวในการปฏิบัติตามแผนฉันทมติ 5 ประการ เพื่อยับยั้งความรุนแรงในประเทศ

 

โดยสถานการณ์ในเมียนมาที่กำลังทวีความตึงเครียดจากการสู้รบระหว่างกองทัพรัฐบาลทหารกับกองกำลังชาติพันธุ์ เชื่อว่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นหารือในเวทีประชุมครั้งนี้ รวมถึงประเด็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนและชาติอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ บรูไน มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่า ที่ประชุมอาจแสดงท่าที ‘ประณาม’ การกระทำที่เป็น ‘ภัยคุกคามหรือการใช้กำลัง’ เพื่อยุติข้อพิพาท ซึ่งหมายถึงจุดยืนที่แข็งกร้าวของรัฐบาลปักกิ่ง

 

“เรามุ่งมั่นเพื่อภูมิภาคที่เคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน เรามุ่งมั่นเพื่อภูมิภาคที่ความแตกต่างได้รับการจัดการผ่านการพูดคุยด้วยความเคารพ ไม่ใช่การคุกคามหรือการใช้กำลัง” ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียน-ออสเตรเลียระบุ

 

เพนนี หว่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย กล่าวในการเปิดประชุมโดยชี้ว่า “ทุกประเทศในภูมิภาคมีความรับผิดชอบในการสร้างภูมิภาคที่เราต้องการจะแบ่งปัน: ความสงบสุข ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรือง

 

“นี่เป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าที่เคย เมื่อคุณลักษณะของภูมิภาคนี้อยู่ภายใต้ความท้าทาย เราเผชิญกับการกระทำที่สร้างความไม่มั่นคง ยั่วยุ และบีบบังคับ รวมถึงพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยในทะเลและทางอากาศ รวมทั้งการใช้กำลังทหารในบริเวณที่เป็นข้อพิพาท”

 

นอกจากนี้ในระหว่างการประชุมตลอด 3 วัน (4-6 มีนาคม) ที่ประชุมจะมุ่งเน้นไปที่การหารือในประเด็นสำคัญอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือทางทะเล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือพลังงานสะอาด

 

ทั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียยังประกาศต่อที่ประชุมว่า ออสเตรเลียจะสนับสนุนเงินจำนวน 262.5 ล้านดอลลาร์ให้กับโครงการพัฒนาและความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแบ่งเป็น 222.5 ล้านดอลลาร์สำหรับโครงการด้านความมั่นคงทางทะเล การต่อสู้อาชญากรรมข้ามชาติ และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศผ่านความร่วมมือแม่น้ำโขง-ออสเตรเลียตลอดระยะเวลา 5 ปี

 

นอกจากนี้จะสนับสนุนเงิน 41.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 1.5  พันล้านบาท ให้แก่ประเทศอาเซียน เพื่อขยายความร่วมมือทางทะเลในภูมิภาค ผ่านการพัฒนาทักษะ การฝึกอบรม และการแบ่งปันเทคโนโลยีตลอดระยะเวลา 4 ปี แต่ไม่ได้เปิดเผยชัดเจนว่าจะมอบให้แก่ประเทศใดบ้าง แต่ได้รับการตอบรับที่ดีจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ที่แสดงความยินดีต่อการกำหนดเขตแดนทางทะเลในน่านน้ำของตน

 

วิกฤตเมียนมาท้าทายความน่าเชื่อถืออาเซียน

 

เฮือง เล ทู รองผู้อำนวยการโครงการเอเชียของ International Crisis Group ซึ่งเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ กล่าวถึงประเด็นสถานการณ์ในเมียนมา โดยตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของอาเซียน และชี้ว่า วิกฤตมนุษยธรรมในเมียนมานั้นท้าทายความน่าเชื่อถือของอาเซียนในฐานะองค์กรระหว่างประเทศ

 

“มันทำให้เกิดคำถามถึงการมีอยู่ของอาเซียนตั้งแต่แรก เหตุใดรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจึงมารวมตัวกัน และอะไรคือจุดประสงค์ของสถาบันระหว่างรัฐบาลแห่งนี้ หากไม่สามารถดำเนินการกับวิกฤติภายในที่จะส่งผลกระทบต่อองค์กรของตนเองและภูมิภาคได้”

 

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประท้วงราว 200 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมาพลัดถิ่น พากันไปชุมนุมที่บริเวณด้านนอกสถานที่จัดการประชุมในช่วงเช้าวันนี้ เรียกร้องให้มีการฟื้นฟูประชาธิปไตยในเมียนมา และขอให้อาเซียนไม่ข้องเกี่ยวกับผู้นำกองทัพเมียนมา

 

ภาพ: Jaimi Joy / Reuters

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising