การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 46 กำลังจะจัดขึ้น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ของมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 26-27 พฤษภาคม ภายใต้แนวคิด ‘การมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงและยั่งยืน’ (Inclusivity and Sustainability) ที่เน้นย้ำการส่งเสริมสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความยืดหยุ่นในภูมิภาค โดยปีนี้ถือเป็นการประชุมที่สำคัญ ท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทายระดับโลกต่างๆ
กลุ่มอาเซียน (ASEAN หรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations) เป็นองค์การทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1967 โดยสมาชิกผู้ก่อตั้ง ได้แก่ ไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ร่วมลงนามในปฏิญญาอาเซียนที่กรุงเทพฯ
ปัจจุบันอาเซียนมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย, สปป.ลาว, เมียนมา, กัมพูชา, บรูไน, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, เวียดนาม, สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย มีประชากรรวมกัน 695 ล้านคน (ข้อมูล ณ ปี 2024 ) หรือคิดเป็น 8.5% ของประชากรโลก และมีตัวเลข GDP รวมกันในปี 2024 สูงถึง 3.8 ล้านล้านดอลลาร์
โดยเลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบันคือ ดร.เกา กิม ฮวน (Kao Kim Hourn) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ขณะที่ประธานอาเซียน ประจำปี 2025 คือมาเลเซีย
สำหรับไทย อาเซียนถือเป็นเสาหลักที่สำคัญในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศ และมีบทบาทในการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศสมาชิก รักษาสันติภาพและเสถียรภาพ ส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน รวมทั้งแก้ไขปัญหาเร่งด่วนและความท้าทายต่างๆ ร่วมกัน
โดยในด้านเศรษฐกิจ อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งและเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึงกว่า 3.9 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ ปี 2024)
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย
อ้างอิง: