ยุคนี้แล้วคงไม่ต้องมานั่งอธิบายว่า Fintech คืออะไร เพราะทุกคนคงคุ้นเคยกับการโอน ถอน จ่ายเงินผ่านมือถือ นั่นแหละคือ Fintech และหากถามว่ามันสำคัญขนาดไหน ถ้าประเด็นนี้ถูกถามเมื่อหลายปีก่อนตอบไปก็คงเห็นภาพไม่ชัดนัก แต่พอผลกระทบจากการระบาดใหญ่เร่งพฤติกรรมของคนให้เข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น ผู้คนก็เข้าใจถึงความจำเป็นในการเข้าถึงบริการทางการเงินดิจิทัลแทบจะทันที ทำให้ในประเทศไทยมีผู้ให้บริการ Fintech เกิดขึ้นมากมาย
ถ้าไม่นับผู้เล่นรายใหญ่อย่างสถาบันการเงินของไทย จำนวนสตาร์ทอัพฟินเทคในประเทศไทยน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 100 ราย แต่มีเพียงรายเดียวที่เป็นฟินเทคสัญชาติไทยที่มีธุรกิจครอบคลุม 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย เมียนมา กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม นั่นก็คือ ‘แอสเซนด์ มันนี่’ ล่าสุดยังขึ้นแท่นเป็นฟินเทคยูนิคอร์นรายแรกของไทยอีกด้วย
‘แอสเซนด์ มันนี่’ คือใคร และให้บริการอะไรนอกเหนือจาก ‘ทรูมันนี่’ ที่คนไทยคุ้นเคย
ต้องเล่าก่อนว่า จุดเริ่มต้นของ แอสเซนด์ มันนี่ ในปี 2013 มาจากปัญหาของคนในประเทศและภูมิภาคมากกว่า 70% ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ โดยเฉพาะในกัมพูชาและเมียนมา จึงเกิดบริการทรูมันนี่ขึ้นเพื่อตอบพันธกิจที่จะช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงนวัตกรรมที่ทันสมัยและช่วยให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น
‘ทรูมันนี่’ คือผลิตภัณฑ์ที่เปิดสู่ตลาดไทยครั้งแรกในฐานะบัตรเติมเกมและแอปอีวอลเล็ท ซึ่งต่อมาพัฒนาโดยขยายบริการเพื่อเพิ่มโอกาสในการใช้ที่เรียกว่า ‘Use Case’ จนกลายเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลเพย์เมนต์และบริการทางการเงินดิจิทัลชั้นนำที่มีบริการมากมายเพื่อใช้แทนเงินสดในการจ่ายค่าบริการต่างๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ไปจนถึงบริการกู้เงินดิจิทัล (Digital lending), บัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง KKP Start Saving และลงทุนกองทุนรวม Start Invest ผ่าน TrueMoney Wallet เป็นต้น
แต่นั่นยังไม่ใช่ทั้งหมดของบริการ เพราะยังมีธุรกิจอีกส่วนที่ ‘ทรูมันนี่’ ให้บริการในต่างประเทศ ที่น่าสนใจคือ บริการใน 5 ประเทศ (กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์)
ในต่างประเทศ ทรูมันนี่ เปิดตัวในต่างประเทศที่เมียนมาในปี 2014 โดยเข้าไปในรูปแบบของบริการแบบเครือข่ายตัวแทน หรือ Agent Network เพื่อให้บริการพื้นฐาน เช่น เติมเงินมือถือ จ่ายบิล และบริการโอนเงิน เนื่องจากในประเทศอย่าง เมียนมา กัมพูชา คนท้องถิ่นมีอัตราการเข้าถึงบริการทางการเงินต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน นอกจากนี้คนเหล่านี้มักนิยมใช้บริการทางการเงินในรูปแบบของการเดินไปหานายหน้าในท้องถิ่น หรือที่เรียกว่า ‘ฮุนดี’ ในเมียนมา ซึ่งก็คือการโอนส่งเงินระหว่างกันโดยอาศัยตัวบุคคลที่เป็นนายหน้าแบบเดียวกับระบบโพยก๊วนที่ไทยมีเมื่อหลายสิบปีก่อน ซึ่งการทำธุรกรรมทางการเงินแบบนี้อยู่บนความสนิทคุ้นเคยและไว้ใจ แต่ข้อเสียของการฝากเงินกับนายหน้าก็คือเสี่ยงต่อการถูกหลอกและไม่มีผู้ค้ำประกันหากเงินไม่ถึงผู้รับ
ด้วยข้อจำกัดและช่องว่างนี้เอง ทรูมันนี่จึงเข้าไปทำธุรกิจเป็นตัวกลาง รับสมัครนายหน้าเข้าระบบ ดูแลมาตรฐานการให้บริการ และวางระบบที่จะทำให้ผู้ใช้บริการไว้วางใจว่าเงินถึงที่หมาย โดยนำเครื่องจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ไปติดตั้งเพื่อให้นายหน้าให้บริการจ่ายเงิน โอนเงิน เติมเงิน ชำระบิลผ่านระบบของทรูมันนี่ ซึ่งนายหน้าเหล่านี้ส่วนมากจะเป็นผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่น อาทิ เจ้าของร้านชำ ร้านโชห่วย ร้านขายของเบ็ดเตล็ด ที่ต้องการรายได้เพิ่ม
โดยหลังเปิดตลาดในเมียนมาแล้ว ปีต่อมา ทรูมันนี่ ก็เปิดตลาด อินโดนีเซีย กัมพูชา เวียดนาม และฟิลิปปินส์ จนถึงตอนนี้เป็นระยะกว่า 7 ปี มี TrueMoney Agent อยู่ 88,000 รายทั่วภูมิภาค ซึ่งก็หมายถึงเจ้าของธุรกิจรายย่อยหลายหมื่นรายที่สามารถสร้างรายได้มากขึ้นผ่านการให้บริการทรูมันนี่
ตลาดเอเชียพร้อมสำหรับ Mobile Wallet แล้ว
จริงๆ แล้วในปี 2016 ทรูมันนี่เปิดตัวแอปพลิเคชัน TrueMoney Wallet ในกัมพูชา และเปิดตัวที่เวียดนามในปี 2018 บริษัทได้ ค่อยๆ สร้างพฤติกรรมการทำธุรกิจทางการเงินผ่านดิจิทัลอย่างช้าๆ ให้บริการเติมเงินมือถือ จ่ายบิล โอนเงิน และจ่ายตามร้านค้าผ่านอีวอลเล็ท โดยในบางประเทศบริษัทเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป เช่น ที่ฟิลิปปินส์ ทรูมันนี่ เริ่มมีระบบจ่ายเงินเดือนเข้าบัญชี ‘TrueMoney Payout’ หรือการพัฒนาระบบแอปพลิเคชัน ‘TrueMoney Wallet for Agent’ เพื่อช่วยให้นายหน้าทำงานได้สะดวก ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และเข้าถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ปฏิบัติการมากขึ้น และเปลี่ยนผ่านจากบริการ Offline มาเป็น Online
นอกจากนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ แอสเซนด์ มันนี่ ยังได้เปิดบริการ ‘TrueMoney Wallet for Foreigners’ เพื่อช่วยให้ชาวต่างชาติที่พำนักแบบมีถิ่นฐานในไทยสามารถเปิดใช้วอลเล็ทได้ โดยเจาะกลุ่มแรงงานเมียนมาและกัมพูชาให้สามารถใช้จ่ายแบบ Cashless และโอนเงินกลับไปบ้านเกิดได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ไม่ต้องผ่านนายหน้า กดโอนผ่านแอปได้ทันที ซึ่งแม้ปัจจุบันฝั่งที่รับเงินยังต้องไปรับกับนายหน้า แต่ในอนาคตหากประเทศปลายทางมีการพัฒนาอีวอลเล็ทจนพร้อมแล้วก็จะสามารถรับเงินเข้าบัญชีของผู้รับได้ทันที
อีกบริการที่น่าติดตามคือ การจับมือระหว่าง ‘ทรูมันนี่’ และ ‘Thunes’ ซึ่งเป็นผู้นำด้านการให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศที่ให้บริการกว่า 60 สกุลเงินใน 100 ประเทศทั่วโลก บริการดังกล่าวจะช่วยให้แรงงานเมียนมาที่ทำงานต่างแดนใน 100 ประเทศทั่วโลกภายใต้เครือข่ายของ Thunes สามารถโอนกลับบ้านได้ง่ายๆ โดยเงินจะถูกแปลงจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินจ๊าดของเมียนมาทันที และในเฟสถัดไปทรูมันนี่มีแผนขยายบริการดังกล่าวสำหรับแรงงานต่างด้าวประเทศอื่นในภูมิภาคนี้เช่นกัน
ก้าวต่อไปของ แอสเซนด์ มันนี่ ในฐานะผู้ให้บริการทางการเงินระดับภูมิภาค
แผนการดำเนินงานและกลยุทธ์ที่วางไว้ ทั้งการขับเคลื่อนการเข้าถึงบริการทางการเงินในระดับภูมิภาคต่อจากนี้ แอสเซนด์ มันนี่ ยังมุ่งมั่นพัฒนาเพื่อสร้างรากฐานให้ทุกคนสามารถสร้างความมั่นคงทางการเงินได้ เข้าถึงเครื่องมือทางการเงินต่างๆ ผ่านการเพิ่มจำนวนผู้ใช้ ทรูมันนี่ วอลเล็ท และขยายบริการทางการเงินดิจิทัลต่างๆ เช่น สินเชื่อดิจิทัล การลงทุนดิจิทัล และการโอนเงินข้ามประเทศ ให้ครอบคลุมในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะบริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพอิสระ ไม่มีเอกสารแสดงรายได้และไม่มี Credit Scoring ให้สามารถเข้าถึงและยื่นขอแหล่งเงินทุนในระบบด้วยเทคโนโลยีและข้อมูลทางเลือกไปต่อยอดการประกอบอาชีพได้
ตรงตามภารกิจของ ‘แอสเซนด์ มันนี่’ คือช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงนวัตกรรมที่ทันสมัยและช่วยให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น หรือการสร้าง Financial Inclusion ภายใต้คอนเซปต์ Fintech for Good นั่นเอง